นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นำทีม ส.ส. พรรคก้าวไกล ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อไม่ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันศุกร์ (14 ก.ค.)
“เนื่องจากท่านเองไม่ประสงค์จะใช้อำนาจนี้ ด้วยความกระอักกระอ่วนใจ หรือเหตุผลอื่นใดก็ตามที่จะโหวตคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี” นายชัยธวัช กล่าว
“ท่านอ้างว่าถ้าท่านตัดสินใจท่านต้องรับผิดชอบ ท่านก็เลยไม่ตัดสินใจ ถูกไหมครับ อันนี้ก็เป็นทางออกที่ดีที่สุด”
การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 นี้เกิดขึ้นหลังจากการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันพฤหัสบดี (13 ก.ค.) ที่มี ส.ว. 159 คนงดออกเสียง และอีก 43 คน ไม่ได้ลงมติ ซึ่งในทางปฏิบัติถือว่าไม่เห็นชอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ถูกเสนอชื่อแต่เพียงผู้เดียว โดยอ้างว่าไม่อยากยุ่งเกี่ยว แต่ก็ส่งผลให้นายพิธาได้รับเสียงสนับสนุนไม่ถึง 50% ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
- ผลโหวตนายกฯ ตรวจชื่อ 500 ส.ส. และ 250 ส.ว. ออกเสียงอย่างไร
แม้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี แต่มาตรา 272 ที่เสริมเข้ามาหลังจากการทำประชามติเมื่อปี 2559 กำหนดให้ในช่วง 5 ปีแรกตั้งแต่มีสภาผู้แทนราษฎรชุดแรก ให้วุฒิสภามาร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย โดยที่ผู้จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องได้รับเสียงเกิน 50% ของทั้งรัฐสภารวมกันไม่ว่าจะมีคนงดออกเสียงหรือไม่มาร่วมลงมติก็ตาม
“อย่างที่เรียนนะครับ เราพยายามทำตามความประสงค์ของวุฒิสภาจำนวนมาก” นายชัยธวัช กล่าว
“ในเมื่อท่านประสงค์แบบนี้ ท่านยินดีหรือไม่ที่จะช่วยกันนะครับ เอาอำนาจของท่านออกไป แล้วคืนอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีให้กับประชาชน ก็… แบบนี้ก็บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น เป็นทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่าย”
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เพราะจะต้องประชุมร่วมกันทั้ง 2 สภา แถมมีเงื่อนไขสุดโหด เพราะแม้ว่าจะได้รับเสียงเกิน 50% แล้ว ใน 50% นั้นจะต้องมีเสียง ส.ว. มากกว่า 1 ใน 3 และเสียงฝ่ายค้านอีก 20% ของฝ่ายค้านทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ทราบว่าใครจะเป็นฝ่ายค้าน ใครจะเป็นรัฐบาล
นายชัยธวัช เผยต่อสื่อมวลชนอีกว่า การแก้ไขมาตรา 272 นี้จะทำควบคู่ไปกับการโน้มน้าว ส.ว. ให้เลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ได้หยุดเจรจา แต่เป็นการหาช่องทางต่างๆ ที่จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ถ้าหากเกิดทางตัน