ผู้เชี่ยวชาญต่างกังวลว่า การที่รัฐบาลกัมพูชาเพิ่งจัดสรรงบประมาณ 1 ล้านดอลลาร์ให้แก่บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีจดจำใบหน้า อาจเปิดทางให้มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้กับบรรดานักสิทธิมนุษยชนและผู้เห็นต่างทางการเมือง
เมื่อเดือนมีนาคม นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน ลงนามในคำสั่งจัดสรรงบประมาณ 1 ล้านดอลลาร์ให้แก่บริษัท HSC Co. Ltd. บริษัทเทคโนโลยีของกัมพูชาที่มีมหาเศรษฐี สก ฮง เป็นเจ้าของ และเป็นบริษัทที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลกัมพูชา
คำสั่งดังกล่าวถือเป็นสิ่งบ่งชี้แรกว่ารัฐบาลกัมพูชาให้ความสนใจในเทคโนโลยีจดจำใบหน้า และทำให้เกิดความกังวลในหมู่นักวิชาการที่เชื่อว่าเทคโนโลยีนี้อาจถูกนำไปใช้ในการมุ่งเป้าติดตามผู้เห็นต่างทางการเมือง และกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบติดตามสอดส่องประชาชนเหมือนกับที่รัฐบาลจีนนำมาใช้
ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ รัฐบาลกัมพูชาพยายามสกัดไม่ให้พรรคฝ่ายค้านเข้าร่วมในการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งรวมถึงการสั่งปิดสื่ออิสระและคุมขังบรรดาผู้วิจารณ์รัฐบาล เช่น องค์กรแรงงานและนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม
เขียว โสเพียก โฆษกกระทรวงมหาดไทยของกัมพูชา กล่าวกับวีโอเอว่า “นี่เป็นเรื่องของความมั่นคงแห่งชาติและไม่ใช่ทุกคนที่ควรรู้ว่าเทคโนโลยีนี้ทำงานอย่างไร” และว่า “แม้แต่ในสหรัฐฯ หากคุณถามเกี่ยวกับระบบป้องกันทางอากาศ ก็จะได้คำตอบแบบเดียวกันว่านี่เป็นเรื่องของความมั่นคงแห่งชาติและไม่จำเป็นต้องบอกให้ทุกคนรับทราบ”
บริษัท HSC ผู้รับสัมปทานโครงการเทคโนโลยีจดจำใบหน้า ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2007 ทำธุรกิจครอบคลุมหลายอย่าง ตั้งแต่อาหาร เครื่องดื่ม การทำเหมืองเรือขุด และค้าปลีก นอกจากนี้ยังรับสัมปทานพิมพ์หนังสือเดินทางกัมพูชา ดูแลระบบข้อมูลบัตรประชาชน จัดทำเทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง และติดตั้งกล้องวงจรปิดทั่วกรุงพนมเปญ
สื่อในกัมพูชาและมาเลเซียรายงานว่า สก ฮง คือบุตรชายของ สก กง มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งเครือบริษัท Sokimex Investment Group โดยพ่อลูกคู่นี้ได้ศักดิ์เทียบเท่า “ขุนนาง” จากการบริจาคเงินเป็นมูลค่ามากกว่า 500,000 ดอลลาร์ให้แก่รัฐบาลกัมพูชา
วีโอเอพยายามติดต่อไปยัง สก ฮง เพื่อขอความเห็นในเรื่องนี้ แต่ได้คำตอบเพียงว่า “ไม่ควรรายงานเพราะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ”
ทั้งนี้ จากประวัติของกัมพูชาในการติดตามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ได้ก่อให้เกิดความกังวลว่าเทคโนโลยีจดจำใบหน้าอาจถูกนำไปใช้ในการสอดส่องบรรดานักเคลื่อนไหวต่าง ๆ
จัก โสเพียบ ผู้อำนวยการศูนย์สิทธิมนุษยชนกัมพูชา (Cambodian Center for Human Rights) กล่าวกับวีโอเอว่า “เจ้าหน้าที่อาจใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าในการระบุตัว ติดตามและรวบรวมข้อมูลส่วนตัวจำนวนมากโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบุคคลเหล่านั้น ซึ่งอาจนำไปสู่การสอดส่องประชาชนครั้งใหญ่ได้… ตัวอย่างเช่น รัฐบาลอาจใช้เทคโนโลยีนี้ในการติดตามผู้เข้าร่วมการประท้วงอย่างสันติ ทำให้เกิดความกังวลอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของประชาชนเหล่านั้น”
โจชัว เคอร์แลนต์ซิกค์ นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่ง Council on Foreign Relations กล่าวว่า การให้บริษัทที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลเป็นผู้ควบคุมเทคโนโลยีจดจำใบหน้า และเป็นบริษัทที่เข้าถึงข้อมูลด้านตัวตนของประชาชนแต่ละคนอยู่แล้ว อาจทำให้เกิดการรวมศูนย์ข้อมูลพลเมืองไว้ในที่เดียวซึ่งง่ายต่อการแชร์ข้อมูลกับรัฐบาล
ที่ผ่านมา จีนซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของกัมพูชา เริ่มใช้วิธีรวบรวมข้อมูลของประชาชนเพื่อการติดตามสอดส่องวิถีชีวิตของพลเมืองจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ที่มณฑลซินเจียงซึ่งมีประชากรมุสลิมชาวอุยกูร์ราว 12 ล้านคน ทางเจ้าหน้าที่จีนได้เก็บรวบรวมข้อมูลทางกายภาพและกิจกรรมทางดิจิทัลของพวกเขาเพื่อสร้างเป็นแผนที่รายละเอียดการใช้ชีวิตของชาวอุยกูร์เหล่านั้น
เคอร์แลนต์ซิกค์ กล่าวว่า หลายปีมานี้ จีนพยายามผลักดันให้ประเทศในแถบอาเซียนใช้มาตรการติดตามสอดส่องประชาชนอย่างใกล้ชิดเช่นกัน รวมทั้งการสนับสนุนผ่านการลงทุนต่าง ๆ ภายใต้โครงการ “เส้นทางสายไหมยุคดิจิทัล” เช่น การลงทุนติดตั้งกล้องวงจรปิดในกรุงพนมเปญมูลค่า 3 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2015
กาตรา ปรียานดิตา นักวิเคราะห์การเมืองทางไซเบอร์ แห่งสถาบัน Australian Strategic Policy ชี้ว่า ขณะนี้มีหลายสิบประเทศที่นำเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาใช้สำหรับความปลอดภัยของประชาชน แต่มาตรการเหล่านั้นต้องมาพร้อมกับกฎหมายปกป้องข้อมูลส่วนตัวที่เข้มงวดและมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นที่กัมพูชา ดังนั้นการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้โดยบริษัทที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลกรุงพนมเปญ จึงเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่น่าแปลกใจ
“เป้าหมายระยะยาวของการจัดการลักษณะนี้ คือการเกื้อหนุนความมั่นคงของระบอบการปกครองในปัจจุบัน โดยเฉพาะการปกป้องบรรดาครอบครัวของผู้นำทางการเมืองและธุรกิจในกัมพูชาเอง” นักวิเคราะห์ผู้นี้กล่าว