ศรีสุวรรณ บี้เอาผิด ผู้สมัครส.ส.-พรรคการเมือง ไม่ยอมเก็บป้ายหาเสียง

Home » ศรีสุวรรณ บี้เอาผิด ผู้สมัครส.ส.-พรรคการเมือง ไม่ยอมเก็บป้ายหาเสียง


ศรีสุวรรณ บี้เอาผิด ผู้สมัครส.ส.-พรรคการเมือง ไม่ยอมเก็บป้ายหาเสียง

ศรีสุวรรณ บี้ มท.1-ปลัดมท. สั่ง ผู้ว่าฯกทม.-ผวจ.ทุกจว.-ท้องถิ่น เอาผิดผู้สมัครส.ส.-พรรคการเมือง ไม่ยอมเก็บป้ายหาเสียง

เมื่อวันที่ 24 พ.ค.66 นาย ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า วันนี้24พ.ค.66 ทางสมาคม องค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ทำหนังสือด่วนร้องเรียนไปยัง รมว.มหาดไทย และปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอให้สั่งการไปยังผู้ว่า กทม. และ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่นทั่วประเทศ ให้ดำเนินการเอาผิดผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และพรรคการเมืองต่างๆ ในพื้นที่รับผิดชอบของตน ที่ยังไม่ยอมเก็บป้ายหาเสียง ปล่อยให้เป็นที่เกะกะเลอะเทอะอุจาดทัศน์อยู่ในขณะนี้เสียโดยเร็ว

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 14 พ.ค.66 ผ่านพ้นกว่า 1 สัปดาห์แล้ว ข้อยกเว้นตาม พรบ.รักษาความสะอาดฯ 2535 หมดสิ้นไปแล้ว การที่ผู้สมัคร ส.ส.และพรรคการเมืองไม่ยอมเก็บป้ายหาเสียงจึงเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 39 และหรือมาตรา 30 ประกอบมาตรา 54 ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถแจ้งดำเนินคดีได้

ซึ่งขณะนี้ในหลายท้องที่ยังพบว่ามีป้ายหาเสียงของผู้สมัครฯและพรรคการเมืองต่างๆ ยังคงแขวนหรือติดตั้งอยู่ในถนนหนทาง ตรอก ซอก ซอย ในชุมชน หมู่บ้านต่าง ๆ อยู่มาก บางผู้สมัครหรือบางพรรคเก็บป้ายเฉพาะในพื้นที่ริมถนนใหญ่ แต่ในซอย ในชุมชนกลับยังปล่อยทิ้งไว้ ไม่สนในมาเก็บให้เรียบร้อยทั้งหมด

อันสะท้อนหรือชี้ให้เห็นถึงตัวตนของผู้สมัครและพรรคการเมืองเหล่านี้ได้เป็นอย่างดีว่า มีแต่อยากได้อำนาจ แต่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างชัดเจน ประชาชนควรจดจำไว้คราวหน้าอย่าไปเลือกพรรคการเมืองดังกล่าวอีก

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ท้องถิ่นต่าง ๆ หากดำเนินคดีหรือสั่งจับปรับผู้สมัคร ส.ส.และพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ไม่ยอมเก็บป้ายหาเสียงแล้วไซร้ ขอให้นำใบเสร็จมาพิมพ์ลงในแผ่นป้ายไวนิลแขวนประจานหรือบอกกล่าวประชาชนที่ผ่านไปมาหรือไปติดต่อราชการให้รับรู้กันโดยทั่วไปว่า มีผู้สมัคร ส.ส. หรือพรรคการเมืองใด ที่มีพฤติการณ์ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมในเรื่องดังกล่าวด้วย

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า นอกจากนี้สมาคมฯจะร้องเรียนไปยัง คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ด้วยเนื่องจากผู้สมัคร ส.ส.และทุกพรรคการเมืองจะต้องรายงานค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งไปยัง กกต.ภายใน 90 วันด้วย ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเก็บป้ายหาเสียงต้องถูกระบุไว้ในบัญชีค่าใช้จ่ายดังกล่าวเทียบเท่าค่าใช้จ่ายในการติดตั้งป้ายหาเสียงด้วย

หาก กกต.ตรวจสอบแล้วไม่พบค่าใช้จ่ายในการเก็บป้ายหาเสียง ให้อนุมานได้เลยว่าผู้สมัครและพรรคการเมืองดังกล่าว ไม่ยอมเก็บป้ายหาเสียงอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาดตาม พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 และสมาคมฯจะไปขอตรวจสอบบัญชีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของทุกพรรคต่อไปหลังจากที่ กกต.ปิดประกาศตามที่กฎหมายกำหนด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ