ปภ.ประสาน 50 จังหวัด เหนือ-อีสาน-กลาง-กทม. เตรียมรับมือพายุฤดูร้อน 26-29 มี.ค.นี้ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง
วันที่ 25 มี.ค. 2566 กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาวะอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งมีประกาศฉบับที่ 2 (81/2566) แจ้งว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้
ทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตกและฟ้าผ่า
ซึ่งเริ่มมีผลกระทบในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงภาคเหนือจะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ระหว่างวันที่ 26-29 มี.ค. ดังนี้
ภาคเหนือ ได้แก่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์
ภาคกลาง ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
กอปภ.ก จึงประสาน 50 จังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพฯ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนที่อาจเกิดขึ้น
โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง และจัดทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนได้ทันที
ทั้งนี้ ให้จังหวัดติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง
สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามสภาพอากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น ขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งก่อสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง แข็งแรง อีกทั้งงดใช้เครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
ส่วนเกษตรกรควรป้องกันผลิตผลทางการเกษตรที่อาจได้รับความเสียหายจากลมกระโชกแรง ท้ายนี้ ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” รวมถึงแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป