วันที่ 5 มี.ค.บีบีซีรายงานว่า นานาชาติบรรลุสนธิสัญญาทะเลหลวง ข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ที่จะคุ้มครองมหาสมุทรโลกเมื่อวันเสาร์ที่ 4 มี.ค.ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากเจรจานาน 10 ปี โดยครั้งล่าสุดนี้เจรจา 38 ชั่วโมงที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติหรือยูเอ็นที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
สาระสำคัญกำหนดให้ร้อยละ 30 ของทะเลหลวงเป็นพื้นที่ที่ต้องได้รับความคุ้มครอง เพื่อมุ่งที่จะป้องกันภัยและฟื้นคืนธรรมชาติทางทะเล สาเหตุที่ต้องใช้ระยะเวลาการเจรจานานนับ 10 ปีเนื่องมาจากไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นเงินทุนและสิทธิในการทำประมง
สนธิสัญญาใหม่นี้จะจำกัดปริมาณการทำประมง เส้นทางการเดินเรือและกิจกรรมการสำรวจ อาทิ การทำเหมืองแร่ทะเลลึก หลังจากกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมกังวลว่ากระบวนการทำเหมืองแร่อาจรบกวนพื้นที่การผสมพันธุ์ของสัตว์ สร้างมลพิษทางเสียงและเป็นพิษต่อสัตว์ทะเล
ในอดีต สัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่คุ้มครองเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การประมงเกินขีดจำกัดและการเดินเรือ ซึ่งจากการประเมินชนิดพันธุ์ทางทะเลทั่วโลกพบว่าเกือบร้อยละ 10 เสี่ยงสูญพันธุ์
ทั้งนี้ ข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองมหาสมุทรที่ได้รับการลงนามเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมาคืออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 ซึ่งกำหนดพื้นที่ที่เรียกว่าทะเลหลวงหรือน่านน้ำสากลที่ทุกประเทศมีสิทธิทำประมง แล่นเรือและวิจัยค้นคว้า แต่มีเพียงร้อยละ 1.2 ของน่านน้ำเหล่านี้เท่านั้นที่ได้รับความคุ้มครอง
องค์กรพื้นดินท้องทะเลระหว่างประเทศ หรือ ISA ซึ่งทำหน้าตรวจสอบใบอนุญาตภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ระบุว่า การเดินหน้าทำกิจกรรมในอนาคตใดๆก็ตามในพื้นดินใต้ทะเลลึกจะอยู่ภายใต้กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดและควบคุมดูแลเพื่อรับประกันว่า ได้กระทำกิจกรรมอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืน
………………