พบไวรัส “โคโรนาสายพันธุ์ใหม่” ในสุนัข แพร่เชื้อถึงมนุษย์ได้

Home » พบไวรัส “โคโรนาสายพันธุ์ใหม่” ในสุนัข แพร่เชื้อถึงมนุษย์ได้
พบไวรัส “โคโรนาสายพันธุ์ใหม่” ในสุนัข แพร่เชื้อถึงมนุษย์ได้

นักวิทยาศาสตร์พบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่มักพบเฉพาะในสุนัข แต่กลายพันธุ์และสามารถแพร่เชื้อให้มนุษย์ได้เป็นครั้งแรกที่มาเลเซีย

สำนักข่าว South China Morning Post ระบุว่า วารสารทางการแพทย์ด้านโรคติดต่อ Clinical Infectious Diseases รายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ทั้งจากสหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และจีนพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ตั้งชื่อว่า CCov-HuPn-2018 ที่มนุษย์สามารถติดเชื้อได้หลังจากพบเชื้อไวรัสดังกล่าวในผู้ป่วยโรคปอดบวมอย่างน้อย 1 รายในรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย เมื่อปี 2018 โดยเป็นเชื้อไวรัสโคโรนาที่มักพบในสุนัข แต่กลายพันธุ์จนสามารถแพร่เชื้อสู่มนุษย์ได้เป็นครั้งแรก 

Dr. Gregory Gray นักวิทยาการระบาดในมหาวิทยาลัย Duke และทีมเป็นผู้ค้นพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ โดยระบุว่า “ก่อนหน้านี้เราไม่เคยพบเชื้อไวรัสโคโรนาที่อยู่แต่ในสุนัข ที่สามารถแพร่เชื้อให้มนุษย์ได้มาก่อน” และถ้าเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้สามารถแพร่กระจายในมนุษย์เป็นวงกว้างได้เมื่อไร เชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้จะเป็นสายพันธุ์ที่ 8 ที่เป็นเชื้อไวรัสโคโรนาที่พบได้ในมนุษย์เหมือนกับเชื้อโควิด-19

Dr. Gregory Gray แนะนำว่า ควรทำการศึกษาเชื้อไวรัสโคโรนาในทางปฏิบัติมากขึ้นโดยพุ่งเป้าไปที่เชื้อไวรัสที่แพร่เชื้อสูมนุษย์เรียบร้อยแล้ว โดยอาจทำการตรวจสอบคนที่สัมผัสใกล้ชิดกับค้างคาว หรือสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่สามารถเป็นพาหะเชื้อไวรัสได้ แทนที่จะพยายามค้นหาว่ามีไวรัสมากแค่ไหน แต่ควรเน้นไปที่เชื้อไวรัสตัวไหนที่สามารถแพร่เชื้อมาสู่มนุษย์ได้มากกว่า เพราะจริงๆ แล้วกว่าเชื้อไวรัสจะพัฒนาตัวเองจนกลายพันธุ์แล้วแพร่เชื้อจากสัตว์สู่มนุษย์ได้ก็ใช้เวลาเป็นปีๆ เช่นกัน

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า เชื้อไวรัสโคโรนาในสุนัขตัวนี้อาจมีอยู่มานานแล้ว แต่แค่ก่อนหน้านี้ยังไม่แพร่เชื้อสู่มนุษย์ได้เท่านั้น แต่โชคดีที่ทีมนักวิจัยนี้ได้แยกเชื้อไวรัสตัวนี้ออกมาจากผู้ป่วยได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเชื้อไวรัสโคโรนาที่พบได้ในสุนัขยังคงมีข้อจำกัด เช่น การพบเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจของผู้ป่วยอาจไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคปวดบวมที่ผู้ป่วยเป็นก็ได้ เพราะยังพบหลักฐานการติดเชื้อไวรัสจากทางอื่นได้อีก

ทีมวิจัยวางแผนจะติดตามงานวิจัยนี้ต่อไป โดยนำตัวอย่างเลือดมาหาแอนติบอดีที่มีหลักฐานของการติดเชื้อ รวมทั้งศึกษาหาสาเหตุของโรคปอดบวมในประเทศอื่นๆ เช่น จีน ศรีลังกา และเวียดนาม เพื่อหาว่าพบเชื้อไวรัสโคโรนาตัวอื่นๆ อีกหรือไม่ นอกจากนี้ Dr. Gregory Gray ยังแนะนำว่า เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโคโรนาจากสัตว์ที่อาจกำลังพัฒนาตัวเองเพื่อให้แพร่เชื้อสู่มนุษย์ได้ ควรเปลี่ยนวิธีการตรวจหาและติดตามเชื้อไวรัสกันใหม่

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ