ส่องวิธีสร้างความเชื่อมั่นต่อ “วัคซีนโควิด-19” ใน 3 ประเทศที่มีอัตราการฉีดสูงสุด

Home » ส่องวิธีสร้างความเชื่อมั่นต่อ “วัคซีนโควิด-19” ใน 3 ประเทศที่มีอัตราการฉีดสูงสุด

ในภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 ที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก หนทางเดียวที่จะหยุดยั้งความสูญเสียจากโรคอุบัติใหม่นี้ได้คือ “วัคซีน” แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าระยะเวลาคิดค้นและพัฒนาวัคซีนที่ใช้เวลาเพียง 1 ปี ก็สร้างความกังวลในเรื่องความปลอดภัยและอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนให้กับคนจำนวนมาก จนกลายเป็นปัญหา “ความลังเลในการรับวัคซีน (Vaccine Hesitancy)” ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) เคยประกาศไว้เมื่อปี พ.ศ.2562 ว่าเป็นหนึ่งในสิบภัยคุกคามด้านสุขภาวะของโลก

  • “หมอธีระวัฒน์” ถามแทนใจประชาชน จะฉีดวัคซีนแต่ยุ่งยาก ทั้งพร้อม-ทั้งชนะ จะเอายังไง?
  • นายกฯ ปรับแผนฉีดวันซีนใหม่ ไม่ให้เรียก “วอล์กอิน” เรียกว่า “ลงทะเบียน On-Site” แทน
  • สรุปความเห็นในโลกออนไลน์ กับดราม่า “ดาราฉีดวัคซีนโควิด-19”

แม้ความลังเลใจในการรับวัคซีนจะเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้ แต่ก็มีหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอิสราเอล สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็น 3 ประเทศ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน และสามารถถอดหน้ากากอนามัย เพื่อใช้ชีวิตตามปกติได้แล้วในตอนนี้ ประเทศทั้งสามนี้ทำอย่างไร มาดูกัน

อิสราเอล 

ประเทศอิสราเอลถือเป็นประเทศแรกในโลกที่มีนโยบาย “ยกเลิกสวมหน้ากากอนามัย” หลังจากประสบความสำเร็จในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน โดยมีอัตราการฉีดวัคซีน 11 โดส ต่อประชากร 100 คน ซึ่งถือเป็นอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่สูงที่สุดในโลก อิสราเอลได้ริเริ่มโครงการ “Give a Shoulder” ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2563 โดยเลือกใช้ “วัคซีนไฟเซอร์” และใช้เวลาเพียง 3 สัปดาห์ในการฉีดวัคซีนโดสแรกให้กับประชาชนมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ งานวิจัยเรื่อง “Israel’s Rapid Rollout of Vaccinations for Covid-19” ได้สรุปปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้อิสราเอลประสบความสำเร็จในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไว้ดังนี้ 

  • ลักษณะทั่วไปของประเทศอิสราเอล ด้วยจำนวนประชากร (ราว 9 ล้านรายในปี พ.ศ.2562) ซึ่งมีอายุเฉลี่ยน้อย สภาพอากาศที่อบอุ่นในช่วงเดือนธันวาคม ระบบการปกครองแบบรวมศูนย์ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการพัฒนามาเป็นอย่างดีเพื่อรับมือกับภาวะฉุกเฉินระดับชาติ 
  • ระบบดูแลสุขภาพของประเทศที่เป็นระเบียบ ความสามารถด้านเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้เพื่อดูแลและจัดการสุขภาพของประชาชน ความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์และการให้ค่าตอบแทนที่ได้รับจากชุมขนโดยตรง อีกทั้งความร่วมมืออย่างยอดเยี่ยมระหว่างรัฐบาล แผนสุขภาพ โรงพยาบาล และผู้ให้บริการดูแลผู้ป่วย 

AFP

  • ความรวดเร็วของฝ่ายบริหารในการจัดการเรื่องวัคซีน  ในช่วงกลาง พ.ศ.2563 ฝ่ายผู้กำหนดนโยบาย ข้าราชการ และผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขของอิสราเอลเล็งเห็นถึงความสำคัญว่า ประชาชนต้องได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุด และเกิดการระดมทุนพิเศษจากภาครัฐอย่างรวดเร็วเพื่อจัดซื้อและกระจายวัคซีนให้กับคนในประเทศ จากนั้นจึงทำสัญญาวัคซีนกับบริษัทผู้ผลิตทันที แม้จะยังไม่ทราบถึงประสิทธิภาพของวัคซีน แต่อิสราเอลก็กระจายความเสี่ยงด้วยการทำสัญญาจัดซื้อขั้นสูงเพื่อซื้อวัคซีนจำนวนมากกว่าที่ต้องการ
  • เกณฑ์คัดแยกประชาชนกลุ่มต่าง ๆ สำหรับเข้ารับวัคซีนที่ชัดเจนและเป็นระบบ ซึ่งทำให้อิสราเอลสามารถระบุกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการร้ายแรงหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 และเร่งฉีดวัคซีนให้คนกลุ่มนี้ได้อย่างรวดเร็ว
  • การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนลงทะเบียนเข้ารับวัคซีน ซึ่งรัฐบาลอิสราเอลรอจนกว่าจนกว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) ให้การรับรองวัคซีน แล้วจึงเร่งให้ข้อมูลถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนเพื่อขจัดความกลัวและความลังเลใจของประชาชนในการเข้ารับวัคซีน

AFP

  • ช่องทางในการลงทะเบียนรับวัคซีนที่มีหลากหลายช่องทาง สำหรับประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งโทรศัพท์ เว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่น 
  • สื่อมวลชนยังมีส่วนร่วมในการนำเสนอจำนวนผู้เข้ารับวัคซีน พร้อมนำเสนอคลิปวิดีโอและภาพถ่ายของประชาชนที่เข้ารับวัคซีน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนที่ยังรู้สึกลังเล 
  • การสร้างความภาคภูมิใจในชาติ เมื่ออิสราเอลกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนมากที่สุดในโลก ก็ส่งผลให้เกิดความภาคภูมิใจ กระตุ้นให้ชาวอิสราเอลอยากเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ และออกมาฉีดวัคซีนกันเพิ่มมากขึ้น 

สหราชอาณาจักร 

ขณะนี้ อัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของสหราชอาณาจักรอยู่ที่ 75 โดสต่อประชาชน 100 คน และประชาชนที่อายุมากกว่า 50 ปี ได้รับวัคซีนโดสแรกไปแล้วกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มียอดการฉีดวัคซีนสูงที่สุดในโลก โดยสำนักข่าว VOX ชี้ว่า ปัจจัยที่ทำให้สหราชอาณาจักรสามารถเร่งเครื่องฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ มีตั้งแต่ระบบสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ไปจนถึงนโยบายเลื่อนการฉีดวัคซีนโดสที่สอง และการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน จนทำให้ตอนนี้สหราชอาณาจักรสามารถคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปได้บ้างแล้ว เช่น การอนุญาตให้คนมาพบปะกันในบ้านได้ เป็นต้น

  • การควบคุมและการสื่อสารเรื่องข่าวในแง่ลบที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนเป็นปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งที่ช่วยให้สหราชอาณาจักรสามารถสร้างความเชื่อมั่นเรื่องวัคซีนได้ โดยข่าวอาการข้างเคียงหลังเข้ารับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าและเกิดภาวะลิ่มเลือด ทำให้หลายประเทศในยุโรปได้ประกาศหยุดฉีดวัคซีนดังกล่าวและส่งผลให้ความเชื่อมั่นในวัคซีนลดลง แต่สหราชอาณาจักรไม่ได้หยุดฉีด ในทางกลับกัน NHS ได้ปรับปรุงแนวทางการฉีดวัคซีน โดยแนะนำให้ประชาชนอายุต่ำกว่า 30 ปีหรือมีแนวโน้มจะเกิดภาวะลิ่มเลือด เข้ารับวัคซีนโมเดิร์นนาหรือไฟเซอร์ พร้อมแนะนำให้เฝ้าสังเกตอาการของตัวเองหลังฉีดวัคซีนแล้ว

AFP

  • การเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ที่ง่ายและสะดวกสบาย โดยสหราชอาณาจักรได้เผิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ของ NHS เท่านั้น
  • ระบบจัดเก็บข้อมูลของ NHS และการพิจารณาคุณสมบัติผู้เข้ารับวัคซีนที่ชัดเจน ทำให้การติดต่อกลุ่มเป้าหมายเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำให้ประชาชนตัดสินใจเข้ารับวัคซีนมากขึ้น โดยสหราชอาณาจักรฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่อยู่ในบ้านพักคนชราเป็นกลุ่มแรก แล้วต่อมาจึงเริ่มฉีดให้กับคนกลุ่มอายุต่าง ๆ
  • จำนวนผู้เข้ารับวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น ช่วยลดความลังเลใจในการรับวัคซีนได้ โดยสำนักข่าว The Guardian ระบุว่า ปัจจัยที่คนในสหราชอาณาจักรมีความลังเลที่จะฉีดวัคซีนน้อย เพราะคนที่พวกเขารู้จักฉีดวัคซีนมากขึ้น “ยิ่งคนฉีดวัคซีนมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นเรื่องปกติมากขึ้น และเกิดความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น”

AFP

  • การร่วมมือของกลุ่ม “แนวคิดทางการเมือง” ที่แตกต่างกันในประเทศ เช่นในสหรัฐฯ ที่ผู้สนับสนุนพรรครีพับริกัน หรือกลุ่มอนุรักษ์นิยม จะมีความลังเลที่จะเข้ารับวัคซีนมากกว่ากลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต หรือกลุ่มเสรีนิยม แต่ปัญหาดังกล่าวไม่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร โดยพรรคการเมืองและสื่อต่างทำงานร่วมกันเพื่อลดความลังเลในการรับวัคซีนของประชาชน

สหรัฐอเมริกา 

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่เผชิญหน้ากับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรง ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 33 ล้านรายและเสียชีวิตมากกว่า 500,000 ราย วัคซีนจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับวิกฤตโควิด-19 ในสหรัฐฯ โดยหลังจากสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี โจ ไบเดนและคณะได้เร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขสถานการณ์ในประเทศ ส่งผลให้ในตอนนี้ ชาวอเมริกันสามารถถอดหน้ากากอนามัยและเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้แล้ว ซึ่งการทำงานของไบเดนที่ทำให้สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จเรื่องการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน มีดังนี้ 

  • ไบเดนได้ทุ่มงบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ​ สำหรับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งรวมทั้งศูนย์ฉีดวัคซีนที่ดำเนินการโดยรัฐบาลกลาง ค่าใช้จ่ายสำหรับการบริหารวัคซีน การรวบรวมข้อมูล และกำกับดูแลความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนอย่างต่อเนื่อง
  • วางแผนและหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องเชื้อชาติและแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันของประชาชนอเมริกัน โดยทำให้การกระจายวัคซีนมีความโปร่งใส พร้อมจัดตั้งกลุ่มทำงานฉีดวัคซีนเพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น โดยไม่รบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลซึ่งต้องทำหน้าที่รักษาและดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอยู่จำนวนมาก อีกทั้งยังจัดทำคลินิกวัคซีนเคลื่อนที่เข้าไปในชุมชนที่เข้าถึงได้ยาก

AFP

  • ปรับปรุงขั้นตอนการลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนทำให้สหรัฐฯ สามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้จำนวนมาก ขั้นตอนการลงทะเบียนออนไลน์ที่วุ่นวาย โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มคนรายได้น้อยที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต หรือไม่มีโทรศัพท์ โดยเฉพาะกลุ่มคนผิวดำ กลุ่มชนเผ่า และคนในพื้นที่ชนบท ถูกแก้ไขและเกิดการจัดทำระบบที่ประชาชนสามารถเข้าถึงการนัดฉีดวัคซีนได้อย่างเป็นธรรมและเป็นระเบียบ
  • จัดทำเว็บไซต์ vaccines.gov ซึ่งเป็นเว็บไซต์ใหม่ที่ชาวอเมริกันสามารถใช้เพื่อค้นหาสถานที่ฉีดวัคซีนได้ง่ายขึ้น หลังจากมีการร้องเรียนเรื่องขั้นตอนการลงทะเบียนที่ยุ่งยากเกินไปสำหรับประชาชนบางกลุ่ม นอกจากนี้ ยังมีเบอร์โทรศัพท์ที่ประชาชนสามารถพิมพ์รหัสไปรษณีย์ส่งไป เพื่อค้นหาสถานที่ฉีดวัคซีนในพื้นที่ของตัวเอง
  • แก้ไขปัญหาเรื่องข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและการให้ความสนใจอาการข้างเคียงของวัคซีนส่งผลต่อความลังเลใจการรับวัคซีนของประชาชน พร้อมเร่งพัฒนาโครงการที่ให้ความรู้เรื่องวัคซีน เพื่อตอบสนองความต้องการของรัฐหรือชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน 

AFP

  • สร้างความตกลงกับภาคธุรกิจในสหรัฐฯ เพื่อจัดทำส่วนลดการซื้อของให้กับชาวอเมริกันที่เข้ารับวัคซีนเรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นการจูงใจประชาชนอีกด้วย 
  • เป้าหมายต่อไปของไบเดน คือการฉีดวัคซีนให้ประชาชน 160 ล้านคน ก่อนวันประกาศอิสรภาพของสหรัฐ (4 ก.ค.) เช่นเดียวกับฉีดวัคซีนให้กับเด็ก ทันทีที่ FDA ประกาศรับรอง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ