กระแสตีกลับ! สับยับ ‘ประยุทธ์’ – ‘รัฐบาล’ พปชร. ประกาศค่าแรงขั้นต่ำ 400 ป.ตรี 2 หมื่นยังทำไม่ได้ หลังออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายค่าแรงของพรรคเพื่อไทย
หลังทั้ง ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รวมถึง นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ นโยบายขึ้นค่าแรงของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศออกมาว่า จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท ขณะที่ผู้ที่จบปริญญาตรี จะได้รับเงินเดือน 25,000 บาท นั้น
- อิ๊งค์ เปิด 10 นโยบายพลิกฟื้นประเทศ ค่าแรงขั้นต่ำ 600บาท เงินเดือนป.ตรี2.5หมื่น
โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ในตอนหนึ่งว่า ต้องไปดูว่าทำได้จริงหรือเปล่า หลายเรื่องก็มีการเปิดเผยมาโดยตลอด ซึ่งการจะทำโน้นทำนี้มันไม่ง่ายนักหรอกที่จะทำ วันนี้เราก็ทำโครงสร้างต่างๆมากมาย เพื่อไม่ให้มีปัญหาในอนาคต ซึ่งก็ต้องดูว่ามีผลกระทบอะไรบ้างหรือเปล่า
- ‘บิ๊กตู่’ เย้ย ค่าแรงขั้นต่ำ 600 ป.ตรี 2.5 หมื่น ทำได้จริงไหม ถามเอาเงินมาจากไหน
”ต้องถามว่าเอาเงินมาจากที่ไหนล่ะ ถ้ามีเงินก็โอเคเท่าไหร่ก็ได้ วันนี้เราอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาทุกอย่างเพื่อเพิ่มจีดีพีให้กับประเทศ อย่าลืมว่าเราต้องมีค่าใช้จ่ายประจำ ค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแล กลุ่มเปราะบาง คนพิการ ซึ่งมากพอสมควร ดังนั้นถ้าจะทำตรงนี้ให้มากขึ้น ก็ต้องทยอยดำเนินการไปพร้อมๆกับการหารายได้” พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์
ขณะที่ นายสุชาติ โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า “เพื่อไทย” หากจะหาเสียงอะไรก็แล้วแต่ ควรคำนึงถึงหายนะทางเศรษฐกิจด้วย อย่าหาเสียงเพราะนึกสนุกแบบนี้ เพราะสิ่งที่พูดออกมามันเหมือนการโยนระเบิดเวลาให้เจ้าของกิจการ การหาเสียงแบบนี้เป็นการโยนภาระให้ภาคเอกชน แต่ตัวเองได้คะแนนเสียง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
- หายนะ! ‘สุชาติ’ เตือน พท. หาเสียงค่าแรงขั้นต่ำ 600 บ. อย่านึกสนุก แนะ คำนึงระบบศก.
“นอกจากนี้จะกระทบต่อนักลงทุนต่างประเทศ เพราะจะไม่กล้าเข้ามาลงทุน การออกมาพูดแบบนี้ส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ หากจะหาเสียงอะไรก็แล้วแต่ ควรคำนึงถึงหายนะทางเศรษฐกิจด้วย” รมว.แรงงาน ระบุ
อย่างไรก็ตาม มีเสียงส่วนหนึ่งที่แย้งข้อวิจารณ์ และท่าทีของฝ่ายรัฐบาล โดยนำนโบายหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ มาตั้งคำถาม โดยนโยบายดังกล่าว ประกอบด้วย การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็น 400-425 บาท และ การปรับเงินเดือน ป.ตรี เป็น 20,000 บาท และ อาชีวะ 18,000 บาท
ซึ่งมาถึง ณ ขณะนี้ ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว 3 ปี และใกล้ที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ ในปี 2566 แต่นโยบายหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ ในประเด็นเรื่องค่าแรงยังไม่สามารถจริง
อีกทั้งพรรคยังลบนโยบายดังกล่าวออกจากเฟซบุ๊กเพจ พลังประชารัฐ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายที่ตั้งคำถามต่อการประกาศนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ไว้ในการเลือกตั้ง แล้วไม่สามารถทำได้จริงเมื่อเข้ามาบริหารประเทศ