คำผกา อัดรัฐจัด ค่าอาหารกลางวันเด็ก ขายผ้าเอาหน้ารอด ตอบไม่ได้คิดจากอะไร

Home » คำผกา อัดรัฐจัด ค่าอาหารกลางวันเด็ก ขายผ้าเอาหน้ารอด ตอบไม่ได้คิดจากอะไร


คำผกา อัดรัฐจัด ค่าอาหารกลางวันเด็ก ขายผ้าเอาหน้ารอด ตอบไม่ได้คิดจากอะไร

คำผกา อัดรัฐจัด ค่าอาหารกลางวันเด็ก ขายผ้าเอาหน้ารอด ตอบไม่ได้คิดจากอะไร ลั่นถ้าคิดว่าเป็นหน้าที่ ต้องให้เด็กกินอาหารที่เติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลที่ใช้การได้

เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 11 พ.ย. 2565 ข่าวสดออนไลน์ จัดรายการ “ข่าวจบ คนไม่จบ” ดำเนินรายการโดย อั๋น ภูวนาท คุนผลิน และแขก ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา ในหัวข้อ “ค่าอาหาร ส.ส.ปีละ 100 ล้าน แต่ค่าอาหารเด็กเพิ่มให้ 3 บาท”

อั๋น กล่าวว่า สำหรับการปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนครั้งนี้ จะปรับเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักเรียน อัตราเฉลี่ย 24 บาทต่อคนต่อวัน จากเดิมอัตรา 21 บาทต่อคนต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3 บาทต่อคนต่อวัน โดยแบ่งออกเป็นตามขนาดของโรงเรียน

โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 1-40 คน ได้ค่าอาหารกลางวัน 36 บาทต่อคนต่อวัน, ตั้งแต่ 41-100 คน ได้ค่าอาหารกลางวัน 27 บาทต่อคนต่อวัน ตั้งแต่ 101-120 คน ได้ค่าอาหารกลางวัน 24 บาทต่อคนต่อวัน แลตั้งแต่ 121 คนขึ้นไป ได้ค่าอาหารกลางวัน 22 บาทต่อคนต่อวัน

อั๋น กล่าวต่อว่า เมื่อเปรียบเทียบกับค่าอาหาร ส.ส. 500 คนในสภา เฉลี่ยวันละ 1,000 บาท ไม่ว่าการประชุม ส.ส. ในครั้งนั้นจะล่มหรือไม่ล่ม ทุกครั้งที่มีการประชุมสภา งบประมาณที่จ่ายต่อวันก็ยังเป็น 500,000 บาท ถ้าหากประชุมเสร็จก่อน มื้อเย็นก็นำอาหารที่เหลือไปบริจาค โดยในงบ 1,000 บาท แบ่งเป็น อาหารว่างเช้า อาหารกลางวัน และอาหารเย็น รวมเครื่องดื่ม หากมองข้อเท็จจริงก็ถือว่าไม่มากและสมเหตุสมผล แต่ของเด็กไม่สมเหตุสมผล

ด้าน คำ ผกา กล่าวว่า มื้อนึงของ ส.ส. เฉลี่ยประมาณมื้อละ 300 บาท หากเอาตัวนี้เป็นอ้างอิง มื้อนึงของเด็กควรจะประมาณ 70 บาท เราไม่ได้บอกว่า ส.ส.ควรลดค่าอาหารลงมาเหลือมื้อละ 200 บาท ถ้าส.ส.กินอาหารมื้อละ 300 บาท ค่าอาหารกลางวันเด็กควรจะ 100 บาท ถ้าคิดตามสัดส่วนให้สมเหตุสมผล

คำ ผกา กล่าวต่อว่า หากเรามองอีกมุมว่าทำไมรัฐจะต้องจัดงบประมาณสำหรับอาหารกลางวันเด็ก เราจะมีคำตอบง่ายๆ ว่า เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแลพลเมือง การศึกษาภาคบังคับเป็นสิ่งที่เราควรจะได้ฟรี เมื่อเป็นการศึกษาภาคบังคับ รัฐต้องดูแลทั้งเสื้อผ้า สถานศึกษา อาหาร

คำ ผกา กล่าวต่อว่า อีกมุมมองนึงคือมีเด็กที่ครอบครัวยากจนจำนวนมาก รัฐต้องแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองที่จะนำลูกมาโรงเรียน เพราะพ่อแม่ยากจนเหลือเกิน สิ่งนี้คือหายนะ พอคุณคิดว่าเด็กมาจากครอบครัวยากจน อยู่บ้านกินดินหรือไม่ กินดีกว่ามาโรงเรียนไหม หรือกินข้าวเหนียวจิ้มน้ำปลา แล้วมาโรงเรียนได้กินข้าว มีน้ำแกง มีฟัก มีกล้วยใบนึง ดีกว่ากินอยู่บ้านหรือไม่

คำ ผกา กล่าวอีกว่า เราต้องดูกรอบความคิดที่อยู่เบื้องหลังของการคิดนโยบายว่ามาจากกรอบความคิดอะไร ถ้ามาจากกรอบความคิดว่านี่คือหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดหาสิ่งนี้ให้พลเมือง แล้วพลเมืองเหล่านี้เป็นพลเมืองตัวจิ๋วที่ถูกบังคับให้มาโรงเรียน เพราะมีการศึกษาภาคบังคับ เนื่องจากต้องการทรัพยากรบุคคลที่ใช้การได้ คือทำงานและเพิ่มจีดีพีให้กับประเทศ

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องลงทุนกับเด็ก จ้างคนมาสอนหนังสือ และต้องให้กินอาหารที่พอจะให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นผลิตภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องคิดว่าจะให้กินอะไรที่ทำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่และเป็นทรัพยากรบุคคลที่ทำงานเพิ่มจีดีพีให้รัฐได้

คำ ผกา กล่าวต่อว่า ถ้าคิดว่าเด็กพวกนี้จน อยู่บ้านกินข้าวเหนียวจิ้มปลาร้า มาโรงเรียนได้กินกล้วย กินขนมปังก็ดีเท่าไรแล้ว ฉะนั้น เขาจึงคิดว่าค่าอาหารมื้อละ 20 บาทเหลือเฟือ อย่างน้อยก็ได้กินไข่ ไม่ใช่กินข้าวคลุกน้ำปลาเหมือนอยู่บ้าน เพราะบ้านจนมาก

คำ ผกา กล่าวอีกว่า ตนเคยคุยกับเพื่อนที่อยู่เบลเยียม สามีเป็นผู้ดูแลเรื่องความซื่อสัตย์ในระบบสวัสดิการแห่งรัฐ สมมติว่ารัฐบาลสนับสนุนค่าเดินทาง แล้วจะมีคนเยอะมากที่ย้ายสำมะโนครัวไปอยู่ไกลๆ แต่ตัวอยู่ใกล้ที่ทำงาน เพื่อเอาเงินสนับสนุนจากรัฐบาล จึงต้องมีเจ้าหน้าที่มาจับโกหกคนพวกนี้ แปลว่ารัฐรู้สึกว่าสวัสดิการนี้ต้องมีประสิทธิภาพที่สุด

คำ ผกา กล่าวต่อว่า เมื่อประชากรทุกคนรักษาพยาบาลฟรี รัฐมีหน้าที่ที่จะกระตุ้นให้พลเมืองรักษาสุขภาพ เพราะถ้าประชาชนไม่ดูแลสุขภาพของตัวเอง ภาระค่ารักษาพยาบาลจะตกหนักกับค่าใช้จ่ายของรัฐ เขาให้สวัสดิการรักษาพยาบาลฟรีกับทุกคน แต่เขาไม่ออกมาด่าใครโง่ จน เจ็บ หรือให้เหล้าเท่ากับแช่ง เขาจะทำสวนสาธารณะเยอะๆ ให้คนมาออกกำลังกาย เขาจะดูโรงงานอุตสาหกรรมไม่ให้มีมลพิษ เพื่อคนจะได้ปอดแข็งแรง

คำ ผกา กล่าวอีกว่า รัฐสวัสดิการไม่ได้คิดว่าตัวเองมีจิตเมตตา แต่จะคิดว่าในเมื่อต้องรักษาพยาบาลทุกคนฟรี ก็ต้องทำเมืองให้คนที่อยู่ในเมืองไม่เจ็บไม่ป่วย เมื่อไปถึงโรงเรียนก็ต้องจัดอาหารกลางวันที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการที่สุด และไม่เป็นภาระแก่สวัสดิการของรัฐ ดังนั้น เด็กในประเทศแถบนี้ห้ามกินอาหารขยะ ห้ามกินขนมหวาน วันจันทร์ถึงศุกร์ แต่อาหารที่จัดในโรงเรียนครบ 5 หมู่ แล้วเด็กได้ออกกำลังกาย เขากลัวเด็กไม่แข็งแรง แล้วเป็นภาระครูอีก

คำ ผกา กล่าวต่อว่า เวลาวันเกิดเด็กจะมีเค้กวันเกิดมา เด็กจะต้องไปลงชื่อที่ครู เพราะใน 1 เดือน เด็กห้ามกินเค้กวันเกิดเกิน 1 ครั้ง ถ้าเดือนนั้นเกิดพร้อมกัน 4 คน คุณต้องรอ ซึ่งเขาตรวจตลอดว่าเด็กต้องได้รับน้ำตาลเท่าไรต่อเดือน และไม่เกินเท่าไรต่อสัปดาห์ แล้วเขาก็วัดน้ำตาลที่กินไปในมื้ออาหารเที่ยงว่าเกินหรือไม่

คำ ผกา กล่าวอีกว่า ตนรู้สึกว่าเวลาเขามีนโยบายหรือมีมาตรการอะไร เขาจะคิดจนจบ ซึ่งจะสะท้อนมาในสิ่งที่ดำเนินการ แล้วเขาจะอธิบายกรอบความคิดได้ แต่การคิดนโยบายที่ให้อาหารเด็กไทยมื้อละ 20 กว่าบาท รัฐไม่สามารถอธิบายได้ว่าออกแบบมาจากอะไร แล้วอยู่โรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวนมาก ตัวหารมาก เงินกลับได้น้อยลง มันใช่หรือไม่ คุณต้องให้เท่ากัน ไม่ใช่ให้มา 500 บาท มี 30 คนก็หารจาก 500 ถ้ามี 5 คนก็หาร 500 เหมือนกัน แบบนี้ไม่ใช่ ผิดทุกอย่าง สะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินการมาตรการอะไรลงไป ไม่มีการคิดอย่างเป็นกระบวนการ คิดแต่จะทำให้จบๆ ขายผ้าเอาหน้ารอด อยากจะให้ได้ชื่อว่าเป็นคนเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้เด็ก แล้วก็ไปหาเสียง

อั๋น กล่าวว่า คุณกำลังคิดด้วยตรรกะไหน เอาแค่ให้อิ่มรอดตายก็บุญกะลาหัวแล้วสำหรับประเทศไทยในวันนี้ ประเทศเราจนมาก เพราะตรรกะที่เราคิดว่าประเทศเราจนมาก ได้แค่นี้ก็บุญแล้ว และจะมีคนคอมเม้นต์แบบนี้ด้วย มันถึงต้องเปรียบเทียบกับ ส.ส.ว่ากินอะไร เพราะเรารู้สึกว่าวิธีการคิดแบบนี้ของนักการเมืองไม่แฟร์ แล้วเขาเอางบไปใช้ในเรื่องที่น่าเสียดาย ทั้งที่ควรเอามาตรงนี้และพัฒนาให้ดีขึ้น เราไม่ได้จนขนาดนั้น เราแค่ใช้เงินโง่ในหลายๆ เรื่อง

อั๋น กล่าวต่อว่า ตนรู้สึกว่าการเอา 2 เรื่องนี้มาเปรียบเทียบกันมันไม่แฟร์ เพราะกลุ่ม ส.ส. 500 คน ก็ไม่ได้กินอะไรที่เกินไป และเขาสมควรได้อย่างสมเกียรติ สมกับสิ่งที่เขาทำไปเพื่อประเทศชาติ ไม่ได้แปลว่าเอามาเปรียบเทียบแล้วควรลดค่าอาหารของ ส.ส. แต่ควรพัฒนาปรับปรุงงบค่าอาหารกลางวันเด็ก คุณภาพ และหลักการในการคิดว่าจะเลือกเมนูใดให้เขา

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ