“สองล้อ” เดินหน้าจัดโครงการอบรมพัฒนาผู้ฝึกสอนและช่างกีฬาจักรยานประเภทลู่ ระดับ 2 หลักสูตร “Track Coaching Course (Level 2) & Mechanics” วันที่ 16-23 พ.ย.65 ที่ จ.สุพรรณบุรี ตามแผนยุทธศาสตร์ของสมาคมกีฬาจักรยานฯ ที่มีนโยบายพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง โดยมี นายจอนส์ ไทโรน วิทยากรชาวแอฟริกาใต้ ซึ่งได้รับมอบหมายจากสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) มาให้ความรู้แก่ผู้ที่เข้ารับการอบรมจำนวน 30 คน
“เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สมาคมกีฬาจักรยานฯ มีนโยบายพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดเอาไว้ ทั้งการพัฒนานักกีฬาเพื่อความเป็นเลิศตั้งแต่ระดับเยาวชนขึ้นไปถึงรุ่นประชาชน การพัฒนาผู้ตัดสินตั้งแต่ระดับฝึกหัดไปจนถึงระดับนานาชาติ การพัฒนาผู้ฝึกสอนระดับ 1-2-3 ไปถึงระดับโปรที่สามารถคุมทีมจักรยานได้ทั่วโลก ล่าสุด สมาคมกีฬาจักรยานฯ กำหนดโครงการอบรมพัฒนาผู้ฝึกสอนและช่างกีฬาจักรยานประเภทลู่ ระดับ 2 หลักสูตร “Track Coaching Course (Level 2) & Mechanics” ระหว่างวันที่ 16-23 พฤศจิกายน ศกนี้ ณ โรงแรมวาสิฏฐี ซิตี้ จังหวัดสุพรรณบุรี
พลเอกเดชา กล่าวว่า โครงการอบรมดังกล่าวนี้สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากฝ่ายกีฬาอาชีพ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) รวมทั้งกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เพื่อเป็นการต่อยอดการพัฒนาผู้ฝึกสอนที่ผ่านการอบรมระดับ 1 ของสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) มาแล้ว โดยสมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้พิจารณาผู้ฝึกสอนจากสโมสรสมาชิก รวมถึงนักกีฬาทีมชาติไทยที่ผันตัวเองไปเป็นผู้ฝึกสอนมาเข้ารับการอบรม ขณะเดียวกันก็จะมีการอบรมช่างซ่อมจักรยานไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้นผู้ฝึกสอนที่เข้ารับการอบรมในครั้งนี้นอกจากจะได้ความรู้เรื่องผู้ฝึกสอนในระดับที่สูงขึ้น ยังจะได้ความรู้ด้านการซ่อมจักรยานไปด้วย
นายกสองล้อไทย เจ้าของฉายา “หมึกต้นแบบ” กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการอบรมพัฒนาผู้ฝึกสอนและช่างกีฬาจักรยานประเภทลู่ ระดับ 2 หลักสูตร “Track Coaching Course (Level 2) & Mechanics” มีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 30 คน โดยมี นายจอนส์ ไทโรน วิทยากรชาวแอฟริกาใต้ ซึ่งได้รับมอบหมายจากสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) มาให้ความรู้แก่ผู้ที่เข้ารับการอบรมทั้ง 30 คน ซึ่งจะต้องอบรมทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ เต็มเวลา 100% โดยไม่มีการลาหรือขาด รวมทั้งมีการสอบปากเปล่า สอบภาคทฤษฎี และสอบภาคปฏิบัติ เมื่อผ่านการอบรมแล้ว ประโยชน์ที่ได้รับคือผู้ที่ผ่านการอบรมครั้งนี้จะได้นำความรู้ไปถ่ายทอดให้นักกีฬาจักรยานในสังกัดสโมสรของตัวเอง เพื่อพัฒนาศักยภาพนักกีฬาให้ก้าวไปสู่ความเป็นเลิศ และเป็นตัวแทนทีมชาติไทยไปแข่งขันรายการต่าง ๆ ในระดับนาชาติ อาทิ ซีเกมส์, เอเชี่ยนเกมส์, เวิลด์คัพ และเวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ เป็นต้น
“นอกเหนือจากโครงการอบรมผู้ฝึกสอนแล้ว สมาคมกีฬาจักรยานฯ ยังมีโครงการอบรมพัฒนาบุคลากรด้านอื่น ๆ ด้วย โดยในปี 2566 สมาคมฯ มีโครงการอบรมผู้ตัดสิน, โครงการอบรมพัฒนาช่างจักรยานเฉพาะทาง ทั้งประเภทถนน, เสือภูเขา, ลู่ และบีเอ็มเอ็กซ์ ในโอกาสนี้สมาคมฯ ขอขอบคุณการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ที่ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการอบรมโครงการต่าง ๆ ซึ่งสมาคมฯ มั่นใจว่าผู้ที่ผ่านการอบรมทุกโครงการจะนำความรู้ความสามารถไปพัฒนาวงการกีฬาจักรยานของไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต” พลเอกเดชา กล่าวในตอนท้าย