นครราชสีมา ชลประทาน ติดตามน้ำอ่างลำเชียงไกรตอนล่าง หลังฝนตก น้ำไหลลงอ่างต่อเนื่อง เร่งพร่องออก ส่งน้ำช่วยพื้นที่นอกเขตชป. ลดความเสี่ยงเกิดอุทกภัยลุ่มน้ำลำเชียงไกร
18 ส.ค. 65 – นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา พร้อมด้วยนายชนก ขุนเพชรวรรณ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4
ลงพื้นที่ตรวจสอบและติดตามการส่งน้ำจากประตูระบายน้ำ ของอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ไปลงสู่ ลำน้ำลำเชียงไกร ซึ่งเป็นลำน้ำธรรมชาติ เพื่อส่งน้ำไปยังพื้นที่นอกเขตชลประทานช่วยเหลือเกษตรกร
ทั้งนี้ จากการประเมินปริมาณน้ำท่าที่เกิดจากฝนตกและสภาพภูมิอากาศ ที่คาดว่า จะมีฝนต่อเนื่องและมีน้ำท่าไหลลงอ่างเก็บน้ำอย่างต่อเนื่องตลอดฤดูฝน ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2565 ทางชลประทานจึงได้วางแผนบริหารจัดการน้ำ
โดยให้ประตูระบายน้ำลำเชียงไกร ตอนบน อ.ด่านขุนทด ส่งน้ำลงในลำน้ำลำเชียงไกร ช่วงระหว่างอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนบน อ.ด่านขุนทด มาถึงอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง อ.โนนไทย ในอัตราการไหล 10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากอัตราระบายออกสูงสุด 40 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ส่วนประตูระบายน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง เบื้องต้นจะส่งน้ำลงลำน้ำ ในอัตรา 15 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งสามารถระบายน้ำลงลำน้ำได้สูงสุด 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ลำน้ำลำเชียงไกร ตั้งแต่จากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน มาถึงอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง จะมีน้ำไหลลงตลอดลำน้ำ ก่อนจะไหลไปลงลำน้ำมูลอีกต่อหนึ่ง เป็นระยะทาง 170 กิโลเมตร
ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมตลอดลำน้ำ ไม่น้อยกว่า 300,000 ไร่ มีใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก นอกจากนี้ ยังเป็นการพร่องน้ำเพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บกักและหน่วงน้ำด้วยในกรณีมีน้ำเข้ามากในระยะต่อไป ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงเกิดอุทกภัย
อย่างไรก็ตาม จะต้องประเมินน้ำฝน-น้ำท่า เพื่อรักษาสมดุลทั้งในอ่างเก็บน้ำ ที่มีข้อจำกัดของขนาดเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ดังนั้น อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร จึงทำหน้าที่เป็นเพียงแก้มลิงไว้เก็บกักและหน่วงน้ำ
เมื่อมีน้ำมากก็ต้องปล่อยระบายน้ำออก เหมือนลักษณะอมแล้วบ้วน และต้องใช้ประตูระบายน้ำหรือฝาย ช่วยบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนและรักษาอัตราการไหลของลำน้ำเมื่อจะสิ้นสุดฤดูฝน จึงจะสามารถเก็บกักน้ำเอาไว้ในอ่างฯ ทั้งสองได้ เพื่อสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในพื้นที่ชลประทานในฤดูแล้งต่อไป และตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำทั้งลุ่มน้ำนอกเขตชลประทาน