8 วิธีป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ RSV

Home » 8 วิธีป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ RSV
8 วิธีป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ RSV

ตอนนี้หันไปทางไหนก็มีแต่คนติดเชื้อไวรัส RSV กันทั้งนั้น โดยเฉพาะเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ โรคนี้เป็นอย่างไร อันตรายมากกว่าไข้หวัดธรรมดาหรือไม่ และมีวิธีป้องกันอย่างไร Sanook! Health มีคำตอบจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขมาฝาก

 

โรค RSV คืออะไร?

โรค RSV หรือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัส Respiratory Syncytial Virus ที่ทำให้คนที่ติดเชื้อมีอาการคล้ายหวัด สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ โดยไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก หรือสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการจับมือ แพร่กระจายได้ง่ายผ่านการไอหรือจาม ในประเทศไทยพบเชื้อไวรัสอาร์เอสวีได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว

 

กลุ่มเสี่ยงโรค RSV

การติดเชื้อทางเดินหายใจ RSV จะพบได้ในทุกกลุ่ม แต่อาการจะรุนแรงในกลุ่มคนต่อไปนี้

  • เด็กเล็ก
  • เด็กที่คลอดก่อนกำหนด
  • ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ
  • ผู้มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ

 

อาการของโรค RSV

อาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อทางเดินหายใจ RSV ที่แสดงหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสประมาณ 4-6 วัน ผู้ติดเชื้อจะมีอาการ ดังนี้

  • มีไข้
  • ไอ
  • มีน้ำมูก
  • เจ็บคอ
  • หากอาการรุนแรง จะหายใจเร็ว หอบเหนื่อยเนื่องจากปอดอักเสบ
  • รับประทานอาหารได้น้อย
  • ซึมลง
  • อาการจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น หากผู้ป่วยเป็นเด็กเล็ก หรือคนชรา ที่ภูมิต้านทานต่ำกว่าปกติ

 

การรักษาโรค RSV

การรักษาส่วนใหญ่จะรักษาตามอาการ ส่วนยาสำหรับการรักษาเชื้อไวรัสโดยเฉพาะ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและยังไม่มีจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย

 

การป้องกันโรค RSV

ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี แต่เราสามารถป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้โดยวิธีต่อไปนี้

  1. หมั่นล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ เช่น ก่อนรับประทานอาหาร เป็นต้น
  2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ติดเชื้อ เช่น ผู้ที่เป็นไข้หวัดหรือปอดอักเสบ โดยเฉพาะเด็กที่คลอดก่อนกำหนด และทารกในช่วงอายุ 1-2 เดือน 
  3. ไม่ควรใช้มือที่ไม่สะอาดมาป้ายจมูกหรือตา
  4. ไม่ควรใช้แก้วน้ำร่วมกันและหลีกเลี่ยงใช้แก้วน้ำที่ผู้ป่วยใช้แล้ว
  5. ทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังพบว่าเด็กที่ป่วยมาสัมผัสหรือเล่นของเล่นนั้นๆ 
  6. สำหรับผู้ป่วย หากมีอาการป่วยควรหยุดพัก และปิดปาก จมูก เมื่อไอหรือจาม
  7. ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ
  8. ดื่มน้ำมากๆ เพราะน้ำทำให้สารคัดหลั่ง เช่น เสมหะหรือน้ำมูก ไม่เหนียวจนเกินไป และไม่ไปขัดขวางการทำงานของระบบทางเดินทางหายใจ

 

ตามปกติแล้ว อาการของการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีในเด็กโตและผู้ใหญ่จะดีขึ้น หลังได้รับการรักษาเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น เช่น หอบ เหนื่อย รับประทานอาหารได้น้อย ควรรีบพาไปพบแพทย์

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ