6 อาการ "วัยทอง" ในผู้ชาย พร้อมวิธีรักษา

Home » 6 อาการ "วัยทอง" ในผู้ชาย พร้อมวิธีรักษา
6 อาการ "วัยทอง" ในผู้ชาย พร้อมวิธีรักษา

วัยหมดประจำเดือนหรือ “วัยทอง” ในผู้หญิง ส่งผลกระทบหลายประการต่อสุขภาพและร่างกายของผู้หญิง แต่ผู้ชายก็สามารถพบอาการและการเปลี่ยนแปลงได้หลายอย่างในขณะที่อายุมากขึ้น ซึ่งบางคนเปรียบเทียบอาการนี้ว่าเป็น วัยทองในผู้ชาย แต่ก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่า ผู้ชายมีภาวะ “วัยทอง” เหมือนผู้หญิงจริงหรือเปล่า

อาการ “วัยทอง” ในผู้ชาย

ในช่วงวัยหมดประจำเดือน ผู้หญิงมักจะเกิดอาการหลายอย่าง เนื่องมาจากการลดลงของฮอร์โมนเพศ ซึ่งก็เป็นอาการที่สามารถพบได้ในผู้ชายที่มีอายุมากขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างเช่น

  1. อาการร้อนวูบวาบ
  2. อารมณ์เสีย หงุดหงิดง่าย
  3. ไขมันสะสมรอบเอวและหน้าอก
  4. สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ
  5. ผิวแห้งและบางลง
  6. เหงื่อออกมากขึ้น

การศึกษาในวารสาร New England Journal of Medicine ยังระบุด้วยว่า นอกเหนือจากอาการเหล่านั้นแล้ว อาการที่พบได้บ่อยในผู้ชายสูงวัย ที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศก็คือ อารมณ์เพศที่ลดลง การแข็งตัวในตอนเช้าที่บ่อยน้อยลง และการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ รวมทั้งยังมีอาการอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น พลังวังชาที่ลดลง ไม่สามารถเดินได้ไกล และไม่สามารถทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความแข็งแรงของร่างกายได้ เช่น การวิ่ง การยกของหนัก รวมถึงการคุกเข่า ก้มตัว หรือนั่งยองๆ ก็จะยากมากขึ้น

 

สาเหตุของอาการ  “วัยทอง” ในผู้ชาย

นักวิจัยบางคนชี้ว่า อาการเหล่านี้เกิดมาจากการลดลงของฮอร์โมนแอนโดรเจนในผู้ชายสูงวัย (Androgen Decline In The Aging Male-ADAM)หรือภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำที่เกิดขึ้นในภายหลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่ออวัยวะเพศที่สร้างเซลล์ทางเพศเริ่มมีแก่ตัวลง และทำงานได้ไม่ดีพอ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หลังจากที่ผู้ชายถึงวัยสามสิบ ระดับเทสทอสเทอโรนก็จะค่อยๆ ลดลงช้าๆ ราวหนึ่งเปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่ถึงแม้อาการเหล่านี้จะเกิดจากปัญหาของฮอร์โมนเพศเหมือนกับผู้หญิง แต่การนำไปเปรียบเทียบกับการหมดประจำเดือนของผู้หญิง ก็ไม่ถูกต้องเสียเลยทีเดียวนัก

 

วัยทองในผู้ชาย คล้ายแต่ไม่เหมือน

วัยหมดประจำเดือนของผู้หญิงนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับพัฒนาการทางเพศของผู้หญิงตามธรรมชาติ เรียกได้ว่าผู้หญิงทุกคนจะต้องเจอกับอาการนี้ และนี่ก็คือความแตกต่างอย่างแรก นั่นก็คือภาวะฮอร์โมนเพศลดต่ำลงในผู้ชายเช่นนี้ ส่งผลกระทบกับผู้ชายราว 2.1 เปอร์เซ็นต์ ความชุกของอาการนี้อาจเพิ่มขึ้นตามวัย แต่ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับพัฒนาการทางเพศตามธรรมชาติของผู้ชาย หรือไม่ได้เกิดกับผู้ชายทุกคน นอกจากนี้ การลดลงของฮอร์โมนในวัยหมดประจำเดือนของผู้หญิงนั้น เป็นการลดลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ของเอสโตรเจนและโพรเจสเตอโรน ที่เป็นฮอร์โมนเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์ของผู้หญิง ขณะที่การลดลงของเทสทอสเทอโรนที่เป็นฮอร์โมนเพศชายนั้นไม่ชัดเจน และรุนแรงน้อยกว่าการหมดประจำเดือนในผู้หญิงในช่วงวัยหมดประจำเดือน การลดลงของเทสทอสเทอโรนในผู้ชายมักเป็นไปอย่างช้าๆ อัณฑะยังไม่ได้หยุดการสร้างเทสทอสเทอโรน เหมือนกับที่รังไข่หยุดสร้างฮอร์โมน ผู้ชายที่สุขภาพดีอาจสามารถสร้างอสุจิได้ดีจนกระทั่งถึงวัย 80 หรือมากกว่านั้น แต่หากผู้ชายมีโรคบางชนิด การเปลี่ยนแปลงของอัณฑะอาจเกิดขึ้นเร็วกว่านั้น ในวัย 45-50 และลดลงอย่างมากในวัย 70 สำหรับผู้ชายบางคน

 

ไม่ใช่แค่ฮอร์โมนเพศที่เป็นต้นเหตุ

นอกจากนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญยังไม่เชื่อว่า การลดลงของเทสทอสเทอโรนที่เกี่ยวกับอายุตามปกตินี้ เป็นหัวใจสำคัญอย่างเดียวของอาการ “วัยทอง” ในผู้ชาย เพราะถ้าเกี่ยวกัน ผู้ชายจะต้องพบกับอาการนี้ทุกคน–ซึ่งไม่ใช่ อาการนี้ซับซ้อน และแตกต่างกันไปในแต่ละคน รวมทั้งผู้ชายสูงอายุที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีเทสทอสเทอโรนต่ำ ยังมักมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น เป็นผู้ที่โรคประจำตัว อย่างโรคหัวใจ โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และเบาหวานชนิดที่สอง รวมถึงมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อย่างเช่นไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เครียด วิตกกังวล และนอนไม่พอ ผู้ชายบางคนยังมีปัญหาทางจิตใจที่เรียกกันว่า “วิกฤตวัยกลางคน (mid-life crisis)” ซึ่งเป็นอาการวิตกกังวลกับเรื่องอาชีพการงานและเรื่องส่วนตัว จนทำให้เกิดอาการซึมเศร้า และก็สามารถทำให้ฮอร์โมนเพศชายลดต่ำลงได้ด้วย ผู้เชี่ยวชาญจึงมักชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนอย่างเดียว ไม่ใช่สาเหตุหลักของอาการ “วัยทอง” ในผู้ชาย

 

การรักษาวัยทองในผู้ชาย

เนื่องจากอาการนี้ไม่มีนิยามที่ชัดเจน และไม่มีหลักฐานพอที่จะบ่งชี้ว่า “วัยทองในผู้ชาย” เป็นอาการที่ต้องรับการรักษา เหมือนกับวัยทองในผู้หญิง ผู้ชายที่พบกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่คล้ายกับวัยทองเหล่านี้ จึงมักได้รับการรักษาตามอาการที่มี เช่น คนที่เป็นโรคอ้วน ก็จะได้รับการสนับสนุนให้ลดน้ำหนัก คนที่เป็นเบาหวานหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ ก็จะได้รับการจัดการกับอาการเหล่านี้อย่างเหมาะสม เช่น การควบคุมน้ำตาในเลือด การใช้ยา ซึ่งเมื่อควบคุมอาการต่างๆ ได้ อาการวัยทองก็อาจจะดีขึ้น หรือหากไม่ดีขึ้น ก็อาจมีการพิจารณาใช้ฮอร์โมนบำบัดเพื่อทดแทนเทสทอสเทอโรนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่วิธีปฏิบัติที่จำเป็นเหมือนการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนในผู้หญิง การใช้ฮอร์โมนบำบัดในผู้ชาย มักจะใช้เมื่อมีการตรวจยืนยันแล้วว่า ผู้ชายมีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายในระดับที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจริงๆ ซึ่งการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะช่วยให้คำตอบที่ดีที่สุดแก่คุณได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ