ไทยพบฟอสซิล “อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล” สายพันธุ์ใหม่ของโลก อายุกว่า 2.3 แสนปี

Home » ไทยพบฟอสซิล “อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล” สายพันธุ์ใหม่ของโลก อายุกว่า 2.3 แสนปี
ไทยพบฟอสซิล “อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล” สายพันธุ์ใหม่ของโลก อายุกว่า 2.3 แสนปี

เมื่อวานนี้ (18 ต.ค.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดนกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ร่วมกับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทือบิงเงิน ประเทศเยอรมนี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าวการค้นพบซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก ชื่อว่า “อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส” (Alligator munensis) หรือ “อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล” โดยค้นพบที่จังหวัดนครราชสีมา

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม-ประเทศไทย

การค้นพบซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ เกิดจากการที่กรมทรัพยากรธรณีได้รับแจ้งจากผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2548 จากนั้นทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทือบิงเงิน จึงได้ทำงานร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการตรวจสอบซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าว และพบว่าเป็นกะโหลกของสัตว์โบราณ 1 ชิ้น กรามสัตว์โบราณ 2 ชิ้น และกระดูกสัตว์โบราณ 5 ชิ้น

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม-ประเทศไทย

หลังจากได้ศึกษาซากดึกดำบรรพ์กะโหลกสภาพเกือบสมบูรณ์ของอัลลิเกเตอร์ ก็พบว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก คาดว่ามีอายุในช่วงไม่เกินสมัยไพลสโตซีนตอนกลาง หรือประมาณ 230,000 ปีก่อน หรืออาจมีอายุน้อยกว่านั้น พร้อมกับให้ชื่อวิทยาศาสตร์กับการค้นพบนี้ว่า “อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส” (Alligator munensis) หรือ “อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล” 

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม-ประเทศไทย

อัลลิเกเตอร์ มีลักษณะคล้ายกับจระเข้ แต่แตกต่างกันตรงที่อัลลิเกเตอร์มีจะงอยปากเป็นรูปตัวยู ในขณะที่จระเข้มีจะงอยปากเรียวแหลมเป็นรูปตัววี ลักษณะเด่นเมื่อเทียบกับอัลลิเกเตอร์ชนิดอื่น คือ มีจะงอยปากกว้างและสั้นกว่า มีกะโหลกสูงกว่า มีตำแหน่งรูจมูกอยู่ห่างจากปลายจะงอยปาก มีการลดจำนวนเบ้าฟันลงและมีเบ้าฟันขนาดใหญ่ขึ้นบ่งบอกว่ามีฟันขนาดใหญ่ใช้สำหรับกินอาหารที่มีเปลือกแข็ง เช่น หอยน้ำจืดชนิดต่าง ๆ จากขนาดกะโหลกคาดว่ามีขนาดทั้งตัวยาวประมาณ 1 – 2 เมตร

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม-ประเทศไทย

นอกจากนี้ยังพบว่าลักษณะกะโหลกใกล้เคียงกับอัลลิเกเตอร์จีนในปัจจุบัน (Alligator sinensis) แสดงให้เห็นว่าอัลลิเกเตอร์ทั้งสองชนิดอาจมีบรรพบุรุษร่วมกันระหว่างลุ่มน้ำแยงซีและลุ่มน้ำแม่โขง-เจ้าพระยา แต่การเกิดธรณีแปรสัณฐานทำให้เกิดการยกตัวของที่ราบสูงธิเบต ส่งผลให้เกิดการแยกประชากรทั้งสองชนิดออกจากกัน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูลเกิดการสูญพันธุ์ไปก่อน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ