หลังการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 3 ของ “พรรคประชาธิปัตย์” เพื่อเลือก “หัวหน้าพรรค” และคณะกรรมการชุดใหม่ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา และผลการลงคะแนนของสมาชิกพรรคทั้งหมด 260 คน ก็มีมติเลือก “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 ทำให้เกิดเป็นแรงกระเพื่อมและเสียงคัดค้านจากสมาชิกในพรรคอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สมาชิกบางส่วนตัดสินใจ “ลาออก” จากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์
- ไม่พลิกโผ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 แบบไร้คู่แข่ง
- เปิดประวัติ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9
แล้วใครบ้างที่ตัดสินใจโบกมือลาพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ Sanook รวบรวมรายชื่อมาให้แล้ว
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ในที่ประชุม ชวน หลีกภัย ได้เสนอชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เพื่อขึ้นชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกครั้ง แต่ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น เมื่ออภิสิทธิ์ขอพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับเฉลิมชัย ด้วยสีหน้าขึงขังอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และภายหลังการพูดคุย อภิสิทธิ์ก็ได้ประกาศไม่ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค พร้อมขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์
- “อภิสิทธิ์” ลาออก ปชป. หลังเคลียร์ใจ ”เฉลิมชัย” ยันกรีดเลือดเป็นสีฟ้า-ไม่ไปพรรคอื่นแน่
สาทิตย์ ปิตุเตชะ
ต่อมา สาทิตย์ ปิตุเตชะ อดีต สส.จังหวัดระยอง ก็ได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว ระบุขอลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ หลังอุดมการณ์ของพรรคเริ่มสั่นคลอนจนแปรเปลี่ยนจนกระทบจุดยืนทางการเมืองของตัวเอง
“สจฺจํ เว อมตา วาจา (คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย) เป็นคำพูด หรือสัญญาที่ให้ใว้ต่อประชาชน ต่อสาธารณ ของนักการเมือง เปรียบเหมือนนโยบาย และสัจจะวาจาที่ต้องรักษา และเป็นพื้นฐานสำคัญของนักการเมืองที่ดี หากไม่ให้ความสำคัญ หรือไม่เคารพสัจจะ วาจาของตัวเองที่ ให้สัญญาใว้กับประชาชน อย่่าว่าแต่เป็นผู้บริหารพรรค เป็นนักการเมืองก็ไม่ได้แล้ว
พรรคการเมืองเป็นที่รวมกันของกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์ตรงกันเมื่อ หมดสิ้นไปแล้วจากอุดมการณ์ และจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน และไม่รักษาสัจจะวาจา และสัญญาประชาคม หรือสัญญาที่ให้ใว้กับประชาชน ผมก็ไม่เหลือความผูกพันใดๆ ให้กับพฤติกรรมเช่นนี้ อีกต่อไป”
ทันตแพทย์สุรันต์ จันทร์พิทักษ์
เช่นเดียวกับทันตแพทย์สุรันต์ จันทร์พิทักษ์ อดีต สก.และอดีต สส. กรุงเทพฯ ก็โพสต์รูปภาพบนเฟสบุ๊กแจ้งขอลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมแคปชั่น “ผมยยังมีอุดมการณ์มั่นคงครับ”
อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์
อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ อดีต สส. และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เป็นอีกคนที่ตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค โดยได้โพสต์ข้อความบนเฟสบุ๊ก ขอบคุณอภิสิทธิ์ที่เป็นแบบอย่างนักการเมืองที่ดี พร้อมระบุว่าเลือดสีฟ้า กรีดมายังไงก็ฟ้า
“ตุ๋ยยังคงรักพรรคไม่เสื่อมคลาย แม้วันนี้ต้องตัดสินใจที่ฝืนความรู้สุก ด้วยการลาออกจากสมาชิกพรรคที่รักที่สุด แต่จะไม่ไปไหน ยังคงอยู่ตรงนี้ เฝ้ามองด้วยความหวังดีและห่วงใยตลอดไปค่ะ”
วิบูลย์ ศรีโสภณ
ขณะที่วิบูล์ ศรีโสภณ ที่สมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ตลอดชีพ ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2541 ก็ได้ทำหนังสือลาออกตั้งแต่วันที่เฉลิมชัยขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค โดยในหนังสือลาออกของวิบูลย์ได้ให้เหตุผลในการลาออกว่า
- อุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ เปลี่ยนไป เน้นใช้เงินสร้างพรรคและสส.ในสมาชิกพรรค
- หัวหน้าพรรคตระบัตสัตย์ ไม่รักษาคำพูด ไม่สามารถให้การเคารพได้อีกต่อไป
- หัวหน้าพรรคสร้างทัศนคติให้สส.ในพรรคขาดความเคารพ กระด้างกระเดื้องกับอดีตหัวหน้าพรรค สร้างความแตกแยกในพรรค ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนตลอด 77-78ปี
สาธิต วงศ์หนองเตย
ด้าน สาธิต วงศ์หนองเตย อดีต สส. จังหวัดตรัง ก็เป็นอีกคนที่ออกมาเคลื่อนไหวและประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โดยได้โพสต์รูปภาพและข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า
“คิดหนักมา 2 วัน แม้ยังยึดมั่นในอุดมการณ์ แต่ในวันที่จิตวิญญาณประชาธิปัตย์มิอาจเปล่งประกาย หลังหารือทีมงานที่สู้ร่วมกันมากว่า 28 ปี จึงตัดสินใจลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์”
- ด่วน! โบกมือลาอีกคน “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ลาออกสมาชิกประชาธิปัตย์
ธนวัช ภูเก้าล้วน
ธนวัช ภูเก้าล้วน อดีตผู้สมัคร สส. จังหวัดกระบี่ เขต 1 ก็โพสต์ข้อความประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน กล่าวขอบคุณความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชน 30,877 เสียงที่เคยเลือก พร้อมเป็นกำลังใจให้คณะกรรมการบริหารพรรคปี 2566 ชุดใหม่ ให้กอบกู้พรรคฟื้นศรัทธาจากพี่น้องประชาชน