โสมใต้โวยลั่น แผนใช้เงินแหล่งอื่นเยียวยาเหยื่อแรงงานจักรวรรดิญี่ปุ่น

Home » โสมใต้โวยลั่น แผนใช้เงินแหล่งอื่นเยียวยาเหยื่อแรงงานจักรวรรดิญี่ปุ่น



โสมใต้โวยลั่น แผนใช้เงินแหล่งอื่นเยียวยาเหยื่อแรงงานจักรวรรดิญี่ปุ่น

โสมใต้โวยลั่น – วันที่ 12 ม.ค. รอยเตอร์รายงานว่า เกิดกระแสความไม่พอใจในสังคมชาวเกาหลีใต้หลังรัฐบาลประกาศแผนจะนำเงินงบประมาณมาใช้เยียวยาชาวเกาหลีที่เคยตกเป็นเหยื่อถูกใช้แรงงานโดยกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น เนื่องจากฝ่ายญี่ปุ่นยังคงเพิกเฉย

ความไม่พอใจเกิดขึ้นหลังศาลสูงสุดของเกาหลีใต้มีคำสั่งให้เหล่าเอกชนของญี่ปุ่นร่วมกันชดใช้เยียวยาเมื่อปี 2561 ให้กับบรรดาชาวเกาหลีและครอบครัวของผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อใช้แรงงานกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ไม่เคยมีบุคคลใดได้รับการเยียวยา

แผนดังกล่าวได้รับการเสนอขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ โดยจะใช้เงินจากมูลนิธิที่บรรดาเอกชนเกาหลีใต้ซึ่งได้รับประโยชน์จาก “สนธิสัญญาพื้นฐานว่าด้วยการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้” เมื่อปี 2508 ร่วมกันก่อตั้งขึ้นมาใช้

สนธิสัญญาดังกล่าวทำให้ญี่ปุ่นมอบเงินช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1 หมื่นล้านบาท และเงินกู้อีก 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 1.7 หมื่นล้านบาท ให้กับทางการเกาหลีใต้ ทั้งหมดในนามของ “ค่าปฏิกรรมสงคราม” (reparation fee)

มูลนิธิเพื่อเหยื่อผู้ถูกใช้แรงงานโดยจักรวรรดิญี่ปุ่น ระบุว่า สามารถหาเงินเข้ากองทุนได้แล้วราว 3.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 100 ล้านบาท

นายโซ มินจุง อธิบดีกรมกิจการเอเชียแปซิฟิก ระบุว่า การนำเงินเข้ากองทุนข้างต้นสามารถทำได้โดยบริษัทเอกชน “ในนามผู้แทน” ของเอกชนญี่ปุ่น ถือเป็นการแก้ไขปัญหาทางตันที่เกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์

ขณะที่นายฮิโรซาคุ มัตสึโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น (เทียบเท่าโฆษกสูงสุดรัฐบาลญี่ปุ่น) ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นในประเด็นที่เกิดขึ้น โดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องภายในของเกาหลีใต้

นายชิม คูซุน ประธานมูลนิธิ ระบุว่า จะเดินหน้าสนับสนุนให้บรรดาเอกชนเกาหลีใต้ร่วมกันบริจาคเงินเข้ากองทุนในนามของความรับผิดชอบต่อสังคม

กรณีพิพาทดังกล่าวสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสมัยกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นยึดครองคาบสมุทรเกาหลีระหว่างปี 2453 ถึง 2488 สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และบีบบังคับให้ชาวเกาหลีเป็นแรงงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนรวมถึงนางบำเรอให้กับทหารจักรวรรดิญี่ปุ่น

โดยมักกลายเป็นประเด็นขัดแย้งรุนแรงระหว่างทั้งสองชาติ คำพิพากษาของศาลสูงสุดของเกาหลีใต้เมื่อปี 2561 ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศดำดิ่งลงถึงจุดต่ำสุดจนกลายเป็นการใช้มาตรการด้านการค้าตอบโต้กันไปมา

ทางการญี่ปุ่น มองว่า กรณีพิพาทข้างต้นนั้นจบไปแล้วเนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นในเวลานั้นจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามไปตามสนธิสัญญา ขณะที่เอกชนญี่ปุ่นนั้นทยอยถอนสินทรัพย์ออกจากเกาหลีใต้ทั้งหมดเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกยึดทรัพย์จากสำนักบังคับคดี

นายโซ ระบุว่า รัฐบาลเกาหลีใต้จะปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดกับเหยื่อและครอบครัวของเหยื่อก่อนจะตัดสินใจขั้นต่อไป แต่ยอมรับว่าข้อเสนอที่เกิดขึ้นนั้นให้ความสำคัญกับการหาเงินมาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ดี เหยื่อบางคนแสดงความเห็นต่อต้านข้อเสนอดังกล่าวทันที เนื่องจากมองว่าจะเป็นการทำให้ทางการญี่ปุ่นลอยนวลไม่ต้องจ่ายเงินหรือแม้กระทั่งกล่าวขอโทษต่อเหยื่อ

“เป็นไอเดียที่ทำให้ญี่ปุ่นไม่ต้องรับผิดอะไรเลย” ทนายของเหยื่อรายหนึ่งระบุ พร้อมโจมตีรัฐบาลเกาหลีใต้ว่ากำลังทำลายความไว้วางใจของเหยื่อที่มีต่อรัฐบาล

นายคิม ยงฮวน หนึ่งในเหยื่อถูกกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นใช้แรงงาน กล่าวว่า ตนต้องการคำขอโทษและเงินเยียวยาในฐานะสัญลักษณ์ของการยอมรับผิด เพราะไม่ว่าอย่างไร วัยหนุ่มที่ตนสูญเสียไปนั้นไม่มีใครสามารถนำกลับมาได้แล้ว

ข้อเสนอดังกล่าวจัดขึ้นที่สมัชชาแห่งชาติ (รัฐสภาเดี่ยวของเกาหลีใต้) ซึ่งเปิดให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องเข้ารับฟังได้ โดยระหว่างการนำเสนอนั้นมีเหยื่อและครอบครัวของเหยื่อตะโกนด่าทอเจ้าหน้าที่รัฐ และชูป้ายข้อความ “ญี่ปุ่น(ต้อง)ขอโทษ”

นอกจากนี้ ยังมีบรรดานักกิจกรรมเดินขบวนที่ด้านนอกอาคารโจมตีรัฐบาลญี่ปุ่นที่ไม่ยอมขอโทษและข้อเสนอของรัฐบาลเกาหลีใต้

ทั้งนี้ สนธิสัญญาฯข้างต้นเมื่อปี 2508 มีเนื้อหาระบุให้ถือว่า การชดเชยทั้งหมดเป็นที่สิ้นสุดอย่างสมบูรณ์ แต่เงินที่ญี่ปุ่นมอบให้นั้นส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ฟื้นฟูโครงข่ายสาธารณูปโภคพื้นฐานและเศรษฐกิจหลังสงครามเกาหลีระหว่างปี 2493 ถึง 2496

ต่อมาบรรดาชาวเกาหลีที่เคยตกเป็นเหยื่อของจักรวรรดิญี่ปุ่นเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องเงินเยียวยาช่วงปี 2533 กลายเป็นประเด็นบาดหมางระหว่างสองชาติตลอดมา ท่ามกลางภัยคุกคามความมั่นคงที่เพิ่มขึ้นจากเกาหลีเหนือ จีน และรัสเซีย สร้างความไม่สบายใจให้ทางการสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ ประธานาธิบดียุน ซ็อกยอล ผู้นำคนใหม่ของเกาหลีใต้ ยังประกาศไว้ว่าจะยกระดับความร่วมมือกับญี่ปุ่น โดยทั้งสองฝ่ายประชุมร่วมกันเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนก.ย. 2565 นับตั้งแต่ปี 2562

โดยล่าสุดเป็นการเยือนกรุงโตเกียวของคณะสมาชิกผู้แทนราษฎรเกาหลีใต้บางส่วน และนายมัตสึโนะ กล่าวชื่นชมว่า เป็นความเคลื่อนไหวที่มีนัยสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ