“แพทย์ครอบครัว” เคล็ดลับความสุขแบบเวชศาสตร์ครอบครัว

Home » “แพทย์ครอบครัว” เคล็ดลับความสุขแบบเวชศาสตร์ครอบครัว



“แพทย์ครอบครัว” เคล็ดลับความสุขแบบเวชศาสตร์ครอบครัว

หากพูดถึงความสุข ถ้าจะให้คุณลองหลับตาแล้วนึกถึงคนที่ทำให้คุณมีความสุขที่สุด เชื่อว่าคำตอบของหลายคนย่อมเป็นลูก คนรัก พ่อแม่พี่น้อง น้องหมาและน้องแมวที่บ้านซึ่งล้วนแต่เป็นสมาชิกในครอบครัวทั้งสิ้น

แพทย์หญิงมนฑรัตม์ เจนทวีพรกุล แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลวิมุต พหลโยธิน แนะนำให้คุณรู้จักกับใครอีกคน ที่พร้อมจะทำให้ดูแลความสุขให้กับคุณ อันที่จริงไม่ใช่แค่คุณแต่เป็นครอบครัวของคุณด้วย

ไม่ใช่แค่หมอ แต่ขอเป็นคนในบ้าน

คำว่า “แพทย์ครอบครัว” หรือ “Fam med” อาจไม่ใช่คำที่คนไทยคุ้นเคยนัก แพทย์หญิงมนฑรัตม์ กล่าวถึงบทบาทของแพทย์ครอบครัวแบบเข้าใจง่ายๆ “แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว แปลตรงตัวคือแพทย์ประจำครอบครัว คือแพทย์ที่ไม่ดูแลคนไข้แค่คนเดียว แต่รู้ประวัติ ความเสี่ยงของคนไข้ทั้งครอบครัว ให้การดูแลครอบคลุมตั้งแต่แรกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรค หากเกิดโรคจะดูแลรักษาโรคเรื้อรังตามช่วงอายุของสมาชิกแต่ละคน ดูแลจนไปถึงผู้ป่วยเข้าวัยชราและจนถึงผู้ป่วยระยะท้าย หมอครอบครัวจะเป็นผู้ตรวจรักษาแต่แรกทุกเรื่อง ต้องเป็นแพทย์ที่เก่งในการค้นหาโรคและการวินิจฉัย หากจำเป็นต้องส่งต่อแพทย์เฉพาะทางก็จะให้คำแนะนำเบื้องต้นตลอดจนช่วยประสานส่งต่อข้อมูลให้เชื่อมถึงแพทย์เฉพาะทางอย่างถูกต้องและรวดเร็ว

“หมอครอบครัวไม่ได้รักษาเพียงโรคทางกาย เรามีความเข้าใจถึงความยากลำบากที่ผู้ป่วยและครอบครัวต้องเผชิญ เข้าใจความทุกข์ ความกลัว ความรู้สึกกังวลต่างๆ มีการวางแผนร่วมกับคนในครอบครัวถึงแนวทางในการรักษาและบรรเทาความทุกข์ใจทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทั้งนี้การให้บริการต้องทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงแพทย์ได้ง่าย รับปรึกษาทางโทรศัพท์ปรึกษาเบื้องต้นได้ทุกเรื่อง รวมถึงหากมีคนเจ็บป่วยนอนติดเตียงอยู่ที่บ้าน ก็มีบริการเยี่ยมดูแลผู้ป่วยที่บ้าน มุ่งเป้าไปที่ดูแลให้ผู้ป่วยกลับมาช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุด หรือเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวให้ได้มากที่สุด”

“ระบบในประเทศไทย โรงพยาบาลเอกชนยังไม่มีแพทย์ประจำครอบครัว แต่ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย หากเราเจ็บป่วยจะไปหาหมอคนอื่นเลยไม่ได้ ต้องพบหมอประจำครอบครัวก่อนเพื่อประเมินและรักษาเบื้องต้น เช่น กรณีผู้ป่วยปวดท้องอาจไม่ทราบว่าต้องพบหมอศัลยกรรมทางเดินอาหารหรือหมออายุรกรรมดี ต้องส่องกล้องกระเพาะอาหารหรือลำไส้ไหม ปวดท้องแบบนี้ต้องผ่าตัดรึเปล่า ในต่างประเทศจะมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้บริการเบื่องต้นก่อน หากไม่จำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมก็ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์เฉพาะทาง ในประเทศไทย ภาครัฐเองมีนโยบายให้คนไทยมีหมอครอบครัวประจำตัว 3 คน คือ อสม.เป็นหมอใกล้ตัว หมอสาธารณสุขหรือบุคลากรในสถานบริการปฐมภูมิ และหมอครอบครัว”

ไม่มีโรคภัย = ปัจจัยสร้างความสุข  

“การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ การตรวจสุขภาพคือพื้นฐานการสร้างความสุขให้ทุกคนในบ้านค่ะ เมื่อสุขภาพกายและใจแข็งแรงชีวิตเราก็โชคดีไปเกินครึ่งแล้ว แต่หากตรวจสุขภาพแล้วเจอว่าป่วยเป็นโรคเรื้อรังก็อย่าได้ท้อใจ การสื่อสารให้ผู้ป่วยเข้าใจสถานการณ์และยอมรับตัวโรคสำหรับหมอนั้นสำคัญมาก เมื่อเรายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เรียนรู้ที่จะปรับตัวให้อยู่กับโรคเรื้อรังนี้ได้ ความทุกข์ใจก็จะน้อยลงมาก ความสุขก็จะตามมาถึงแม้ว่าจะมีโรคประจำตัวอยู่ก็ตาม หากวันใดวันนึงป่วยเป็นโรคหนักๆ ถึงขั้นรักษาไม่หายขาด ในฐานะแพทย์ รักษาไม่หายไม่ได้แปลว่าหยุดรักษา เรายังรักษาเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวไม่ให้ทุกข์ทรมาน คอยดูแลลดความทุกข์ให้มากที่สุดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต”

 “หมอไม่ได้กำหนดว่าครอบครัวนี้ควรจะทำอะไรแล้วจะมีความสุข แต่จะกระตุ้นให้คนไข้คิดถึงกิจกรรมที่ทำแล้วหัวใจเขาเบ่งบาน ฟู ผ่อนคลายพร้อมกับครอบครัวชื่นชอบ ก็จะแนะนำให้ทำกิจกรรมเหล่านั้น จะดูหนังด้วยกัน เล่นดนตรีด้วยกัน อะไรก็ได้ที่ได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันแล้วคุ้มค่า ใช้เวลาแล้วรู้สึกสร้างความเพลิดเพลินแบบที่ทุกคนประทับใจและอยากจดจำช่วงเวลาเหล่านี้ ยิ่งถ้าเป็นกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นยิ่งดี ออกกำลังกายด้วยกันเป็นทีมนี่ก็ดี”

แพทย์หญิงมนฑรัตม์ แนะนำว่าวิธีสร้างความสุขให้กับตนเองเอาไว้ว่า “ความคิดและจิตใจตนเองค่ะ อะไรที่ผ่านมาอย่าเก็บมาคิด คิดไปก็ซึมเศร้า คิดไปก็ย้อนเวลาไม่ได้ อะไรยังไม่เกิดก็อย่าเก็บมากังวล คิดไปก็อยู่ในโลกของอนาคตยังไม่ได้เกิดจริงอยู่ดี ความคิดเราต้องอยู่กับปัจจุบันจะมีความสุขที่สุด”

“ไม่ใช่แค่หมอคนเดียวนะคะ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวทุกคนก็เป็นแบบนี้ค่ะ เพราะส่วนหนึ่งในการเรียนของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวคือการเรียนเพื่อให้เข้าถึงจิตใจคน ไม่ใช่เพียงแต่วินิจฉัยโรคทางกายอย่างเดียว ต้องประเมินทางใจด้วย และที่สำคัญงานของเวชศาสตร์ครอบครัวเราเน้นการป้องกันด้วยค่ะ ไม่ได้รอป่วยแล้วค่อยมานั่งแก้ไขปัญหา”

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ