เอ๊า! พ่อทิ้งพินัยกรรมไว้ 19 ฉบับ ลูกหลานตีกันแย่งมรดก สุดท้ายถูกตัดสินเป็นโมฆะทั้งหมด

Home » เอ๊า! พ่อทิ้งพินัยกรรมไว้ 19 ฉบับ ลูกหลานตีกันแย่งมรดก สุดท้ายถูกตัดสินเป็นโมฆะทั้งหมด
เอ๊า! พ่อทิ้งพินัยกรรมไว้ 19 ฉบับ ลูกหลานตีกันแย่งมรดก สุดท้ายถูกตัดสินเป็นโมฆะทั้งหมด

พ่อทิ้งพินัยกรรมไว้ 19 ฉบับ ลูกหลานตีกันอุตลุดเรื่องทรัพย์สิน สุดท้ายเพราะเหตุผลหนึ่ง ผู้พิพากษาตัดสินให้พินัยกรรมทั้งหมดเป็นโมฆะ

การเขียนพินัยกรรมก่อนเสียชีวิต และการแบ่งสรรทรัพย์สินอย่างเหมาะสม เป็นการป้องกันสมาชิกในครอบครัวไม่ให้วิวาทกัน หรือแม้แต่ขึ้นศาลเรื่องมรดก

เว็บไซต์ HK01 รายงานว่า เรื่องราวของชายชราวัย 80 ปี ชาวเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน หลังจากเขาทำให้ลูกๆ และหลานทะเลาะกันเรื่องมรดก เนื่องจากในช่วง 4 ปี ก่อนเขาเสียชีวิต ชายชราเขียนพินัยกรรมไว้ถึง 19 ฉบับ

ตามรายงานของสื่อท้องถิ่น ระบุว่า หลังจากชายวัย 80 ปี ชื่อเฉา ซึ่งอาศัยอยู่ในเซี่ยงไฮ้ เสียชีวิตในปี 2564 ลูกสาวสองคนของเขาได้ยื่นฟ้องคดีทรัพย์สิน

ที่มาของเรื่องคือชายชราเขียนพินัยกรรม 19 ฉบับ ในระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2556 – 2560 และแบ่งทรัพย์สินให้กับลูกสาว 2 คน และหลานสาว 1 คน ตามลำดับ แต่เนื้อหาขัดแย้งกันและทำให้เกิดความสับสนในที่สุด

ผู้รับผลประโยชน์ในพินัยกรรมฉบับที่ 1 ซึ่งเป็นลูกสาวคนที่ 2 ของชายชรา มีข้อพิพาทเรื่องมรดกกับลูกสาวคนโตและหลานสาว ซึ่งลูกสาวคนที่ 2 เชื่อว่าพินัยกรรมของเธอถูกต้อง

หลังจากประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญด้านลายมือแล้ว ศาลก็ยืนยันว่าพินัยกรรมทั้ง 19 ฉบับ เป็นของชายชราจริง อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษายังพบว่าชายชรามีความสามารถจำกัดในระหว่างกระบวนการทำพินัยกรรม และต้องมีผู้ปกครองจัดการเรื่องแทนเขา

ต่อมาผู้พิพากษาได้ไปเยี่ยมบ้านพักคนชรา 2 แห่ง ที่ชายชราอาศัยอยู่ก่อนเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ยังยืนยันว่าสติของชายชราเริ่มเลอะเลือนแล้ว และเนื่องจากชายชราเป็นโรคอัลไซเมอร์ จึงเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินว่าเขามีความสามารถทางแพ่งในการเขียนพินัยกรรม

สุดท้ายผู้พิพากษาตัดสินให้พินัยกรรมทั้งหมดเป็นโมฆะ และทรัพย์สินจะได้รับการจัดการตามลำดับทางกฎหมายในการสืบทอด

คดีความดังกล่าวยืดเยื้อมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว ลูกสาว 2 คนและหลานสาวของชายชราเพิ่งบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้าย

ลูกสาวคนที่ 2 ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินจะได้รับส่วนแบ่งอสังหาริมทรัพย์ 50 เปอร์เซ็นต์ และต้องเสียภาษีมรดก ในขณะที่ลูกสาวคนโตและหลานสาวจะได้รับมรดก คนละ 25 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นการยุติคดีพิพาททรัพย์สินแปลกประหลาดนี้

ในกรณีนี้ผู้พิพากษาเตือนประชาชนว่า หากมีผู้สูงอายุในครอบครัวที่ป่วยและต้องการทำพินัยกรรม ควรไปที่ศาลหรือสำนักงานทนายความเพื่อยืนยันว่าผู้สูงอายุมีความสามารถในการทำพินัยกรรมได้  แล้วทำพินัยกรรมกับพยานบุคคลภายนอกเพื่อหลีกเลี่ยงข้อโต้แย้ง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ