“เหมือนอยู่ในสงคราม” เรื่องเล่าจากพยาบาลด่านหน้า โรงพยาบาลบุษราคัม

Home » “เหมือนอยู่ในสงคราม” เรื่องเล่าจากพยาบาลด่านหน้า โรงพยาบาลบุษราคัม
“เหมือนอยู่ในสงคราม” เรื่องเล่าจากพยาบาลด่านหน้า โรงพยาบาลบุษราคัม

ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่จำนวนเตียงรองรับผู้ป่วย รวมถึงกำลังทีมแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลกลับมีเท่าเดิม ทำให้เกิดปัญหาผู้ป่วยเสียชีวิตอยู่ภายในบ้านเพิ่มมากขึ้น สถานการณ์ที่เลวร้ายเช่นนี้ทำให้ภาครัฐต้องเร่งรับมือแก้ไข กระทั่งเกิดเป็น “โรงพยาบาลบุษราคัม” โรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เพื่อรองรับและทำการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีมากขึ้น โดยเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 

เนื่องจากกำลังพลสาธารณสุขในเขตพื้นที่กรุงเทพและใกล้เคียงมีไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้น ทำให้ต้องมีการเรียกตัวบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศให้มา “ช่วยปฏิบัติงาน” ในสถานการณ์ที่บีบคั้นและน่าสลดใจ Sanook พูดคุยกับพยาบาลด่านหน้า 2 คน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวและความเป็นไปภายในโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่แห่งนี้ อย่างไรก็ตาม พยาบาลทั้งสองไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อจริงในบทความนี้ เราจึงขอใช้ชื่อมาลีและนิดหน่อยแทนชื่อจริงของพวกเธอ 

เดินทางสู่โรงพยาบาลบุษราคัม 

โรงพยาบาลบุษราคัมตั้งอยู่ภายในอาคารชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี และมีพื้นที่มากกว่า 100,000 ตารางเมตร โดยมีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของโรงพยาบาลที่พร้อมรองรับผู้ป่วย พร้อมด้วยระบบโรงพยาบาลดิจิทัล (Digital Hospital) เพื่อให้แพทย์และพยาบาลสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยได้ตลอดเวลา โดยไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19

“เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่มาก มีชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1,2,3 แล้วก็แบ่งโซนสีคนไข้ ซึ่งแยกตามอาการ คนไข้ที่ต้องใส่ท่อ ICU หรือว่ามาแบบไม่รู้สึกตัวเลย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจทันที เราก็จัดให้เป็นคนไข้สีแดงอยู่ฮอลล์ 1 พอมาฮอลล์ 2 ก็เป็นคนไข้ที่ต้องใช้ออกซิเจน ส่วนฮอลล์ 3 ก็จะเป็นคนไข้ที่ช่วยเหลือตัวเองได้มาก แล้วก็อาการไม่มาก เราก็จะเรียกว่าเป็นคนไข้โซนเขียว” มาลีเริ่มเล่า 

เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่ และสามารถรองรับผู้ป่วยได้มากกว่า 3,700 เตียง ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องขอความช่วยเหลือไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศให้ส่งเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์มาช่วยในส่วนนี้ นิดหน่อยเล่าว่า การคัดเลือกว่าจะให้ใครมาช่วยปฏิบัติงานก็มีความแตกต่างกันไป บางคนก็สมัครใจมาเอง ในขณะที่หลายคนก็ต้องจับสลาก หรืออาจถูกผู้บังคับบัญชาเรียกตัวก็มี 

เขาบอกว่ากำลังคนของบุษราคัมขาด และเขาต้องการคนต่างจังหวัดมาช่วยงานเยอะขึ้น เราก็สงสัยว่าทำไมต้องเอากำลังจากต่างจังหวัดมาช่วยเยอะขนาดนี้ จนมาเห็นเราถึงได้รู้ เพราะมันใหญ่มาก มี 3,000 กว่าเตียง เราเลยได้เห็นทั้งพยาบาลวิชาชีพ หมอ นักเทคนิคการแพทย์ เภสัชกร คือบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมดที่มาทำหน้าที่ป้องกันโรคระบาด มาทำหน้าที่รักษา” มาลีกล่าว 

พยาบาลทั้งสองยอมรับว่าการปฏิบัติงานที่นี่ทำให้พวกเธอรู้สึกกลัวและกังวล เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ แต่ด้วยหน้าที่ของตัวเองแล้ว พวกเธอก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด และป้องกันตัวเองให้มากที่สุด 

แม้แต่ผู้ป่วยก็ต้องช่วยกันดูแล

เมื่อเป็นโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่ การติดต่อสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 หมอและพยาบาลจึงดูแลผู้ป่วยผ่านกล้องวงจรปิด และใช้โทรศัพท์เป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสาร แต่คนไข้จำนวนมากที่เข้ามาในโรงพยาบาลบุษราคัม กลับสวนทางกับจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ นั่นทำให้พวกเขาต้องพยายามช่วยเหลือกันเองมากที่สุด เพื่อทำให้ตัวเองมีชีวิตรอด 

“หลัก ๆ งานของเราคือต้องไปนั่งดูหน้าจอ CCTV ซึ่งจะมีให้ดูแต่ละโซน แต่กล้องมันก็มีบางมุมที่อับ มองไม่เห็นคนไข้” นิดหน่อยเล่า “คือตอนรับคนไข้ใหม่ พยาบาลก็จะสอบถามอาการ ซักประวัติว่ามีอาการอย่างไร มากับใคร เอ็กซเรย์หรือยัง แล้วก็ถามว่ามีโทรศัพท์ไหม ส่งไลน์เป็นไหม ถ้าใครมีโทรศัพท์ก็จะมีเบอร์โทร หรือถ้าไม่มีก็ต้องถามคนข้างเตียง พยาบาลจะตั้งผู้ใหญ่บ้านให้ ซึ่งเราต้องร้องขอหรือคุยกับเขาอย่างไรก็ได้เพื่อให้ผู้ใหญ่บ้านช่วยดูแลคนไข้ในโซนของตัวเอง”

“มันเป็นเรื่องสะเทือนใจเหมือนกัน คือเขามากันเป็นครอบครัว มีคุณย่าคุณยาย แล้วก็มีเด็ก ๆ ที่ต้องคอยดูแลคุณแม่ พอคุณแม่หอบ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็จะมีเด็ก ๆ เหล่านี้ไปเอาข้าว ไปเอาอาหารมาให้แม่ คือทุกคนต้องเรียนรู้ ไม่มีใครสามารถนอนอยู่เฉย ๆ ได้เลย เพราะอัตรากำลังที่จะมาดูแลคนไข้ทุกคนเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นทุกคนต้องช่วยเหลือตัวเอง แล้วมันจะมีจุดหนึ่งที่เราให้คนไข้ฝึกวัดความดันเอง หนีบออกซิเจนที่ปลายนิ้ว แล้วส่งข้อมูลให้พยาบาล ซึ่งเราก็จะใช้โทรศัพท์ติดต่อกับคนไข้ บางทีก็มีคนแก่ที่เขาใช้โทรศัพท์ไม่เป็น ใช้ไลน์ไม่เป็น เราก็จะโทรเข้าข้างเตียง ให้คนไข้ข้างเตียงช่วยดูแล” มาลีเสริม 

การออกรบแบบไร้อาวุธ

นิดหน่อยเล่าว่า เคสผู้ป่วยชายวัย 36 ปี ที่เสียชีวิตเพราะเครื่องไฮโฟลว์ออกซิเจนภายในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ ทำให้เธอรู้สึกสะเทือนใจเป็นอย่างมาก และทำให้เธอมองเห็นปัญหา “ความไม่พร้อม” ในการรับมือกับสถานการณ์โรคระบาด

“ผู้ป่วยอายุ 36 ปี เขาบอกว่าเขาไม่ไหวเเล้ว เขาเหนื่อย อันที่จริงคนไข้คนนี้ต้องย้ายโซน แต่เขาย้ายไม่ได้ เพราะเครื่องไฮโฟลว์ไม่เพียงพอ หาเตียงลงไม่ได้ แล้วคนไข้ก็เสียชีวิต ซึ่งพอเรามาดู เราจะเห็นว่าพยาบาลก็ขาด ข้อมูลก็ไม่สมบูรณ์ การส่งต่อก็ไม่ต่อเนื่อง แล้วพยาบาลเหนื่อยมาก บางวันเราต้องเจาะเลือดเยอะ ไม่มีที่รัดแขน เราก็ต้องใช้ถุงมือมัดแขนแทน คือสูงสุดคืนสู่สามัญ ทุกอย่างเหมือนเราอยู่ในภาวะสงคราม น้ำเกลือก็ให้ผสมเอง หรืออะไรแบบนี้” นิดหน่อยกล่าว 

จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีไม่พอกับจำนวนคนไข้ ทำให้พยาบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลบุษราคัมต้องทำงานอย่างหนัก โดยแต่ละคนต้องขึ้นเวรมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน อย่างไรก็ตาม แม้จะต้องใช้สรรพกำลังเยอะ แต่มาลีก็ระบุว่า ไม่มีบุคลากรทางการแพทย์คนไหนที่มาด้วยเงิน แต่ทุกคนมาด้วยใจ และการเข้ามาทำงานตรงนี้ก็ทำให้เธอได้มองเห็นความเสียสละของทุกคน ทว่า เธอก็มีความหวังว่า ทุกคนจะได้รับวัคซีนดี ๆ สักที

“เราได้ฉีดวัคซีนซิโนแวคสองเข็มที่รัฐบาลให้ เขาบอกให้ฉีดกระตุ้นเป็นแอสตร้าเซเนก้า เราก็ไม่อยากได้ เราก็อยากได้ของดี เราอยากได้ไฟเซอร์ ถ้าเรากลับไปที่บ้าน เราก็หวังว่าจะได้ฉีดไฟเซอร์นะ ถ้าไม่มีใครดักเอาไปเสียก่อน” มาลีทิ้งท้าย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ