เสียงสะท้อน ชาวประมงระยอง หลังน้ำมันรั่ว กระทบแล้ว สัตว์ทะเลลด

Home » เสียงสะท้อน ชาวประมงระยอง หลังน้ำมันรั่ว กระทบแล้ว สัตว์ทะเลลด


เสียงสะท้อน ชาวประมงระยอง หลังน้ำมันรั่ว กระทบแล้ว สัตว์ทะเลลด

เสียงสะท้อน ชาวประมงระยอง หลังน้ำมันรั่ว กระทบแล้ว สัตว์ทะเลลด วอนทุกฝ่ายจริงใจเปิดเผยความจริง ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดี มันไม่คุ้มกับเงินเยียวยา

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 27 ม.ค.65 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบ กลุ่มประมงเรือเล็กอ่าวตากวน ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง อยู่ห่างจากจุดน้ำมันรั่วประมาณ 18 กม. ซึ่งเป็นจุดขายอาหารทะเลสด และ เป็นจุดจอดเรือเล็กของชาวประมง พบว่ายังคงมีการเปิดขายอาหารทะเลสดตามปกติ โดยมีลูกค้าบางตา

นางน้ำนอง แก่นสาร อายุ 73 ปี แม่ค้าขายอาหารทะเลสด เปิดเผยว่า หลังจากที่เกิดเหตุน้ำมันรั่ว สร้างความวิตกให้กับพ่อค้าแม่ค้า รวมไปถึงชาวประมงเรือเล็ก เพราะเกรงว่าจะไม่มีคนซื้ออาหารทะเลเพราะกลัวปนเปืัอนคราบน้ำมัน หลังเกิดเหตุลูกค้ามักจะสอบถามว่า สัตว์ทะเลเปื้อนน้ำมันไหม ทำให้ยอดจำหน่ายเริ่มลดลง

ด้าน นายโกสิน เดชคุ้ม อายุ 40 ปี ชาวประมงเรือเล็กอ่าวตากวน เปิดเผยว่า หลังจากที่เกิดน้ำมันรั่ว ทางหน่วยงานที่สกัดคราบน้ำมันกลางทะเล ห้ามไม่ให้เรือประมงเข้าไปใกล้จุดน้ำมันรั่วโดยเด็ดขาด ซึ่งพบมีการใช้ทุ่นกั้นคราบน้ำมันในทะเล เป็นพื้นที่กว้างหลายพันไร่ เพื่อป้องกันคราบน้ำมันถูกพัดเข้าฝั่ง ซึ่งอยู่ห่างหลายกิโลเมตร เวลาลมทะเลพัดมายังได้กลิ่นฉุนของน้ำมันฟุ้งกระจาย

จากกรณีที่มีการออกมาแถลงว่า น้ำมันรั่วออกมาน้อยกว่าครั้งก่อนนั้น ถ้าดูจากคราบน้ำมันที่ลอยอยู่ ชาวประมงต่างก็ทราบดี และ เชื่อว่าจะมีปริมาณที่ไม่น้อยกว่าครั้งที่แล้ว กรณีที่คราบน้ำมันยังพัดเข้ามาไม่ถึงชายฝั่ง ก็เนื่องมาจากทิศทางของกระแสลมเพราะข่วงนี้ไม่ใช่ช่วงมรสุม ซึ่งเชื่อว่ายังไงก็พัดเข้าถึงแน่นอน จะเป็นแบบละอองน้ำมันที่ถูกสารละลาย หรือ คราบน้ำมันที่จับตัวจมลงสู่ก้นทะเล

ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการใช้สารเคมีละลายคราบน้ำมัน ก็เท่ากับทั้งสารเคมีและคราบน้ำมันก็ต้องจมลงก้นทะเล สิ่งแวดล้อมใต้ทะเลเสียหายหมด แค่หลังเกิดเหตุออกไปหาปลายังหาปลาไม่ได้เลยลดลงไปกว่าครึ่ง ชาวประมงเดือดร้อนกันทั่ว สารพันปัญหาทั้งน้ำมันแพง แล้วยังต้องมารับผลกระทบที่เกิดจากความประมาทอีก พอจะเริ่มหาปลาได้ดี ก็มาประสบกับชะตากรรมเดิมอีก ทั้งที่ผลกระทบครั้งที่แล้วเพิ่งเริ่มดีขึ้น ก็มาเกิดซ้ำขึ้นอีก

จึงขอฝากไปที่ภาครัฐควรจะมีมาตรการการตรวจสอบที่เข้มงวด เช่นเดียวกับผู้ประกอบการที่ควรตรวจสอบอุปกรณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อความเสียหายให้รอบคอบ ไม่ใช่พอเกิดเหตุแล้วค่อยมาล้อมคอก ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่ดี มันไม่คุ้มกับเงินเยียวยา เพราะกว่าจะฟื้นฟูต้องใช้เวลาเป็นสิบเป็นร้อยปี ความเดือดร้อนจึงตกอยู่กับอาชีพชาวประมงเรือเล็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ