เลือก สว. 67 : กกต. แจงรายละเอียดขั้นตอน เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้แสดงในการสมัครรับเลือกเป็น สว.

Home » เลือก สว. 67 : กกต. แจงรายละเอียดขั้นตอน เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้แสดงในการสมัครรับเลือกเป็น สว.

‘สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ที่ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม’

สว. จำนวน 200 คน นั้นมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายของสังคม จำนวน 20 กลุ่ม

เมื่อผู้ที่ประสงค์สมัครรับเลือกเป็น สว. ทราบกลุ่มที่เหมาะสมกับตนเองแล้วในขั้นตอนต่อไป คือ การติดต่อขอรับแบบใบสมัคร และ การเตรียมเอกสารหลักฐานซึ่งทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศกำหนดวันรับสมัครรับเลือก และวันเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ในแบบ สว. 1 (ภายใน 5 วันนับตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลใช้บังคับ)

ส่วนสถานที่ในการรับสมัครผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ จะประกาศสถานที่รับสมัครตามแบบ สว.อ.9 (ภายในวันถัดจากวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดวันรับสมัครรับเลือก(แบบ สว.1)) โดยผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอปิดประกาศแบบ สว.1 และแบบ สว.อ.9 ไว้ที่ว่าการอำเภอ และ เผยแพร่ทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

ขั้นตอนก่อนการสมัครรับเลือก

ผู้ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกเป็น สว. สามารถไปติดต่อขอรับใบสมัคร พร้อมแบบข้อมูลแนะนำตัว และแบบหนังสือรับรองความรู้ฯ ด้วยตัวเอง ได้ที่สำนักทะเบียนอำเภอทุกแห่ง หรือ สำนักทะเบียนท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ได้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2567

โดยต้องมีหลักฐานแสดงตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้

  • บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ
  • บัตร หรือ หลักฐานอื่นที่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ โดยมีรูปถ่ายและเลขประจำตัวประชาชนของผู้ถือบัตร
  • หลักฐานภาพอิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดผ่านแอปพลิเคชันของหน่วยงานรัฐ

เมื่อผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นสว. ติดต่อขอรับเอกสารการสมัครจากสำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่จะดำเนินการจัดเก็บข้อมูลของผู้ประสงค์จะสมัครไว้ในระบบบริหารจัดการการเลือก เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการจัดทำข้อมูลสำหรับการสมัครและการบริหารจัดการการเลือกแต่ละระดับต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อยืนยันตัวตนเรียบร้อย เจ้าหน้าที่จะมอบแบบเอกสารให้ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือก ดังนี้

  1. แบบใบสมัคร (แบบ สว. 2)
  2. แบบข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (แบบ สว. 3)
  3. แบบหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์หรือทำงานในกลุ่มที่สมัคร (แบบ สว. 4)
  4. คู่มือสำหรับผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา

ผู้สมัครจะต้องกรอกข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วน พร้อมเตรียมเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อยื่นในวันรับสมัคร ประกอบด้วย 

  1. แบบใบสมัคร (แบบ สว.2)
  2. ข้อความแนะนำตัว ความยาวไม่เกิน 5 บรรทัด (แบบ สว.3) ระบุข้อมูลส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติทำงานหรือประสบการณ์
  3. เอกสาร หรือ หลักฐานอันแสดงว่าตนมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านใดด้านหนึ่งตามกลุ่มผู้สมัคร (แบบ สว.4)ทั้งนี้ ต้องมีผู้รับรอง 1 คน (ไม่สามารถรับรองตัวเองได้) และพยานลงลายมือชื่อรับรองอย่างน้อย 1 คน พร้อมสำเนาสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  4. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  5. สำเนาทะเบียนบ้าน
  6. รูปถ่ายขนาด 8.5×13.5 ซม.(หน้าตรง อายุไม่เกิน 6เดือน) จำนวน 2 รูป
  7. ใบรับรองแพทย์
  8. หลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งแสดงว่า เกิด/มีชื่อในทะเบียนบ้าน/ทำงาน/เรียน/เคยทำงาน หรือ เคยมีชื่อในทะเบียนบ้าน ในอำเภอที่สมัครรับเลือกติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี
  9. หลักฐานอื่นๆ เช่น หลักฐานลาออกหรือใบอนุญาตให้ลาออกกรณีกรณีเป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ และ เอกสารแสดงการเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล(ถ้ามี) เป็นต้น
  10. สำเนาหลักฐานอื่น ที่แสดงว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่มีลักษณะต้องห้ามและไม่เป็นผู้ถูกจำกัดสิทธิตามกฏหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือพรรคการเมือง

โดยผู้สมัครต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องและเป็นจริงของเอกสารและหลักฐานทุกฉบับทุกหน้า หากผู้สมัครลงลายมือชื่อไม่ได้ให้พิมพ์ลายนิ้วมือหัวแม่มือขวา  หากไม่มี ให้พิมพ์ลายนิ้วมือหัวแม่มือซ้าย หรือหากไม่มีนิ้วมืออยู่เลยก็ได้รับการยกเว้นและให้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอหมายเหตุในเอกสาร

วันสมัครรับเลือก

ผู้สมัครต้องยื่นเอกสารและหลักฐานประกอบการรับสมัครด้วยตัวเอง พร้อมชำระค่าสมัคร 2,500 บาท ต่อผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอหรือผู้ช่วยฯ เมื่อเจ้าหน้าได้รับใบสมัคร หลักฐานแล้วจะตรวจสอบเบื้องต้นว่าการลงรายการใน ใบสมัคร ค่าธรรมเนียม เอกสารและหลักฐานการสมัครครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ ขั้นตอนสุดท้ายเจ้าหน้าที่จะทำการออกใบรับสมัคร(แบบ สว.อ.10) และแบบข้อมูลแนะนำตัว (แบบ สว.อ.11) ให้

เมื่อได้รับเอกสารแบบ สว.อ.10 แล้วผู้สมัครจะไม่สามารถถอนการสมัครหรือลงสมัครในกลุ่มและอำเภออื่นได้อีก

เมื่อครบกำหนดเวลารับสมัครแล้ว ผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอจะดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกทุกราย ก่อนประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. ภายใน 5 วัน นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร 

สำหรับกรณีผู้สมัครซึ่งไม่มีชื่อในประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครมีสิทธิ์ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลฎีกาภายใน 3 วันนับแต่วันที่ประกาศบัญชีรายชื่อ

ท้ังนี้หากมีข้อสงสัยเรื่องขั้นตอนและรายละเอียดการลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง https://www.ect.go.th/ect_th/th/db_119_ect_th_6/2967 หรือสอบถามได้ที่สายด่วน 1444

 

#สว67
#เลือกตัวแทนประชาชน
#20กลุ่มอาชีพร่วมใจขับเคลื่อนประเทศไทยไปพร้อมกัน

[Advertorial]

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ