เร่งเก็บเกี่ยวข้าวหนีฝน เก็บใส่ยุ้งฉาง เข้าโครงการรัฐ โอดต้นทุนปลูกแพง วอนแก้ด่วน

Home » เร่งเก็บเกี่ยวข้าวหนีฝน เก็บใส่ยุ้งฉาง เข้าโครงการรัฐ โอดต้นทุนปลูกแพง วอนแก้ด่วน



นครราชสีมา ชาวนา เร่งเก็บเกี่ยวข้าวหนีฝนนำเข้าเก็บในยุ้งฉาง พร้อมเข้าร่วมโครงการชะลอการขายข้าวของรัฐบาล โอดต้นทุนการปลูกข้าวแพงวอนรัฐบาลช่วยแก้ปัญหาด่วน

24 พ.ย. 65 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนาพื้นที่ ต.สีมุม อ.เมือง จ.นครราชสีมา ต่างพากันจ้างรถเกี่ยวข้าว เก็บเกี่ยวข้าวในนาของตนเองกันอย่างคึกคัก หลังจากเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวเต็มตัว

ชาวนาหลายคนที่เก็บเกี่ยว เตรียมนำข้าวไปตากแดดไล่ความชื้น ก่อนจะนำไปเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือชาวนาและประกันรายได้ข้าว ที่รัฐบาลเพิ่งประกาศออกมา เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 65 ที่ผ่านมา

โดยเฉพาะโครงการช่วยเหลือต้นทุนการปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินรายละ 20 ไร่ หรือ 20,000 บาท ซึ่งมีเกษตรกรในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ลงทะเบียนไว้กับ ธ.ก.ส. กว่า 250,000 ราย ทาง ธ.ก.ส.จังหวัดนครราชสีมา จะโอนเงินให้เกษตรกรในวันที่ 26 พ.ย.นี้

และโครงการชะลอการขายข้าว ที่รัฐบาลจะช่วยเหลือค่าเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง และให้เกษตรกรที่เก็บข้าวไว้สามารถมาขอสินเชื้อปลอดดอกเบี้ยกับ ธ.ก.ส. รายละไม่เกิน 300,000 บาท เป็นระยะเวลา 5 เดือน เพื่อจูงใจให้เกษตรกรนำข้าวไปเก็บไว้ในยุ้งฉาง ชะลอการขายข้าวพร้อมกัน ป้องกันไม่ให้ราคาข้าวตกต่ำ ซึ่งทำให้เกษตรกรหลายรายให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

นางสมใจ เนียนพลกลาง อายุ 63 ปี เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหมู่บ้านดอน ม.1 ต.สีมุม อ.เมือง จ.นครราชสีมา ได้พาไปดูยุ้งฉางที่เตรียมนำข้าวที่เก็บเกี่ยวได้มาเก็บไว้ โดยมีกระดาษแบบกรอกข้อมูลเข้าร่วมโครงการชะลอการขายข้าว ประจำปี 2565/2566 ของ ธ.ก.ส. มาติดไว้หน้ายุ้งฉางอย่างชัดเจน

นางสมใจ กล่าวว่า ปีนี้ตนเองทำนาทั้งหมด 30 ไร่ ซึ่งส่วนหนึ่งถูกน้ำท่วมเสียหายไปบ้าง จึงคาดว่าปีนี้น่าจะได้ผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 15 ตัน โดยอยู่ระหว่างให้รถเกี่ยวข้าวไปเกี่ยว และนำไปตากแดดไล่ความชื้นก่อนที่จะนำมาใส่ยุ้งฉางเก็บไว้ เพื่อร่วมโครงการชะลอการขายข้าวของ ธ.ก.ส.

โดยจะแบ่งข้าวออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.เก็บไว้ทำพันธุ์ 2.เก็บไว้กินในครอบครัว และ 3.นำไปขายในภายหลัง ขณะเดียวกันก็ได้ลงทะเบียนเกษตรกรไว้กับ ธ.ก.ส.ซึ่งจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาท โดยได้ข่าวว่า ทาง ธ.ก.ส.จะโอนเงินให้ในวันที่ 26 พ.ย.นี้ ก็รู้สึกดีใจอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบกับต้นทุนในการทำนาปลูกข้าว ก็ถือว่าช่วยได้ไม่มากนัก เพราะต้นทุนการปลูกข้าวปีนี้สูงมาก ไม่ว่าจะเป็น ราคาน้ำมัน ราคาปุ๋ย ราคายา ค่ารถไถ ค่ารถเกี่ยวข้าว และค่าแรง ซึ่งรวมๆ แล้ว การทำนามีแต่จะขาดทุนทุกปี ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ