เริ่มจัดส่ง “ยาโมลนูพิราเวียร์” ป่วยโควิดกลุ่ม608 ผ่านแอพฯ คลิกนิกได้พรุ่งนี้

Home » เริ่มจัดส่ง “ยาโมลนูพิราเวียร์” ป่วยโควิดกลุ่ม608 ผ่านแอพฯ คลิกนิกได้พรุ่งนี้


เริ่มจัดส่ง “ยาโมลนูพิราเวียร์” ป่วยโควิดกลุ่ม608 ผ่านแอพฯ คลิกนิกได้พรุ่งนี้

แอพฯ คลิกนิก เริ่มจัดส่ง “ยาโมลนูพิราเวียร์” ให้กลุ่มเสี่ยง 608 ทั่วประเทศ ได้พรุ่งนี้ หากได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผ่านระบบTelemedicine ว่าต้องได้รับ

วันที่ 7 ส.ค. 65 นายนีล นิลวิเชียร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คลิกนิกเฮลท์ จำกัด ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่น “คลิกนิก (Clicknic)” กล่าวว่า หลังจากแอพฯ คลิกนิก ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด กลุ่มผู้ป่วยอาการสีเขียวและกลุ่มเสี่ยง 608 ให้เข้าถึงระบบการรักษาโดยเร็ว ผ่านการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา

พบว่ามีผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดเข้ารับบริการจำนวนมาก เฉลี่ยกว่า 100 รายต่อวัน บริษัทฯ จึงต้องเพิ่มจำนวนแพทย์ ขยายจำนวนร้านยา รวมถึงบริการจัดส่งยาที่ร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อร่วมให้บริการดูแลผู้ป่วยโควิดได้อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ จากข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารับบริการพบว่า ส่วนใหญ่ 60-70 รายต่อวัน อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 608 ทั้งผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน และผู้สูงอายุที่มีภาวะเสี่ยงที่อาการจะรุนแรงได้ ดังนั้นเพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่ม 608 ได้รับการรักษาโดยเร็ว จึงได้หารือกับ สปสช.สนับสนุนยาโมลนูพิราเวียร์ เพื่อจัดส่งให้กับผู้ป่วยที่ต้องได้รับยา

ซึ่งผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผ่านระบบ Telemedicine ซึ่งมีแพทย์หมุนเวียนคอยให้บริการ 40-50 คน จึงเป็นการจ่ายยาภายใต้การรักษาและกำกับของแพทย์ แต่ผู้ป่วยจะได้รับยาโมลนูพิราเวียร์หรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ด้วย

เบื้องต้น สปสช. สนับสนุนยาโมลนูพิราเวียร์จำนวน 288 โดส ให้แอพฯ คลิกนิก ก่อน หากมีจำนวนผู้ป่วยที่ใช้ต้องยาโมลนูพิราเวียร์เพิ่มเติมมากกว่านี้ สปสช.ก็จะสนับสนุนเพิ่ม ขณะนี้ระบบมีความพร้อมรับดูแลผู้ป่วยโควิดทุกสิทธิ รวมถึงจัดส่งยาให้ผู้ป่วยทั่วประเทศ

โดยวันที่ 8 ส.ค. นี้ จะเริ่มจัดส่งยาโมลนูพิราเวียร์ให้กับผู้ป่วยได้ โดยร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย สนับสนุนราคาจัดส่งเป็นพิเศษ ทำให้ขยายการดูแลและจัดส่งยาให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยาทั่วประเทศ โดยผู้ป่วยจะได้รับยาวันถัดไปหลังแพทย์วินิจฉัยว่าต้องได้รับยาเป็นการให้รักษาก่อนภาวะโรคจะรุนแรง นับเป็นผู้ให้บริการรายแรกที่ทำในเรื่องนี้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ