เบื้องหลัง "Eye of the Tiger" : เพลง Rocky III ที่ฟังเมื่อไหร่ก็ฮึกเหิม

Home » เบื้องหลัง "Eye of the Tiger" : เพลง Rocky III ที่ฟังเมื่อไหร่ก็ฮึกเหิม

“Rocky III” หรือ “ร็อคกี้ ราชากำปั้นทุบสังเวียน ตอน กระชากมงกุฎ” ในชื่อไทย เป็นภาพยนตร์ลำดับที่สามในแฟรนไชส์ภาพยนตร์ “Rocky” ภาพยนตร์กีฬาดราม่าที่โด่งดังเป็นอย่างมากในช่วงปลายทศวรรษ 1970s ต่อเนื่องจนถึงต้นทศวรรษ 1990s โดย Rocky III เป็นเรื่องราวต่อจาก Rocky II โดยตรง หลังจากที่ ร็อคกี้ บัลบัว พระเอกของเรื่องเอาชนะ อพอลโล ครีด ป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกมวยสากลรุ่นเฮฟวี่เวตไว้ได้

สิ่งที่ตราตรึงที่สุดสำหรับ Rocky III ไม่ใช่ การที่ ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน พระเอกของเรื่อง ลุกขึ้นมานั่งแท่นผู้กำกับเป็นครั้งที่ 2 หรือการที่ได้ มิสเตอร์ ที และนักมวยปล้ำอย่าง ฮัลค์ โฮแกน มาร่วมแสดง แต่กลับกลายเป็นซาวด์แทร็กของเรื่อง อย่าง Eye of the Tiger ของ วง Survivor ต่างหาก 

ครั้งแรกที่เมโลดี้เพลงนี้ดังขึ้นตอนเปิดเรื่อง พร้อมกับมอนทาจของร็อคกี้ในภาพผู้ชนะ สร้างความไฮป์ต่อผู้ชมมาหลายรุ่นต่อรุ่น แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของราชาเจ้าสังเวียนนาม ร็อคกี้ บัลบัว จนเพลงดังกล่าวได้กลายมาเป็นเพลงปลุกใจที่แทบจะใช้ได้ทุกโอกาส ไม่จำเป็นต้องเปิดเฉพาะก่อนขึ้นชกมวยก็ย่อมได้ จะฟังก่อนประชุม ก่อนทำงาน หรือก่อนเดินเข้าไปซื้อใบกะเพราเพื่อกลับบ้านไปทำกับข้าวก็ฮึกเหิมได้เช่นกัน

 

เพลงจากหนังต่อยมวยเรื่องนี้ กลายมาเป็นเพลงที่ประสบความสำเร็จขนาดนี้ได้อย่างไร ? 

Main Stand จะขอเล่าให้ฟัง และแนะนำให้เปิด Eye of the Tiger ระหว่างอ่านเพื่อเพิ่มอรรถรส

นัยน์ตาพยัคฆ์ 

หลังจากที่ภาพยนตร์ Rocky ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 1976 และประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม จนกวาดรางวัลออสการ์ครั้งที่ 49 ประจำปี 1977 ไปถึง 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม และรางวัลตัดต่อภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ส่งผลให้ภาพยนตร์ Rocky 2 ถูกสร้างตามออกมาในปี 1979 และ Rocky 3 ในปี 1982 

แม้จะถูกเข็นออกมาเป็นภาคที่สามแล้ว แต่ Rocky III ไม่ใช่ภาคโปรดสำหรับนักวิจารณ์ภาพยนตร์เท่าไหร่นัก หนังเรื่องนี้ถูกมองว่าไม่มีความแปลกใหม่จาก 2 ภาคที่ผ่านมา หรือกล่าวอย่างง่ายที่สุดคือ หนังเริ่มมีความจำเจ ตัวละคร ร็อคกี้ ไม่ได้มีมิติทางด้านอารมณ์ให้น่าค้นหาหรือน่าติดตามเท่าไหร่นัก โดย จีน ซิสเคล นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ให้คะแนน Rocky III ในบทความรีวิวบนหนังสือพิมพ์รายวัน The Chicago Tribune เพียง 2 ดาวครึ่งจาก 4 ดาวเท่านั้น

 


Photo : ultimateactionmovies.com

“ผมเสียใจนะที่จะต้องพูดแบบนี้ แต่มันไม่มีอะไรใหม่เลยใน Rocky III พวกเรานั่งดูกันแล้วก็ตั้งคำถามว่า ‘ทำไมถึงมีหนังเรื่องนี้อยู่ ?'” 

“เราไม่เห็นอะไรใหม่ ๆ ในตัวละครร็อคกี้เลย เราเคยได้เห็นด้านที่อ่อนโยนของเขา นั่นทำให้เขาน่าดึงดูด แต่ตอนนี้เรื่องพวกนั้นแทบจะไม่มีแล้ว ร็อคกี้ บัลบัว ใน Rocky III เลยไม่ค่อยเป็นที่น่าชื่นชอบสักเท่าไหร่” 

กระแสของ Rocky III อยู่ในระดับกลาง ๆ และได้คำวิจารณ์แบบผสมกันไป ถ้าไม่ชอบก็เกลียดไปเลย อย่างไรก็ตาม Rocky III ยังคงเป็นหนังภาคต่อที่ยังได้รับกระแสตอบรับดีจากแฟน ๆ ภาคนี้ยังเป็นภาคที่ ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน มารับตำแหน่งผู้กำกับเป็นครั้งที่ 2 และรับหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์เป็นครั้งที่ 3 ภาพยนตร์ทำรายได้เปิดตัวไปกว่า 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำรายได้รวมระหว่างที่เข้าฉายในทวีปอเมริกาเหนือไปกว่า 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำรายได้ทั่วโลกไปกว่า 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

Rocky III บอกเล่าเรื่องราวของ ร็อคกี้ บัลบัว (แสดงโดย ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน) หลังจากที่เขาสามารถป้องกันแชมป์โลกมวยสากลรุ่นเฮฟวี่เวตไว้ได้ จากการเอาชนะ อพอลโล ครีด คู่ปรับตลอดกาล (แสดงโดย คาร์ล วีเธอร์ส) ส่งผลให้เขาได้รับเงินทอง ชื่อเสียง และเกียรติยศจำนวนมาก จนไปเข้าตาของ เจมส์ ‘คลับเบอร์’ แลง (นำแสดงโดย มิสเตอร์ ที) นักมวยไฟแรงที่กำลังไต่เต้าขึ้นมาโดยมีเป้าหมายคือโค่นร็อคกี้ลงให้ได้

 


Photo : productplacementblog.com

ความทะเยอทะยานของ คลับเบอร์ แลง ทำให้เขาสามารถยัดเยียดความปราชัยให้ร็อคกี้ กระชากเข็มขัดแชมป์โลกมาครองได้ในเวลาต่อมา อดีตแชมป์โลกเฮฟวี่เวต จึงต้องไปขอความช่วยเหลือจากคู่ปรับเก่าที่กลายเป็นเพื่อนซี้อย่าง อพอลโล ครีด เพื่อทวงเข็มขัดกลับคืนมาอีกครั้ง

อพอลโล ครีด บอกกับร็อคกี้ว่า การที่อพอลโลเอาชนะร็อคกี้ (ในภาคแรก) ได้ เพราะอพอลโลเป็นคนชอบการแข่งขัน และยังมีไฟอยู่ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่อพอลโลไม่เห็นในตัวร็อคกี้เลย หลังจากที่ล้างแค้นอพอลโลได้ในตอนจบของภาคที่สอง

คำแนะนำที่ อพลอลโล ครีด มีให้แก่ร็อคกี้ในตอนนั้น คือการจุดไฟนั้นกลับมาเติมให้ชีวิต ไฟจาก “นัยน์ตาพยัคฆ์” ที่ร็อคกี้เคยมี เพื่อนำมาพิชิตคู่ต่อสู้ให้ได้อีกครั้ง

แฟนเพลงเป็นเหตุ 

แม้ Rocky III จะดูค่อนข้างจืดชืดสำหรับแฟรนไชส์ภาพยนตร์ Rocky หากเทียบกันกับภาคอื่น ๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สิ่งที่ Rocky ภาคนี้มีดี และเป็นหนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดที่เคยเกิดขึ้นกับแฟรนไชส์ คือซาวด์แทร็กของเรื่อง นั่นก็คือเพลง “Eye of the Tiger” จากวง Survivor วงร็อกจากเมืองชิคาโก้ ที่ถูกเขียนขึ้นมาให้ตรงกับคอนเซ็ปต์ของเรื่องโดยเฉพาะ

เพลงปลุกใจยอดฮิตเพลงนี้ ถือกำเนิดขึ้นมาได้เพราะความเป็นแฟนคลับวง Survivor ของ ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน เอง หลังจากที่วงได้ปล่อยสตูดิโออัลบั้มชุดที่สองออกมาชื่อ Premonition และเขาได้ฟังเพลง “Poor Man’s Son เพลงที่สามจากอัลบัมนี้ สตอลโลนก็สนใจในตัวพวกเขาทันที และเกิดไอเดียอยากได้เพลงทำนองแบบนี้มาใส่ในหนังของเขา ซึ่งขณะนั้นก็คือ Rocky III นั่นเอง “

สตอลโลน ได้ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนของเขาอย่าง โทนี่ สก็อตตี้ ที่เป็นเจ้าของค่ายเพลง Scotti Brothers Records สังกัดเพลงที่วง Survivor เป็นศิลปินอยู่ เพื่อจัดการนัดคิวให้พวกเขาได้พูดคุยกัน หนึ่งในอดีตสมาชิกวง Survivor อย่าง จิม เปเตริก มือคีย์บอร์ดของวงเล่าว่า สตอลโลนได้ฝากข้อความมาถึงเขาด้วยความตื่นเต้น มีใจความว่า

“โย่ จิม นี่ ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน เองนะ โทรหาผมหน่อย เรามีเรื่องต้องคุยกัน” 

เรื่องดังกล่าวไม่มีใครรู้ว่าจริงเท็จแค่ไหน เพราะในขณะเดียวกัน แฟรงกี้ ซัลลิแวน มือกีตาร์ก็บอกว่า จริง ๆ แล้ว เป็นโทนี่ต่างหากที่ทำให้พวกเขาได้คุยกัน

 

อย่างไรก็ดี สุดท้ายเรื่องที่เกิดขึ้นคือ Survivor ตกลงที่จะทำเพลงให้กับ Rocky … เบื้องต้น ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน ได้ส่ง 10 นาทีแรกของ Rocky III ให้แก่วง ซึ่งเป็นฉากเปิดเรื่องที่ได้นำเพลงของวงมาใส่ประกอบในภายหลัง ทางวงเองก็ตื่นเต้นมาก ขนาดที่จบ 10 นาทีนั้น พวกเขาขอให้สตอลโลนส่งหนังเวอร์ชั่นเต็มมาให้ แฟรงกี้พูดทำนองติดตลกว่า ไหน ๆ ก็ให้ดูแล้ว เพื่อให้เนื้อหาของเพลงครบถ้วนก็ต้องดูให้จบเรื่องไปเลยสิ

“สตอลโลนส่ง 10 นาทีแรกของหนังมาให้เราดู พวเราโคตรเซ็งที่หนังโดนตัดจบหลังจากนั้น ผมเลยบอกเขาไปว่า เราต้องดูส่วนที่เหลือของหนังด้วย เพื่อความยุติธรรม ผมแค่อยากรู้ว่ามันจะจบยังไง” 

Survivor เริ่มเขียนเพลง Eye of the Tiger โดยได้รับแรงบันดาลใจจากหนังโดยตรง แฟรงกี้เล่าว่าพวกเขาต้องกลับไปดูหนังซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนได้มาเป็นชื่อเพลงในที่สุด 

“พวกเราเขียนทำนองดนตรีกัน 10 นาที และแต่งเนื้อเพลง 30 นาที เราใช้เวลาคิดกันอยู่ 2-3 วันเพราะเราจบท่อนคอรัสไม่ได้ พวกเราเลยคุยกันว่า งั้นกลับไปดูหนังกันอีกรอบเถอะ หลังจากนั้นพวกเราก็มองหน้ากันแล้วก็ได้แต่คิดว่า ทำไมถึงโง่ได้ขนาดนี้ ทำไมเราไม่ตั้งชื่อเพลง ว่า Eye of the Tiger ที่เป็นประโยคเด็ดจากหนัง พอคิดได้แบบนั้นทุกอย่างก็ง่ายเลย มันเป็นเรื่องที่นักดนตรีและคนในวงการศิลปะมักจะเป็นกันบ่อย ๆ นั่นแหละ” 

“Rising up, back on the streets. Did my time, took my chances.”

“ผงาดขึ้นมา กลับมาบนถนน ชดเชยเวลาที่เสียไป คว้าโอกาสไว้อีกครั้ง”

ท่อนนี้มีความหมายเกี่ยวกับการผงาดของราชากำปั้นอีกครั้ง หลังจากที่ร็อคกี้พ่ายแพ้ให้กับ คลับเบอร์ แลง และจากคำแนะนำของ อพลอลโล ครีด เขาต้องกลับไปเป็นคนที่เขาเคยเป็นอีกครั้ง กลับไปเป็นคนที่ไร้ตัวตน เป็นนักมวยข้างถนนที่ไม่มีดีกรีแชมป์โลก เป็นเพียงแค่ผู้ชายคนหนึ่งที่โหยหาชัยชนะเท่านั้น 

“Face to face, out in the heat. Hanging tough, staying hungry.” 

“ออกประจันหน้าอย่างรุ่มร้อน แข็งกร้าว และยังคงหิวกระหาย” 

ท่อนนี้วงเขียนมาเพื่ออธิบายถึงความตั้งใจและความยากลำบากในการฝึกของร็อคกี้ ในฉากฝึกที่ดูกี่ครั้งก็ฮึกเหิม 

และท่อนที่มีเนื้อหาลึกซึ้งมากที่สุดในท่อนคอรัสคือ 

“And the last known survivor. Stalks his prey in the night.” 

“และผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายที่เป็นที่รู้จัก จะออกไล่ล่าเหยื่อของเขาในยามคํ่าคืน”

ที่มีความหมายแฝงคือ เมื่อเราฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ มาได้แล้ว เราก็จะเริ่มพัฒนาจนสามารถกลับไปเผชิญความท้าทายเหล่านั้นอีกครั้งได้อย่างสบาย ๆ เหมือนกับที่ร็อคกี้กลับไปนับศูนย์ใหม่ในฐานะนักมวยธรรมดา 

ในตอนหลัง วงได้อัดเพลง Eye of the Tiger ออกมาและส่งกลับไปให้สตอลโลน ซึ่งเวอร์ชั่นที่ส่งไปเป็นเพียงเดโม่เท่านั้น ซึ่งสตอลโลนชอบเพลงนี้มาก ทั้งโครงสร้างเพาเวอร์คอร์ดตอนอินโทร จังหวะ และเนื้อหา เขาจึงตัดสินใจนำเพลงเวอร์ชั่นนี้ไปใส่ในหนังเลย โดยที่ไม่รบกวน Survivor ให้อัดใหม่อีกครั้งด้วย เพลงที่เราได้ยินกันตอนต้นเรื่อง จึงมีความแตกต่างกับเวอร์ชั่นที่หาฟังได้ทั่วไปใน YouTube

แฟรงกี้เล่าต่อว่า 

“เราอัดเดโม่กันวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1982 และเวอร์ชันนั้นก็ถูกนำไปใช้ในหนัง ซิลเวสเตอร์ชอบมาก เขาไม่ได้รอให้พวกเราอัดใหม่เลย” 

เพลง Eye of the Tiger ประสบความสำเร็จอย่างมาก เช่นเดียวกันกับสตอลโลน ทั้งแฟนเพลง Survivor และแฟนหนัง Rocky ต่างก็ชื่นชอบเพลงนี้กัน ส่งผลให้เพลงดังกล่าวขึ้นไปอยู่บนชาร์ตซิงเกิลที่มาแรงที่สุดอันดับ 1 ของสหรัฐอเมริกาอยู่ 7 สัปดาห์ติด อีกทั้งยังชนะรางวัลแกรมมี่ สาขาการแสดงดนตรีร็อกยอดเยี่ยม และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสาขา เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีรางวัลออสการ์ด้วย 

เพลงดังกล่าวยังทำยอดระดับแพลตินัมถึง 2 ครั้งในสหรัฐอเมริกา ด้วยยอดขายที่เกิน 2 ล้านชุด และยังติดอันดับ 53 เพลงร็อกที่ได้รับการดาวน์โหลดมากที่สุดมาจนถึงทุกวันนี้ 

นับว่าเป็นโชคดีของวง ที่สตอลโลนให้ความสนใจ เพราะว่าเดิมทีแล้ว ไอเดียเพลงประกอบมอนทาจตอนเปิดเรื่องของ Rocky III จะใช้เพลง Another One Bites in the Dust ของวง Queen ซึ่งเป็นเพลงที่สตอลโลนชอบเช่นกัน ถึงขนาดมีเรื่องตลกว่า หนังเวอร์ชันที่สตอลโลนส่งให้วงดู มีเพลงของวง Queen ประกอบ จน ไบรอัน เมย์ มือกีตาร์ของวง ถึงขนาดมาขอวง Survivor กับตัวเพื่อจะเอาไปเก็บไว้ จนทุกวันนี้ม้วนวิดีโอเวอร์ชันนั้นยังอยู่กับ แฟรงกี้ มือกีตาร์ของวงอยู่เลย 

ด้วยดนตรีและเนื้อหา เพลง Eye of the Tiger ได้กลายมาเป็นเพลงที่เหมาะแก่การฟังเพื่อใช้ปลุกใจอย่างไม่ต้องสงสัย

บาร์ที่สูงเกินไป

ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าเป็นความโชคดีหรือโชคร้าย เมื่อความสำเร็จของ Eye of the Tiger ส่งผลให้วงได้รับหน้าที่ในการทำเพลงประกอบให้กับภาพยนตร์ Rocky IV อีกครั้งในปี 1985 … สามปีให้หลังจาก Rocky III โดยคราวนี้เพลงประกอบหลักที่ใช้ใน Rocky IV มีชื่อว่า Burning Heart 

เพลง Burning Heart ยังคงมีกลิ่นอายของฮาร์ดร็อกตามแบบฉบับของ Survivor และมีจังหวะที่ไม่ค่อยต่างจาก Eye of the Tiger เท่าไหร่นัก ถึงอย่างไร เพลงดังกล่าวก็ยังคงได้รับกระแสตอบรับที่ค่อนข้างดี เปิดตัวเป็นอันดับ 2 บนชาร์ตเพลงบิลบอร์ดของสหรัฐอเมริกา…

แต่ถึงดีแค่ไหนก็ยังเทียบ Eye of the Tiger ไม่ติด

เพลง Burning Heart ทำหน้าที่ส่งอารมณ์ให้กับหนังเหมือนเพลง Eye of the Tiger หรือไม่ ? คำตอบคือใช่ Burning Heart ยังคงมาตรฐานการแสดงของวงได้ดี แต่ถ้าถามว่า Burning Heart ปลุกใจได้ดีเท่า Eye of the Tiger ไหม ?​ คำตอบนี้น่าจะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แต่โดยทั่วไปแล้วก็คงจะลงความเห็นกันว่า Eye of the Tiger นั้นทำให้รู้สึกฮึกเหิมกว่าจริง ๆ 

เพลง Eye of the Tiger ไม่ได้ประสบความสำเร็จในแง่ของเพลงร็อกเท่านั้น แต่สำหรับการเป็นเพลงปลุกใจ ยังทำได้ดีกว่า Burning Heart อยู่มากโข ถึงขนาดถูกยกให้เป็นหนึ่งในเพลงร็อกที่นิยมใช้สำหรับการออกกำลังกายมากที่สุดตลอดกาล เคียงคู่กับเพลง We Will Rock You ของวง Queen และ Welcome to The Jungle ของวง Guns N’ Roses 

เพลงเหล่านี้ถูกยกย่องว่ามีคุณสมบัติที่เพลงออกกำลังกายควรจะมี นั่นคือทำให้ผู้ออกกำลังกาย รู้สึกแอคทีฟ มีพลัง มีแรงกระตุ้น อีกทั้งยังทำให้มีสมาธิอีกด้วย จากผลสำรวจของแอปพลิเคชัน RockMyRun ที่ให้บริการเพลงวิ่งสำหรับการออกกำลังกาย 

เคธี่ แอดดิสัน ผู้บริหารของ RockMyRun ออกมาให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า 

“เรามักจะพูดเสมอว่าดนตรีทำให้เราขยับ แต่เวลาฟังเพลย์ลิสต์ออกกำลังกายนี่แหละ ที่นิยามคำคำนี้ได้จริง ๆ” 

“ดนตรีไม่ได้มีหน้าที่แค่สร้างบรรยากาศสำหรับการออกกำลังกายเท่านั้น แต่จากข้อมูลผู้ใช้งานแอปเรา 65% ของคนส่วนใหญ่ วิ่งเร็วขึ้นไปตามจังหวะของเพลง” 

ได้ยินอย่างนี้แล้ว ถ้าใครไม่เชื่อ ก็ลองไปเปิดเพลง Eye of the Tiger แล้วออกวิ่งดูก็ได้ ภาพสุดท้ายที่คุณรู้ตัว คุณอาจจะเผลอต่อยลมไปด้วยขณะวิ่ง แล้วคิดว่าตัวเองเป็น ร็อคกี้ บัลบัว ที่มีนัยน์ตาของพยัคฆ์ก็เป็นได้ 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ