เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นเขื่อนเก็บกักน้ำ 1 ใน 4 เขื่อนหลัก ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดขนาดใหญ่ รวมถึงช่วยป้องกันอุทกภัยในเขตจังหวัดลพบุรี-สระบุรี และพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น จุดชมวิวทุ่งหญ้าท้ายเขื่อน รถไฟลอยน้ำที่เปิดให้ประชาชนทั้งคนไทยและคนต่างชาติได้ท่องเที่ยวในช่วงปลายปีของทุกๆปี
แต่ด้วยสภาพอากาศในปัจจุบันที่ประเทศไทยเผชิญกับอุณหภูมิความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้น การใช้น้ำในภาคการเกษตรรวมถึงอุปโภคบริโภคของประชาชนจึงเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประชาชนและเกษตรกรที่อยู่บริเวณโดยรอบของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เกิดความกังวล หลังพบน้ำในเขื่อนฯ ลดลงจนเห็นซากวัดเก่า (วัดหนองบัวใหญ่) ซึ่งเดิมวัดแห่งนี้จมอยู่ใต้น้ำ แต่ปัจจุบันโผล่พ้นน้ำขึ้นมามากกว่า 1 เมตร ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนของวิกฤตภัยแล้งที่คืบคลานเข้ามา
นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูฝนปี 2566 ที่ผ่านมา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์สามารถเก็บกักน้ำ ได้ประมาณ 1,019 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 106 ของความจุอ่างฯ ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวเป็นน้ำต้นทุน เพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ โดยตลอดช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 – 30 เมษายน 2567 ได้ส่งน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร การอุตสาหกรรม รวมไปถึงสำรองน้ำต้นทุนไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน กรณีที่เกิดฝนทิ้งช่วงหรือฝนยังตกไม่สม่ำเสมอ ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2567 อีกด้วย รวมทั้งสิ้นกว่า 800 ล้าน ลบ.ม.
โดยในช่วงฤดูแล้งจะระบายน้ำผ่านอาคารท่อระบายน้ำลงลำน้ำเดิม (River Outlet) ซึ่งการระบายน้ำผ่านอาคารดังกล่าว จะเป็นการระบายน้ำผ่านเทอร์ไบน์ (Turbine) ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่มีกระบวนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำ โดยนำน้ำจากเขื่อนที่ต้องระบายอยู่แล้วมาผ่านเครื่องผลิตไฟฟ้าก่อนระบายลงสู่พื้นที่ท้ายน้ำในอัตราเท่าเดิม ซึ่งไม่กระทบต่อปริมาณน้ำที่ใช้สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ นับเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า เกิดความมั่นคงทางพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 3 พฤษภาคม 2567) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำประมาณ 148.40 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของความจุอ่างฯ มีการระบายน้ำเพื่อส่งใปสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ชลประทานด้านท้ายเขื่อนในอัตรา 40 ลบ.ม./วินาที หรือวันละ 3.45 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งกรมชลประทาน ยืนยัน ว่าปริมาณน้ำต้นทุนที่เหลืออยู่จะเพียงพอใช้ตามแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2567 ที่วางไว้ ขณะเดียวกัน ยังได้เตรียมพร้อมพื้นที่รับน้ำเพื่อรองรับน้ำฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ด้วย
ด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกร โดยโพสต์ข้อความผ่านแอพพลิเคชั่น X ถึงปัญหาภัยแล้งว่า “ภัยร้อนและภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ รัฐบาลทราบถึงปัญหา และมีความเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งภาคเกษตรกรรม ความเป็นอยู่ การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยว จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานวางแผนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมเพื่อรับมือและบรรเทาสถานการณ์ และช่วยเหลือพี่น้องประชาชน”
“นอกจากนี้ ผมได้ประสานสั่งการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทยซึ่งกำกับบรรเทาสาธารณภัยให้ดูแลเรื่องน้ำ ซึ่งขณะนี้มีรถผลิตน้ำดื่มเคลื่อนที่ และรถขนน้ำไปให้บริการประชาชน รวมถึงกำลังเร่งการขุดลอกแหล่งน้ำ และซ่อมบำรุงระบบประปาแก่ชุมชนด้วย ผมยังสั่งการไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้นำสรรพกำลังเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภัยแล้งทั่วประเทศ ซึ่งผมได้กำชับให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องรายงานสถานการณ์มาทุกระยะเพื่อพิจารณาปรับแผนการดำเนินการที่เหมาะสมครับ” นายกรัฐมนตรีกล่าว
อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า โดยเฉพาะเกษตรกร แนะนำให้ปลูกพื้นที่ใช้น้ำน้อย ส่วนพืชที่ต้องใช้น้ำมากขอให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก โดยรอให้กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการก่อน เพื่อลดความเสี่ยงที่พืชผลจะขาดแคลนน้ำและเกิดความเสียหายในพื้นที่การเกษตร