อาจารย์นิด้า วิเคราะห์ ก้าวไกล ตั้งรัฐบาลไม่ได้ เผย 4 สถานการณ์ ขั้นหนักสุดเกิดการปฏิวัติประชาชน ทำให้ชนชั้นนำและกลุ่มนายพลสิ้นอำนาจ
วันที่ 20 พ.ค.2566 รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมือง และยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) โพสต์ข้อเขียนแสดงความคิดเห็นกรณีการจัดตั้งรัฐบาล โดยวิเคราะห์ผลในทางการเมือง จากเงื่อนไขการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล โดยมีเนื้อหาดังนี้
การจัดตั้งรัฐบาล
1.พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลได้
เงื่อนไข 1. ต้องมีส.ว. อย่างน้อย 66 คน ที่มีความคิดอิสระ ปลอดจากการควบคุมของผู้แต่งตั้งตนเอง และยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก
2. ส.ว.เคารพเจตนารมณ์ของประชาชน ยึดหลักการลงมติให้แก่แคนดิเดตของพรรคที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้
- ก้าวไกลเปิดดีล ขอเก้าอี้ปธ.สภาฯ ยึดโควตารัฐมนตรีกระทรวงหลัก ทั้งกห.-มท.-คลัง-ศึกษา
- ‘เลขาฯก้าวไกล’ เชื่อ 313 เสียงพอตั้งรัฐบาลที่มั่นคงได้แล้ว เดินหน้าขอเสียง สว.
มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่พรรคก้าวไกลสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะ
1 พรรคก้าวไกลมีความชอบธรรมสูงที่สุดตามระบอบประชาธิปไตย
2 กระแสสังคมแรง ประชาชนจำนวนมากมีความคาดหวังสูงและพร้อมสนับสนุน
3 การเปลี่ยนแปลงสังคมทำให้ความคิดของ ส.ว.จำนวนมากเปลี่ยนแปลง
4 นายพิธาลิ้มเจริญรัตน์ มีความโดดเด่น ได้รับการสนับสนุนมากที่สุดจากประชาชนเมื่อเทียบกับแคดิเดตนายกรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ทั้งหมด รวมทั้งได้รับการยอมรับจากนานาชาติ
ผลลัพธ์ : การเมืองประเทศไทยมีเสถียรภาพ ประชาธิปไตยพัฒนา เศรษฐกิจเดินหน้า นานาชาติยอมรับ ประเทศมีเกียรติภูมิในสากลสูง
2 พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้
เงื่อนไข 1 ส.ว. เกือบทั้งหมดยังตกอยู่ภายใต้การครอบงำบงการของผู้แต่งตั้งตนเอง ปฏิบัติตามคำสั่ง สกัดกั้นไม่ให้ลงมติตามเจตนารมณ์ของประชาชน
ผลลัพธ์ : การเมืองไร้เสถียรภาพ บ้านเมืองเกิดความขัดแย้ง แตกแยกอย่างรุนแรง เศรษฐกิจตกต่ำ นานาชาติรังเกียจ และพัฒนาไปสู่สี่สถานการณ์ คือ
ประการแรก เลือกนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีไปเรื่อยๆ จนกว่า ส.ว. ชุดนี้จะหมดอายุในเดือนพฤษภาคม 2567
ประการที่สอง เปลี่ยนเอาพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่า ส.ว. จะโหวตให้แต่อย่างใด อีกทั้งพรรคเพื่อไทย ไม่สามารถนำพรรคพลังประชารัฐและภูมิใจไทยมาร่วมรัฐบาลได้ เพราะมวลชนเสื้อแดงจะต่อต้านอย่างรุนแรง
ประการที่สาม เกิดการรัฐประหาร เผด็จการทหารเข้ามาควบคุมการเมือง ประเทศตกต่ำถดถอยลงไปสู่ระดับเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่สถานการณ์ที่สี่
ประการที่สี่ เกิดการปฏิวัติประชาชน และทำให้ชนชั้นนำและกลุ่มนายพลสิ้นอำนาจอย่างสิ้นเชิง