อาจารย์ดัง ยกเคส ‘แตงโม’ อธิบาย ชี้ตกแม่น้ำอันตราย จำเป็นต้องใส่ชูชีพ แนะวิธีเอาตัวรอด 

Home » อาจารย์ดัง ยกเคส ‘แตงโม’ อธิบาย ชี้ตกแม่น้ำอันตราย จำเป็นต้องใส่ชูชีพ แนะวิธีเอาตัวรอด 


อาจารย์ดัง ยกเคส ‘แตงโม’ อธิบาย ชี้ตกแม่น้ำอันตราย จำเป็นต้องใส่ชูชีพ แนะวิธีเอาตัวรอด 

ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ ม.เกษตรศาสตร์ ยกเคส ‘แตงโม’ อธิบาย ชี้ตกแม่น้ำอันตราย น้ำแรง-น้ำขุ่น-มีสวะ จำเป็นต้องใส่ชูชีพ แนะวิธีเอาตัวรอด

วันที่ 25 ก.พ.65 ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ให้ความรู้ขณะตกแม่น้ำ ความว่า ทราบข่าวคุณแตงโมตกเรือ จึงอยากเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนธรณ์ เผื่อว่าจะมีประโยชน์ครับ แม่น้ำกับทะเล คนมักกลัวจมทะเลมากกว่า เพราะทะเลกว้าง ฝั่งอยู่ไกล ฯลฯ

แต่แม่น้ำอันตรายหากพลาดพลั้ง เพราะน้ำแรง น้ำขุ่น มีสวะ/ผักตบมากมาย น้ำจืดยังตัวจมง่ายกว่าน้ำเค็ม (เกลือทำให้น้ำเค็มหนาแน่นมากกว่า) การระวังตัวดีสุดคือชูชีพ หากใส่อยู่ ยังไงก็ลอย และลอยในแม่น้ำแป๊บเดียวก็มีคนเจอหรือเข้าไปใกล้ตลิ่ง ไม่เหมือนในทะเลที่บางทีอาจลอยนานๆ จนกว่าจะมีความช่วยเหลือ

เมื่อใส่ชูชีพ ตกแม่น้ำมีโอกาสปลอดภัยสูง ขอเพียงคุมสติ อย่าตกใจว่ายน้ำไม่เป็นก็ไม่ต้องตกใจ เมื่อใส่เสื้อชูชีพแล้ว ไม่ต้องกลัวจมครับ การว่ายน้ำท่าปรกติอาจยาก เพราะเสื้อชูชีพทั่วไปออกแบบให้พยุงให้หน้าพ้นน้ำ

นอนหงาย ให้ใช้แขนแบบเวลาว่ายกรรเชียงเป็นหลัก ขาเหยียดออกไปเอาไว้เผื่อถีบสิ่งกีดขวาง แขนสองข้างคอยกวาดน้ำประคองตัวและทิศทาง ด้วยเหตุนี้ ว่ายน้ำไม่เป็นก็ทำได้ ค่อยๆ ลอยไปครับ
ที่สำคัญ อย่าพยายามว่ายสวนน้ำ ให้ว่ายตามน้ำเบนเข้าหาตลิ่งใกล้ที่สุด

ระหว่างนั้น สังเกตเรือรอบด้าน ตะโกนขอความช่วยเหลือเมื่ออยู่ใกล้ (ชูชีพที่มีนกหวีดติดจะดีมาก)
เน้นย้ำเรื่องนกหวีด มีประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะตอนกลางคืน มองไม่เห็นแต่ได้ยินเสียงไปไกลกว่า เป่าแบบให้ไม่เป็นปรกติ คนได้ยินจะได้เอะใจ

ลอยตัวว่ายเฉียงตามน้ำเข้าฝั่ง หรือหากว่ายน้ำไม่เป็น/ไม่แข็ง ให้ลอยไปก่อน ยังไงก็คงผ่านเรือหรือลอยเข้าใกล้ตลิ่งที่มีคนอยู่ ในกรณีที่เข้าใกล้สะพาน น้ำจะหมุนวน/เชี่ยว ต้องระวังให้ดี

การเกาะคอสะพานต้านน้ำในช่วงน้ำแรง อาจยิ่งอันตราย ปล่อยตัวผ่านไปอาจปลอดภัยกว่า ค่อยไปหาตลิ่งหลังสะพานขึ้น

หากเจอสวะ/ผักตบลอยมา พยายามหลีกเลี่ยงเพราะอาจพันตัวเราหรือพาเราพุ่งไปชนกับสิ่งกีดขวาง โดยที่เราติดอยู่หลีกเลี่ยงยาก

การลดอาการตกใจ/สติแตก อาจทำได้โดยดูก่อนว่าเราอยู่ตรงไหน ใกล้ฝั่งไหนมากกว่ากัน มองไปปลายน้ำ ดูเป้าหมายริมตลิ่งที่เราคิดว่าจะไป เป้าหมายไม่ใช่จุดที่ใกล้สุด ต้องเป็นปลายน้ำเท่านั้น มองเฉียงลงไป เอาเป็นเป้าใหญ่ไว้ก่อน

ท่าเรือ/โป๊ะยื่นออกมากลางแม่น้ำ เป็นเป้าดีสุด มีเป้าหมายจะทำให้เราไม่ขาดสติ ค่อยๆ ว่ายเฉียงตามน้ำไปหาเป้าหมาย หากรู้สึกว่าทำไม่ได้แน่ ไม่ต้องตกใจ มองเป้าต่อไปเรื่อยๆ

ระหว่างนั้น ดูเรือระหว่างทาง หากเข้าใกล้อาจเป่านกหวีด/ตะโกน หากเจอเรืออยู่ใกล้แต่สวนน้ำ ต้องดูให้ดีว่าจะว่ายไปไหม เพราะว่ายสวนในแม่น้ำพร้อมใส่ชูชีพแทบเป็นไปไม่ได้

หากเข้าใกล้เรือ กำลังลอยผ่านไป ตะโกนแล้วไม่มีใครได้ยิน ไม่ต้องตกใจหรือพยายามว่ายสวนน้ำเข้าไปเกาะเรือโดยคนบนเรือไม่รู้ตัว จะอันตรายมาก

เรือมีมาเรื่อยๆ ในแม่น้ำไม่ใช่ในทะเล สุดท้าย เสื้อชูชีพสีสด แม่น้ำแคบ คนคงเห็นในเวลาไม่นาน ยิ่งมีนกหวีดยิ่งปลอดภัย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน เน้นว่าทั้งหมดที่เขียนมาคือกรณีใส่ชูชีพ เป็นกำลังใจให้ครอบครัวคุณแตงโมครับ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ