อั๋น-คำผกา ชี้สูตรประหลาดหาร 500 สกัดพรรคใหญ่ งูเห่า-ส.ส.ปัดเศษจะมาอีก

Home » อั๋น-คำผกา ชี้สูตรประหลาดหาร 500 สกัดพรรคใหญ่ งูเห่า-ส.ส.ปัดเศษจะมาอีก



อั๋น-คำผกา ชี้สูตรประหลาดหาร 500 สกัดพรรคใหญ่ งูเห่า-ส.ส.ปัดเศษจะมาอีก แนะกลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 บัตร 2 ใบ เลือกได้ทั้งคนและพรรค

เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 8 ก.ค. 2565 ข่าวสดออนไลน์ จัดรายการ “ข่าวจบ คนไม่จบ” ดำเนินรายการโดย อั๋น ภูวนาท คุนผลิน และแขก ลักขณา ปันวิชัย หรือคำ ผกา ในหัวข้อ “สูตรหาร 500 แก้เกมแลนด์สไลด์ได้จริงหรือ?”

อั๋น ภูวนาท กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่านี่คือการเปลี่ยนกติกาพลางเกม เหมือนเล่นๆ กันอยู่แล้วเปลี่ยนกติกา พอให้อธิบายก็ตอบไม่ได้ ทำไมอยู่ดีๆ มาเปลี่ยนตอนที่กำลังจะแข่งใหม่ ทำให้สงสัยในเจตนา เหมือนอยู่ดีๆ พอจะแข่งก็เปลี่ยนกติกาเข้าข้างตัวเอง พอลงไปดูในรายละเอียดก็เหมือนจะเป็นอย่างนั้น

อั๋น ภูวนาท กล่าวอีกว่า แม้หลายคนจะบอกว่าคะแนนนิยมดีอยู่ ทั้งพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) และนายกฯ ตนเชื่อว่าคงมีคนรักและคนชอบอยู่เป็นเรื่องปกติ แต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งที่ผ่านมา น่าจะถือเป็นโพลครั้งใหญ่ที่เชื่อถือได้มากกว่าทุกสำนัก บอกได้ว่าสถานการณ์ความนิยมโดยภาพรวมเป็นอย่างไร ของทั้งนายกฯ และพรรคพปชร. อย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผู้สมัคร ส.ก.ของ พปชร. ได้แค่ 2 คน ถึงกลายเป็นแลนด์สไลด์ กติกาการเลือกตั้งครั้งนี้จึงเกิดขึ้นเหมือนเอื้อให้เขาเสี่ยงที่จะโดนแลนด์สไลด์แล้วแพ้แบบแลนด์สไลด์น้อยลง

ด้าน คำ ผกา กล่าวว่า แต่เดิมในรัฐธรรมนูญปี 2540 เราใช้การเลือกตั้งแบบคู่ขนาน เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ใช่ คือมี ส.ส.เขต 400 คน และส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน โดยมีบัตร 2 ใบ ใบหนึ่งเลือก ส.ส.เขต ใบหนึ่งเลือกพรรคที่ชื่นชมนโยบาย เช่น บ้านของตน ส.ส.คนที่ขยันมากคือพรรคภูมิใจไทย แต่ตนชอบนโยบายของพรรคเพื่อไทย ตนก็เลือก ส.ส.เขตเป็นภูมิใจไทย และเลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเพื่อไทย มันถูกออกแบบมาเพื่อให้มีแค่ 2 พรรคการเมืองใหญ่ในสภา พรรคเล็กพรรคน้อยจะสูญพันธุ์หมดเลย

คำ ผกา กล่าวอีกว่า กระทั่งเกิดรัฐประหารปี 2550 มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เปลี่ยนกติกาเลือกตั้งใหม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ชนะด้วยคะแนน 14 ล้านเสียง เขาถึงบอกว่าการรัฐประหารปี 2557 อย่าให้มันเสียของ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ทำให้รัฐประหารปี 2549 เสียของ เพราะเพื่อไทยชนะถล่มทลาย พอปี 2557 จึงมีความระมัดระวังที่จะออกแบบรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้พรรคที่ป๊อปปูลาร์ที่สุดในหมู่ประชาชนชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคอะไร

“ทำให้เราได้ร่างของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งเป็นระบบการเลือกตั้งที่ประหลาดมาก คือระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ชื่อคล้ายของเยอรมนีที่เป็นการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วน โดยมีบัตรเลือกตั้งแค่ใบเดียว มีสูตรคำนวณอันแปลกประหลาดที่หลังการเลือกตั้งแล้ว กกต.ยังคำนวณไม่ได้ เพราะอ้างว่าเสียงส่วนน้อยจะต้องไม่ถูกลืม ทุกหัวจะถูกนับ เสียงไม่ตกน้ำ จนมีการปัดเศษ”

คำ ผกา กล่าวต่อว่า สิ่งที่เขาวิพากษ์วิจารณ์กัน คือผู้แทนราษฎรที่ไม่ใช่ผู้แทนราษฎร เพราะราษฎร 70,000 คน จะมีตัวแทนได้ 1 คน แต่ทำไมบางคนได้คะแนนแค่ 3,000 เสียง แล้วมีเสียงในสภาเท่ากัน คือได้เป็นตัวแทนยกมือออกกฎหมาย มีเสียงเท่ากับ ส.ส. ที่มาจากประชาชน 70,000 เสียง ซึ่งไม่สะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน

คำ ผกา กล่าวอีกว่า อีกข้อคือพรรคเล็กที่มี ส.ส. 1 คน 2 คน 3 คน ได้เข้าสภาเต็มไปหมด ทำให้รัฐบาลไม่ได้มีเสียงข้างมากแค่พรรคเดียว จะต้องเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ทำให้เกิดระบบนิเวศงูเห่า และระบบนิเวศสวนกล้วย คือการซื้อขายเสียงโหวตในสภา เรื่องนี้ไม่ได้เกิดจากความเลวร้ายแบบปัจเจกบุบคลของนักการเมือง แต่เกิดจากการออกแบบระบบที่เอื้อให้งูเห่าสร้างรายได้และมีอำนาจต่อรอง พรรคเล็กมี ส.ส.คนเดียวก็เรียกกล้วยได้ทุกครั้งในอภิปรายไม่ไว้วางใจ

“การย้ายพรรคเป็นงูเห่าเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา มีค่าตัวเกิดขึ้นเพราะเป็นรัฐบาลผสมที่มีส.ส. 5 คน ต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีได้ ทำให้พรรคที่ใหญ่ที่สุดที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ และไม่มีเวลาในการทำงาน เพราะต้องทุ่มเททุกพลังงาน ศักยภาพ และทรัพยากร ในการบริหารอำนาจของตัวเอง เพื่อไม่ให้ตัวเองถูกอภิปรายแล้วหลุดจากตำแหน่ง ต้องกอดเก้าอี้รัฐมนตรีไว้แน่น”

คำ ผกา กล่าวอีกว่า คนที่เป็นรัฐมนตรีและส.ส.ตอนนี้ทุกคนเก่งหมด เพราะสมัยรัฐบาลที่ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ทุกคนก็ทำงานเก่งหมดเลย แต่พออยู่ภายใต้กติกานี้ ทุกคนก็สมาธิแตกกระเจิง ไม่มีเวลาคิดอะไร นอกจากรักษาเก้าอี้และอำนาจของตัวเอง ใช้เวลาร้อยละ 90 ไปกับการบริหารอำนาจ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า หลังการเลือกตั้งจะมีการลงสัตยาบันว่าเราจะมาแก้กติกาการเลือกตั้ง ไม่เอาอีกแล้ว ส.ส.ปัดเศษ

“ทางเดียวที่จะทำให้ไม่มี ส.ส.ปัดเศษ คือการกลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งแบบคู่ขนาน ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่งพรรคใหญ่อย่างประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ เพื่อไทย จะได้ประโยชน์”

คำ ผกา กล่าวต่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงมีข้อเสนอร่วมกันออกมา 1 อย่าง ทั้งพรรคฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้านว่า อยากกลับไปใช้หาร 100 ซึ่งเป็นคุณต่อประชาธิปไตยมากกว่า ระบบนิเวศงูเห่าจะหมดไป โดยออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แล้วทุกคนก็เสนอหาร 100 หมด ทั้งร่าง กกต. ร่าง ครม. และร่างรัฐบาล จากนั้นทั้งหมดก็ไปตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามระบอบประชาธิปไตยต้องมาจากทุกฝ่าย มี ส.ว และมีพรรคเล็กด้วย จนผ่านวาระที่ 1 มาแล้ว

คำ ผกา กล่าวอีกว่า แต่อยู่ๆ มีการสั่นคลอนเกิดขึ้นในพรรค พปชร. คะแนนนิยมของ 3 ป.ก็ตก แล้วจะโดนอภิปรายอีก ส่วนพรรคเล็กก็บอกจะไปกินข้าวกับธรรมนัส เดี๋ยวจะไปกินข้าวกับพรรคเพื่อไทย แต่เราไม่คิดว่าจะมีการใส่สูตรหาร 500 ขึ้นมาแบบนี้ ซึ่ง กมธ.เสียงข้างมากจะเอาหาร 100 แต่มีกมธ.จากพรรคเล็กเกิดสงวนความเห็น เสนอหาร 500 เมื่อเป็นแบบนี้ ก็ต้องเอาการสงวนความเห็นของ กมธ.ข้างน้อย กลับไปที่สภาอีกรอบ แล้วไปถามความเห็นของสภาว่าจะเอาหาร 100 หรือ 500

คำ ผกา กล่าวต่อว่า ทางพรรคก้าวไกล โดยนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ บอกชอบหาร 100 แต่ต้องการให้มีทศนิยม 4 ตำแหน่งด้วย เพราะ 100 มีทศนิยมแค่ 3 ตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้ตัวที่หารออกมากลายเป็นอีกแบบ ทศนิยมจะไม่เหมือนกัน เพื่อสะท้อนสัดส่วนคะแนนของตัวแทนให้ชัดขึ้น

คำ ผกา กล่าวอีกว่า นายปกรณ์วุฒิ ไม่ได้เป็น กมธ. แต่เป็นสมาชิกสภาก็มีสิทธิ เขาไม่ได้ทำอะไรผิด เขาทำถูกต้องตามสิทธิของเขาทุกประการ การที่นายปกรณ์วุฒิไม่เห็นด้ววยกับกมธ.เสียงข้างมาก ในสภาเรียกว่า การสวงวนคำแปรญัตติ ดังนั้น การโหวตครั้งแรกเมื่อวานจะเป็นการตั้งคำถามของสภาว่า เพื่อนสมาชิกสภาเห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมากหรือไม่

คำ ผกา กล่าวต่อว่า คนเห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างมากคือคนที่จะเอาหาร 100 ตามที่ตกลงกันแบบเดิมส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมาก จะมี 2 กลุ่ม คือกลุ่มหาร 500 และกลุ่มหาร 100 แบบมีทศนิยม 4 ตำแหน่ง ของก้าวไกล ปรากฏว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมาก ลงมติชนะ ทำให้ร่างหาร 100 ถูกตีตกไป ทั้งที่ก่อนหน้านี้ผ่านกมธ.เสียงข้างมากมาแล้ว แต่ไปเจอเสียงที่จะเอาหาร 100 อีกแบบของก้าวไกล ประกบกับหาร 500 ของเสียงข้างน้อย ทำให้เสียงรวมกันเลยผ่านฉลุย

คำ ผกา กล่าวอีกว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้จะเอา 500 มาตั้งแต่ต้น แต่ประเด็นคือเขาทำให้การหาร 100 ของกมธ.เสียงข้างมากตกไป ซึ่งตามปกติการหาร 100 มันจะผ่านฉลุย ถ้าเขาเห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมาก แต่ไม่เป็นไร เราอย่าโทษพรรคก้าวไกล เพราะมันเป็นสิทธิของเขา เขาทำตามครรลองทุกอย่าง แต่ผลลัพธ์ที่อยู่ในมือของเราตอนนี้คือสูตรหาร 500 ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ กกต. และศาลฎีกา ตามขั้นตอน ถ้าไม่มีใครคัดค้านก็ต้องหาร 500 ก็ต้องดูว่าจะมีใครคัดค้านหรือไม่

ด้าน อั๋น ภูวนาท กล่าวว่า การหาร 500 คือเอาคะแนนรวมทั้งหมดจากการเลือกตั้งออกมาหารด้วย 500 เราจะรู้ว่า ส.ส. 1 คน ต้องใช้คะแนนเสียงเท่าไร สมมติหารออกมาได้ 70,000 คือทุกๆ 70,000 เสียง จะได้ ส.ส. 1 คน จากนั้นก็มาดูว่าแต่ละพรรคได้คะแนนรวมเท่าไหร่ แล้วเอา 70,000 ไปหาร ก็จะได้จำนวน ส.ส.พึงมีที่แต่ละพรรคควรต้องได้

อั๋น ภูวนาท กล่าวอีกว่า ต่อมาก็ดูว่าแต่ละพรรคได้ ส.ส.เขต ทั้งหมดกี่คน มีจำนวนมากหรือน้อยกว่า ส.ส.พึงมี ถ้าน้อยกว่าที่ควรจะได้จากการคำนวณ ส.ส.พึงมี ถึงจะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ให้ครบตามจำนวนที่พึงมี แต่ถ้าได้ ส.ส.เขต เกินกว่าจำนวน ส.ส.พึงมี พรรคนั้นก็จะไม่ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ นี่คือเหตุผลที่มีการพลิกโหวต แปลว่าพรรคที่ชนะการเลือกตั้งเยอะๆ คือได้ ส.ส.เขตเยอะ จะได้ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อน้อย หรือไม่ได้เลย แต่อาจจะเป็นประโยชน์กับพรรคที่ไม่ได้ ส.ส.เขต หรือรวมจำนวน ส.ส.เขตแล้วได้น้อย แต่ถ้ามีคะแนนรวมเยอะ ก็จะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เข้าไปแทน

อั๋น ภูวนาท กล่าวต่อว่า การหาร 500 เฉลี่ยออกมาคงไม่ได้ 70,000 ถ้วน มันจะเศษทศนิยมเยอะแยะ เมื่อหารไม่ลง เราก็จะได้คนแปลกๆ เข้ามานั่งอยู่ในสภา แล้วจะได้คนที่เราไม่ได้เลือกโดยตรง แต่ถูกเลือกโดยระบบแบบนี้ นี่คือความแปลกประหลาดที่คนมองว่า สิ่งนี้ถูกทำขึ้นเพราะคิดว่าเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์หรือไม่ เนื่องจากกระแสอุ๊งอิ๊งก็ดี

“เขาต้องปรับสูตร เพราะถ้าเขาได้ ส.ส.เขตเยอะ เขาจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ท้ายที่สุดจำนวนตัวแทนของประชาชนทั้ง ส.ส.เขต ที่เลือกตั้งมาโดยตรง หรือ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จะมีจำนวนไม่เยอะด้วยสูตรนี้ ไม่ว่าพรรคนั้นจะป๊อปปูลาร์แค่ไหน เรียกว่าสูตรกั๊ก” อั๋น ระบุ

คำ ผกา กล่าวเสริมว่า ง่ายที่สุดคือเราควรจะนึกถึงระบบการเลือกตั้งที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนที่เลือกตั้งจริงๆ คือเลือกใครควรจะได้คนนั้น ไม่ใช่เลือก นาย ก. แต่นาย ก. มี 50,000 เสียงดันไปแพ้ นาย ข. ที่ได้ 10,000 เสียง แต่ได้เป็น ส.ส.

อั๋น ภูวนาท ทิ้งท้ายว่า วิธีการสะท้อนที่ง่ายที่สุดคือ อยากได้ใครเลือกคนนั้น อยากได้พรรคไหนเลือกพรรคนั้น แล้วเอาคะแนนพรรคไปจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ส่วน ส.ส.เขตก็เลือกต่างหาก แค่นี้ก็จบ คือต้องกลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ไม่ได้ เพราะถ้าเลือกแบบบนี้ พรรคที่เขาเกลียดจะได้เป็นรัฐบาลทันที

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ