หึ่ง!! รพ.ศูนย์ การเงินติดลบ 343 ล้าน ประกาศลดค่าโอที ปลัด สธ.สั่งสอบด่วน

Home » หึ่ง!! รพ.ศูนย์ การเงินติดลบ 343 ล้าน ประกาศลดค่าโอที ปลัด สธ.สั่งสอบด่วน



หึ่ง!! รพ.ศูนย์ การเงินติดลบ 343 ล้าน สูงสุดในประเทศ ประกาศลดค่าโอที ปลัด สธ.สั่ง นพ.สสจ. ตรวจสอบด่วนเกิดเหตุที่ใด หากจริงให้ผู้ตรวจราชการ สธ.เร่งสอบ

กรณี เพจ สมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป โพสต์ข้อความระบุว่า เดือดร้อนถ้วนหน้า!! รพ.ศูนย์ฯ ติดลบ 343 ล้านบาท สูงสุดในประเทศ ประกาศลด OT เจ้าพนักงานเหลือ 50 บาทต่อชั่วโมง ทำให้เกิดการะแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็น รพ.แห่งใด และบริหารอย่างไร เนื่องจากก่อนหน้านี้หลังจากพ้นโควิด รพ.แต่ละแห่งต่างมีเงินบำรุงสูง จากการได้รับค่าบริการโควิด และเหตุใดจึงมีการตัดค่าโอทีบุคลากร

วันที่ 24 เม.ย.2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อมีข้อมูลที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียและทำให้เกิดข้อกังวล โดยเฉพาะเรื่องการตัดเงินค่าโอทีบุคลากร จึงให้ทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ไปตรวจสอบว่า จริงหรือไม่ หากจริงอยู่ที่ไหน เหตุใดจึงเกิดเช่นนั้นขึ้น ซึ่งประเด็นที่ห่วงไม่ใช่เรื่องหนี้ แต่มีการตัดค่าโอทีจริงหรือไม่ ถ้ามีการตัดโอทีจริงก็ถือว่าผิดและขัดนโยบาย สธ. เบื้องต้นมอบให้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัด สธ. ออกหนังสือเป็นทางการ แจ้งทางผู้ตรวจราชการ สธ. ให้ตรวจสอบและรายงานกลับมาภายใน 7 วัน

เมื่อถามว่าสั่งการทุกจังหวัดให้ตรวจสอบเลยหรือไม่ หรือทราบพื้นที่แล้ว นพ.โอภาสกล่าวว่า ขอไม่เอ่ยชื่อจังหวัด แต่เบื้องต้นมีข้อมูลระบุมาอยู่ จึงมอบหมายให้ไปตรวจสอบก่อนว่าจริงหรือไม่

เมื่อถามอีกว่าต้องกำชับหรือไม่ว่า ห้ามตัดค่าโอที นพ.โอภาส กล่าวว่า ไม่ควรไปกำชับมาก เพราะต้องทราบว่าเป็นนโยบายกระทรวง แต่ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าเป็นที่ไหน ขอให้ไปตรวจสอบก่อน โดยได้สั่งการด้วยวาจาให้นพ.สสจ.ไปตรวจสอบว่า จริงหรือไม่ หากจริง ก็จะเป็นผู้ตรวจฯ ตรวจสอบและรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร ทุกอย่างจะเป็นลำดับชั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่าก่อนหน้านี้ สธ.เคยให้ข้อมูลว่า ช่วงโควิดเงินบำรุงเพิ่มขึ้น การที่เงินติดลบเป็นเพราะอะไร นพ.โอภาส กล่าวว่า ถึงให้ไปสอบข้อเท็จจริงก่อน แต่จริงๆ เรื่อง รพ.ติดลบไม่ได้เป็นประเด็นกังวลมากนัก แต่ที่เป็นประเด็นคือ หากติดลบแต่ไปตัดโอที อันนี้ไม่ได้ เพราะผิดนโยบาย จึงต้องไปตรวจสอบก่อนว่าจริงหรือไม่

ทั้งนี้ ตามปกติเรามีข้อมูลเฝ้าระวังว่าฐานะทางการเงินของแต่ละ รพ.เป็นอย่างไร โดยมีกองที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ สามารถระบุได้ว่าตัวเลขนี้น่าจะเป็นจังหวัดไหน เรามีการมอนิเตอร์ตลอด และได้ให้ทาง นพ.สสจ.ติดตามด้วย

“ที่ผ่านมาที่ติดตามก็พบว่า มีการติดลบบ้าง ซึ่งก็ต้องมาดูว่า ผู้บริหารจัดการอย่างไร จัดการตามสมควรหรือไม่ มีอะไรที่ผิดปกติหรือไม่ เงินติดลบคือ รายได้น้อยกว่ารายจ่าย ต้องไปดูว่า รายได้ที่ต้องไปทวง ได้ทวงครบหรือไม่ พบว่า หลายแห่งเวลามีหนี้ไม่ได้ทวง เช่น ทวงเบิกไปยัง สปสช.ที่ต้องมีหลักฐานให้ครบ ได้ทวงหนี้ให้ครบหรือไม่ และรายจ่ายได้จ่ายที่ถูกต้องสมควรหรือไม่ ต้องดูทั้งสองส่วน” นพ.โอภาส กล่าว

เมื่อถามว่ากรณีเงินบำรุงติดลบบางแห่งจะมีผลต่อการปรับระดับ รพ.ใหม่ตามแนว SAP หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ไม่น่ามีผลกระทบ เพราะการปรับระดับ คือ การยกคุณภาพบริการ และหลายแห่งบุคลากรเรามีความพร้อม บางแห่งเพิ่มอุปกรณ์ไม่มากก็สามารถเพิ่มบริการให้ประชาชนได้อย่างดี เช่น ห้องผ่าตัด บางแห่งมีหมอผ่าตัดมากกว่าห้องผ่าตัด จึงต้องให้มีการปรับระบบใหม่ แทนที่จะไปออผ่าตัดในเวลาราชการ ก็ขยับออกมานอกเวลาได้หรือไม่ เพื่อการให้บริการสะดวกยิ่งขึ้น โดยเฉพาะที่ไม่ใช่ผ่าตัดฉุกเฉิน ภาพรวมเงินบำรุงยังบวกพอสมควร ซึ่งสามารถนำเงินไปพัฒนาได้เยอะ

“ที่เร่งรัดตอนนี้ คือ การใช้พลังงานโซลาเซลล์ มี 200 แห่งจาก รพ. 1พันแห่ง คิดเป็น 20% ประหยัดค่าไฟ 10% ตรงนี้จะช่วยลดรายจ่าย และเรื่องบ้านพักบุคลากร หลายแห่งบ้านพักเก่า เงินมีแต่บางที ผอ.รพ.ไม่มั่นใจในนโยบาย ก็ย้ำไปแล้วว่า ตรงไหนทรุดโทรม 30 กว่าปีเป็นเรือนไม้ ก็ให้ปรับปรุงให้เหมาะสม พร้อมดูเรื่องความปลอดภัยด้วย” นพ.โอภาสกล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ