มาร์คัส แรชฟอร์ด เจ็บไหล่มา 9 เดือนเต็ม ๆ แต่ยังฝืนลงเล่นไปเกือบ 60 นัดในช่วงเวลาดังกล่าว และผลงานในแง่สถิติของเขาคือยิง 21 แอสซิสต์ 15 ไม่เลวเลยใช่ไหม
อย่างไรก็ตามเมื่อเขาต้องรับการผ่าตัด แรชฟอร์ด อาจจะต้องพักเกือบ ๆ 3 เดือน และอดช่วยทีมในช่วงเปิดฤดูกาล ทั้ง ๆ ที่ไม่ต้องผ่าก็สามารถลงเล่นต่อไปได้
นี่คือเรื่องราวอลวนเกี่ยวกับไหล่เจ้ากรรมของ แรชฟอร์ด … ทุกอย่างที่ผ่านมาผิดพลาดไปหมด จนตอนนี้เขาต้องเสี่ยงกับอาการบาดเจ็บที่ “ไม่การันตีผลการรักษา”
ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่ Main Stand
ปวดไหล่แต่ทำไมเล่นได้ตั้ง 9 เดือน
แม้ฟุตบอลจะเป็นกีฬาที่ใช้เท้าเตะ ทว่าหัวไหล่คืออวัยวะที่ต้องใช้ในการแข่งขันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการแข่งขันระดับสูงนั้น เราคงได้เคยเห็นจังหวะปะทะกันของนักเตะที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ผ่านการถ่ายทอดสดนั่นคือ “ไหล่ชนไหล่” นั่นเอง
การเบียดแย่งแบบไหล่ชนไหล่ถือเป็นศิลปะของการเข้าปะทะอย่างแท้จริง เพราะการปะทะแบบไหล่ชนไหล่นั้นไม่ผิดกติกา หรือ “ไหล่ชนไหล่ไม่ฟาวล์” ดังนั้น นี่จึงเป็นวิธีการเข้าบอลที่นิยมใช้เป็นอย่างมาก เพราะสามารถทำให้ทีมเอาบอลกลับมาเล่นได้ทันที แถมเปลี่ยนเกมรับเป็นเกมบุกได้ภายในพริบตา
เพราะความได้เปรียบของการเข้าปะทะแบบไหล่ชนไหล่ จึงทำให้นักเตะในระดับอาชีพต้องเข้ายิมยกเวทสร้างกล้ามเนื้อส่วนไหล่เพื่อช่วยในการปะทะ พร้อมกับต้องออกกำลังกายส่วนแกนกลางของร่างกายเพื่อช่วยให้ได้บาลานซ์ที่ดีขึ้น … อย่างไรก็ตาม มาร์คัส แรชฟอร์ด ไม่สามารถออกกำลังกายที่หัวไหล่ได้เลย นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020 เนื่องจากไหล่ของเขามีอาการเจ็บอย่างรุนแรงหลังกล้ามเนื้อฉีกขาด
จุดเริ่มต้นมาจากเกมต้นฤดูกาล 2020-21 ที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เอาชนะ เอฟเวอร์ตัน ไปได้ 2-0 ที่ กูดิสัน พาร์ค หลังเกมนั้น แรชฟอร์ด เริ่มมีปัญหาเจ็บที่หัวไหล่แต่ยังไม่ได้มากมายอะไรนัก จนกระทั่งช่วงของโปรแกรมที่เข้มงวดเข้ามาเรื่อย ๆ ซึ่ง ยูไนเต็ด เป็นทีมที่ลงเตะแทบจะทุก ๆ 4 วัน ไหล่ที่เคยเจ็บนิด ๆ ก็กลายเป็นเจ็บหนัก ๆ และเริ่มเข้าสู่ความเจ็บปวดแบบจริงจัง จนออกกำลังกายส่วนไหล่ไม่ได้เลยหลังจากเกมที่ ยูไนเต็ด เปิดบ้านแพ้ เปแอสเช ในฟุตบอลยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก รอบแบ่งกลุ่มที่จบด้วยสกอร์ 1-3 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2020
จากนั้น แรชฟอร์ด ต้องลงเล่นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งจบฤดูกาล ต่อด้วยการช่วยทีมชาติอังกฤษในยูโร 2020 รวมทั้งหมดที่เขาลงสนามตลอดซีซั่นคือ 59 นัด และผลงานของเขาในระยะหลังก็ดรอปลงไปพอสมควร สถิติการยิงประตูของแรชฟอร์ด ตกลงไปมาก เขายิงได้แค่ 8 ลูก หลังจากเกมกับ เวสต์แฮม เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2020
สิ่งที่เจ้าตัวเปิดเผยคือ นับตั้งแต่บาดเจ็บในช่วงปลายปี 2020 ไหล่ของเขาต้องถูกจำกัดการเคลื่อนไหว ออกกำลังกายส่วนนี้ให้น้อยที่สุด และไม่สามารถใช้การได้อย่างคล่องแคล่ว
สิ่งที่ แรชฟอร์ด ทำทุกครั้งเพื่อให้ลงเล่นได้ คือการต้องฉีดยาที่กล้ามเนื้อไหล่เพื่อระงับอาการเจ็บปวดก่อนลงสนามในแต่ละเกม สิ่งที่เขาทำนั้นสะท้อนให้เห็นอะไรหลายอย่าง ประการแรกคือ การแข่งขันที่คาบเกี่ยวกับช่วงการปิดลีกเพื่อหนีโควิด-19 ทำให้โปรแกรมถูกบีบให้เตะกันถี่ขึ้น แม้จะมีการแข่งขันจำนวนนัดเท่าเดิม แต่ช่วงระยะเวลาของการพักฟื้นกลับลดลง หรือราว ๆ แค่ 4 วันต่อแมตช์โดยเฉลี่ยเท่านั้น
ประการที่ 2 คือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ขาดคุณภาพในส่วนของเกมรุกอย่างหนัก จากขุมกำลังสำรองที่ไม่ทัดเทียมกับตัวจริง พวกเขาขาดแรชฟอร์ดไม่ได้ และนั่นทำให้แรชฟอร์ด ต้องแบกสังขารลงเล่นมาตั้งแต่ช่วงฤดูกาล 2019-20 มาจนถึงฤดูกาล 2020-21 แบบเต็ม ๆ จนที่สุดแล้ว มันก็ทำร้ายเขาในระยะยาวจนได้
ไม่รับประกันการรักษา
ทุกคนรู้แน่ว่าถ้าผ่าตัดแล้วยังไงก็ดีกว่าการฝืนลงเล่นทั้ง ๆ ที่ไหล่บวมจากอาการกล้ามเนื้อฉีกขาดแน่นอน ตลอด 9 เดือนที่ทนมา แรชฟอร์ด และทีมงานแพทย์ของ แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่ได้ปล่อยให้เรื่องไหลไปตามจังหวะ โดยไม่มีการคิดวิเคราะห์แต่อย่างใด
พวกเขาประเมินแรชฟอร์ดในทุกสัปดาห์ว่าสามารถลงเล่นได้หรือไม่ เพราะแรชฟอร์ดเป็นนักเตะที่ต้องรับการปะทะจากคู่แข่งมากที่สุดคนหนึ่งของทีม ด้วยตำแหน่งที่ต้องใช้ความเร็วเข้าโจมตีคู่ต่อสู้ ทว่าผลตรวจทุกครั้งของเขาก็ยังไม่ถือว่าร้ายแรงอะไรมากในช่วง 3-4 เดือนแรกของอาการบาดเจ็บ และเขายังยิงประตูได้ และยังคงมีการเล่นที่ได้ประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตามเมื่อวันเวลาผ่านไป อาการที่ไหล่เริ่มหนักขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งอาการที่ข้อเท้าก็ยังมีมาเพิ่มในช่วงท้ายฤดูกาล ทางทีมแพทย์ของ ยูไนเต็ด จึงได้เริ่มประเมินอาการและความเสี่ยงอีกครั้ง เพื่อวิเคราะห์ว่าทางออกแบบไหนจะส่งผลดีที่สุด
ประการแรก ไหล่ของแรชฟอร์ดเกิดการฉีกขาดของกล้ามเนื้อรุนแรงขึ้นจริง แต่เมื่อประเมินจากการเข้ารักษาแบบจริงจังผ่านการผ่าตัดในช่วงฤดูกาลปกติ มันยังไม่คุ้มค่าเสี่ยง เพราะมีการรายงานจาก The Athletic ว่า “ไม่การันตีผลการรักษา”
ขั้นตอนผ่านตัดของไหล่ของแรชฟอร์ดคือการผ่าตัดที่เรียกว่า “ผ่าตัดแบบรูกุญแจ” นั่นคือการผ่าตัดผ่านเครื่องขนาดเล็ก และกล้องขนาดจิ๋วที่ศัลยแพทย์เจาะเข้าไปในกล้ามเนื้อ สิ่งที่ได้คือบาดแผลจะเล็กมาก และจะใช้เวลาในการรักษาและพักฟื้นน้อยกว่าการผ่าตัดใหญ่แบบปกติ แต่อย่างที่ได้กล่าวเอาไว้ คือทางแพทย์ยังไม่รับประกันว่าต่อให้เขาผ่าตัดไหล่ ปัญหาจุดนี้จะหมดไป
ดังนั้นการที่จะให้เขาหายไป 3 เดือนโดยไม่การันตีผลการรักษา อีกทั้งผลงานของทีมก็ยังลูกผีลูกคน จึงจำเป็นจะต้องใช้งานเขาต่อไป แรชฟอร์ด จึงต้องลงเล่นพร้อม ๆ กับฉีดยาระดับปวดตามที่กล่าวไปข้างต้น
จนกระทั่งฤดูกาล 2020-21 ที่ยาวนานจบลง แรชฟอร์ด เริ่มมีอาการเปลี่ยนไป ความยืดหยุ่นที่ไหล่ของเขาแย่ลงมาก เขาไม่สามารถควบคุมมันได้เลย ความเร็วของเขาก็ได้รับผลกระทบ และแน่นอนที่สุดคือจิตใต้สำนึกของเขาเองที่ทำให้ร่างกายตอบสนองเมื่อเผชิญกับการเข้าปะทะของคู่แข่ง จนทำให้ แรชฟอร์ด มีระดับการเล่นที่ตกลงไปมาก นั่นทำให้ครั้งนี้ทีมแพทย์ของ ยูไนเต็ด ยืนยันว่า “ผ่าเป็นผ่า” เพราะนักเตะมีอาการบอบช้ำจากอาการบาดเจ็บมากขึ้นเรื่อย ๆ นักฟุตบอลที่ใช้ไหล่กระแทกเต็มแรงไม่ได้ ย่อมเสียเปรียบสุด ๆ ในเกมระดับสูงแน่นอน
หนนี้เป็น แรชฟอร์ด เองที่มีความประสงค์ขอเล่นในถ้วย ยูโร 2020 ก่อน เพราะนี่คือโอกาสดีที่เขาจะได้เป็นแชมป์ร่วมกับทีม เพราะอังกฤษเป็น 1 ในตัวเต็งของการแข่งขัน อีกทั้ง แรชฟอร์ด ก็เป็นกำลังหลักของทีมมาโดยตลอดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
“ไม่มีสักครั้งที่ผมไม่รู้ตัวว่ากำลังเจ็บและควรถอยออกมา แต่การเป็นนักเตะอาชีพมันเป็นเรื่องยากมากที่คุณจะหยุดไปเสียเฉย ๆ ในขณะที่ทีมต้องการคุณ และคุณก็มีอิทธิพลต่อการคว้าชัยชนะของทีมได้” แรชฟอร์ด กล่าวไว้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์
“อาการบาดเจ็บเริ่มเล่นงานที่ไหล่ และผมยกน้ำหนักได้แค่วันละครั้ง บางวันก็ทำไม่ได้เลย ส่วนบางวันก็ไม่ได้แย่อะไรมากมาย ผมคาดเดาอะไรเกี่ยวกับร่างกายตัวเองไม่ได้เลย เรื่องนี้สำคัญมาก เราต้องรู้จักร่างกายของตัวเองว่าปกติแล้วมันเป็นอย่างไร ผมจึงต้องพักผ่อน ทำทุกอย่างเมื่อกลับถึงบ้าน กินอาหาร และเข้านอน เพื่อให้ร่างกายพร้อมที่สุดสำหรับการลงสนามในสุดสัปดาห์ต่อไป” แรชฟอร์ด กล่าว
อย่างที่เราทราบกัน อังกฤษ เข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศ ก่อนแพ้ให้ อิตาลี ในการดวลจุดโทษ และแรชฟอร์ด เป็นหนึ่งในคนที่ยิงจุดโทษพลาด อีกทั้งผลงานส่วนตัวของ แรชฟอร์ด ก็แทบไม่ใช่ตัวหลัก เขาลงเล่นเป็นตัวสำรองทั้งหมด 5 เกม และแต่ละเกมก็มีเวลาไม่ถึง 25 นาทีในสนาม (นัดชิงชนะเลิศถูกส่งลงมาในนาทีสุดท้ายของการต่อเวลาพิเศษเพื่อยิงจุดโทษ)
การไปเล่นยูโร ถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของทุกฝ่าย ทั้งทีมแพทย์ของ ยูไนเต็ด, ทีมชาติอังกฤษ และตัวของนักเตะเอง … แต่ใครล่ะจะรู้อนาคตว่ามันจะเป็นแบบนี้ ? เมื่อแก้ไขอดีตไม่ได้ก็ต้องทำปัจจุบันให้ดีขึ้น ดังนั้นชัดเจนว่า แรชฟอร์ด ไม่เต็ม 100% ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา และนั่นทำให้เขาต้องกลับมาแก้ไขทุกอย่างให้เร็วที่สุดโดยไม่ต้องกลัวคำว่า “ไม่รับประกันผลรักษา” อีกต่อไป
ไหล่เจ้าปัญหา
เพราะมีการแข่งขันยูโร 2020 เข้ามาคั่น จึงทำให้ช่วงเวลาพักระหว่างปิดฤดูกาลของนักเตะที่ติดทีมชาติลดน้อยลงไปมาก แรชฟอร์ด เองก็เช่นกัน เขากลับมาจากการติดทีมชาติด้วยความผิดหวัง และหนนี้เขาเป็นคนเสนอรับความเสี่ยงในการผ่าตัดนั้นไว้เอง ต่อให้ไม่รับประกันผลการรักษา แต่เขาเชื่อว่าไม่มีหนทางไหนจะดีต่อไหล่ของเขามากไปกว่าการผ่าตัดอีกแล้ว
ฟุตบอลยูโร 2020 นัดสุดท้ายจบลงในวันที่ 11 กรกฎาคม 2021 นั่นคือช่วงเวลาที่ แรชฟอร์ด ตัดสินใจเรียบร้อยแล้ว เหตุผลที่เขามั่นใจว่าต้องเสี่ยง เพราะนอกจากจะเป็นทางเลือกเดียวแล้ว เขายังมีตัวอย่างเรื่องการดูแลรักษาอาการบาดเจ็บของนักเตะในแคมป์ปีศาจแดงของทีมแพทย์ ที่สามารถทำให้นักเตะหลายคนหายเจ็บกลับมาเร็วกว่าที่คิด
ลุค ชอว์ เคยเจ็บที่เอ็นร้อยหวายเมื่อปี 2020 ตอนแรกก็โดนประเมินว่าต้องใช้เวลาพักอยู่ที่ 1 เดือนขึ้นไป สุดท้ายเขาใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ ในขณะที่ แฮร์รี่ แม็คไกวร์ ก็มีอาการบาดเจ็บที่เอ็นข้อเท้าในช่วงท้ายซีซั่น จนพลาดโอกาสลงเล่นในเกม ยูโรปา ลีก นัดชิงชนะเลิศ (ซึ่งทีมปีศาจแดงแพ้จุดโทษไป) แต่ก็ใช้เวลาแค่ 2 สัปดาห์สำหรับการกลับมาช่วยทีมชาติอังกฤษลงเล่นในยูโร 2020 ได้เช่นกัน
แต่เจ้ากรรม ทั้ง ๆ ที่ตัดสินใจว่าจะผ่าตัด ศัลยแพทย์ที่ทางสโมสรประสานงานให้ ดันไม่พร้อมให้บริการจนกว่าจะถึงช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคม (ไม่แน่ชัดว่าติดคิวอื่นหรือไม่) นั่นจึงทำให้ แรชฟอร์ด ต้องเสียเวลาไปราว 2-3 อาทิตย์ รอการเข้ารับการผ่าตัดเพื่อทำให้ไหล่ของเขาหายขาดให้ได้ ซึ่งเมื่อโดนเลื่อนการผ่าตัด นั่นหมายความว่า จากที่สโมสรและนักเตะเชื่อว่าเขาจะหายไปเพียง 2-3 เกมแรก (ในกรณีคิวผ่าตัดเดิมที่วางไว้) กลับกลายเป็นว่า แรชฟอร์ด จะต้องหายไปจากเกมช่วงออกสตาร์ตกับทีมไปถึง 8 เกมเลยทีเดียว
แต่ครั้งนี้ไม่ใช่เวลาที่ ยูไนเต็ด จะต้องมากลัวว่าทีมจะอ่อนแอลงเมื่อขาดเขาอีกแล้ว ขณะที่ตัวนักเตะเองก็เข้าใจแจ่มแจ้งว่า การฝืนธรรมชาติอาจจะทำให้เขาพอลงสนามได้ แต่เขาไม่สามารถทำได้ตามมาตรฐานเดิม แม้ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา กุนซือของทีมจะบอกว่า “ทีมยังไม่ได้ตัดสินใจ” แต่สุดท้ายอาการที่ไหล่ของ แรชฟอร์ด ก็มาถึงจุดที่ “รอไม่ได้” เขาเข้ารับการผ่าตัดไปเป็นที่เรียบร้อย และมีการยืนยันว่า 2-3 เดือน คือช่วงเวลาของการพักฟื้นที่เขาจะไม่สามารถเล่นฟุตบอลได้
เพราะไม่การันตีผลการรักษา ดังนั้นการพักฟื้นจึงสำคัญมาก แรชฟอร์ด จะต้องพักให้มากที่สุด เพื่อให้ไหล่ของเขาเอาชนะความเสี่ยง และกลับมาแข็งแรงเหมือนกับตอนที่ไม่เคยเจ็บให้ได้
Photo : www.manchestereveningnews.co.uk | @MarcusRashford
ตอนนี้ ยูไนเต็ด เสริมทัพด้วย เจดอน ซานโช่ เพิ่ม 1 คน อีกทั้ง อองโตนี่ มาร์กซิยาล ก็หายจากอาการบาดเจ็บมาแล้ว และนักเตะดาวรุ่งหลายคนทำผลงานได้ดีในช่วงอุ่นเครื่อง พวกเขาจึงพร้อมที่จะรับความเสี่ยงทุกกรณี เหนือสิ่งอื่นใด หากกางโปรแกรมการแข่งขันของทีมตอนที่จะไม่มีแรชฟอร์ด ก็ถือว่าไม่ใช่โปรแกรมที่โหดหินอะไรมาก ฤดูกาลที่เข้มข้นสุด ๆ ของ ปีศาจแดง คือหลังจากเดือนตุลาคมเป็นต้นไป ที่จะต้องเล่นเกมลีกกับ ลิเวอร์พูล, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ภายในเดือนเดียว ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวนั้น เป็นช่วงเวลาที่ แรชฟอร์ด จะหายเจ็บกลับมาพอดิบพอดี … อย่างน้อย ๆ ในเรื่องร้าย ๆ ก็ยังมีเรื่องดีให้พวกเขาได้คิดบวกอยู่บ้าง
เรื่องราวไหล่เจ้าปัญหาของ แรชฟอร์ด คงจะทำให้อีกหลายทีมได้เรียนรู้ว่า การเล่นได้ กับการเล่นดี มันคนละอย่างกัน บางครั้งเมื่อถึงเวลา พวกเขาก็ต้องยอมจะให้นักเตะเข้ารับการรักษาตัวให้เรียบร้อย เพื่อให้ได้ผลดีต่อทุกฝ่าย การฝืนธรรมชาติทำให้ฤดูกาล 2020-21 ของ แรชฟอร์ด เป็นอะไรที่หนักมาก เขาโดนโจมตีเรื่องฟอร์มการเล่นทั้งในระดับสโมสร และที่สำคัญกว่านั้นคือ ในระดับทีมชาติที่มีคนโกรธแค้นจนถึงขั้นเหยียดผิวเลยทีเดียว
ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าหากไหล่ของเขาหายเจ็บเขาจะทำผลงานได้ดีกว่านี้หรือไม่ แต่ที่สำคัญคือ ร่างกายที่บาดเจ็บนำไปสู่สภาพจิตใจที่ย่ำแย่แน่นอน และสภาพจิตใจก็ส่งผลอย่างมากต่อฟอร์มในสนาม ทั้งหมดคือสิ่งที่ แรชฟอร์ด ต้องพบเจอ และเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมต่อให้ไม่การันตีผลการรักษาว่าจะหายขาด แต่เขาก็ยอมเสี่ยง แม้จะเคยบอกมาเสมอว่า “ไม่อยากพลาดการลงเล่น” ก็ตาม