หวั่นสูญพันธุ์ ถั่วหรั่ง พืชอัตลักษณ์ท้องถิ่น เร่งส่งเสริมปลูก อร่อยดี-สรรพคุณเพียบ

Home » หวั่นสูญพันธุ์ ถั่วหรั่ง พืชอัตลักษณ์ท้องถิ่น เร่งส่งเสริมปลูก อร่อยดี-สรรพคุณเพียบ



ปัตตานี ถั่วหรั่ง หวั่นสูญพันธ์ พืชอัตลักษณ์ท้องถิ่นปะนาเระ อร่อยดี สรรพคุณเยอะ เกษตรจังหวัด ส่งเสริมเกษตรกรปลูก อนุรักษ์พันธุกรรมไม่ให้สูญหาย สร้างรายครอบครัว

30 พ.ย. 65 – นายจำเดิม ทองคำ รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดปัตตานี มอบหมาย นายสุชาติ ฆังมณี นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ในสังกัด ลงพื้นที่เพื่อติดตามความสำเร็จของการดำเนินงานส่งเสริมการปลูกถั่วหรั่ง พืชอัตลักษณ์ท้องถิ่น ของ ตำบลพ่อมิ่ง อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี โดยมีนางสาวพนิดา เสสน เกษตรอำเภอปะนาเระ ร่วมให้ข้อมูลพร้อมนำเยี่ยมชมพื้นที่

นางสาวพนิดา เสสน เกษตรอำเภอปะนาเระ เปิดเผยว่า ถัวหรั่ง เป็นพืชตระกูลถั่ว มีชื่อเรียกแตกต่างกันตามแต่ละท้องที่ เช่น ถั่วปันหยี ถั่วไทร ถั่วเมล็ดเดียว ถั่วโบ เเละกาแจโป (ภาษายาวี) เกษตรกรนิยมใช้เมล็ดถั่วประกอบอาหาร ทำขนมหวาน อาหารว่าง ขนมขบเคี้ยว มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีสารเมทไธโอนีน ซึ่งมีสรรพคุณในการป้องกันโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และป้องกันโรคมะเร็งลำไส้

ปัจจุบันพบการปลูกถั่วหรั่งในพื้นที่จ.ปัตตานีน้อยลง สำนักงานเกษตรจังหวัดปัตตานี ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอปะนาเระ จึงได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกถั่วหรั่งในพื้นที่ ต.พ่อมิ่ง อ.ปะนาเระ แก่เกษตรกร จำนวน 11 ราย ในพื้นที่ 10 ไร่ เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอัตลักษณ์ไม่ให้สูญหาย

ทั้งนี้ ถั่วหรั่งยังเป็นพืชที่สามารถทนต่อความแห้งแล้งได้ดี ไม่พบปัญหาโรคและแมลงเข้าทำลาย สามารถเจริญเติบโตได้ดีแม้ในดินที่มีสภาพความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ซึ่งพื้นที่ ต.พ่อมิ่ง อ.ปะนาเระ เป็นพื้นที่ภายใต้โครงการพรุแฆแฆ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสันทราย ไม่เหมาะสมในการทำการเกษตร การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกถั่วหรั่ งจึงเป็นตอบโจทย์ในการส่งเสริมการปลูกพืชทางเลือกเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้อีกด้วย

สำหรับสายพันธุ์ที่มีการส่งเสริม คือ พันธุ์สงขลา 1 เกษตรกรปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์ 7 กิโลกรัมแห้งต่อไร่ ระยะปลูก คือ 50 x 50 เซนติเมตร มีการรองก้นหลุมโดยใช้ปุ๋ยหมัก ใช้เวลาปลูก 120 วันจึงสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เกษตรกรในพื้นที่จะปลูกในช่วงเดือนสิงหาคมและเริ่มเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2565 โดยเกษตรกรจะคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ส่วนหนึ่งเพื่อใช้ปลูกในฤดูกาลผลิตถัดไป

นายสิทธิศักดิ์ นิ้วลาย เกษตรกรผู้ปลูกถั่วหรั่ง เปิดเผยว่า ปลูกถั่วหรั่งในพื้นที่กว่า 2 ไร่ ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่รกร้าง จากการเข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้ เมล็ดพันธุ์ และปุ๋ยอินทรีย์ จากสำนักงานเกษตรอ.ปะนาเระ ทำให้สามารถปลูกถั่วหรั่งซึ่งให้ผลผลิต 840 กิโลกรัมต่อไร่ มีลูกค้ามาติดต่อซื้อจากหน้าสวน ราคากิโลกรัมละ 40 บาท สร้างรายได้แก่ครอบครัวได้เป็นอย่างดี

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ