หมอเตือนใครพบ ห้ามสัมผัสเด็ดขาด สารกัมมันตรังสี ซีเซียม137 หลังหายจากโรงไฟฟ้า

Home » หมอเตือนใครพบ ห้ามสัมผัสเด็ดขาด สารกัมมันตรังสี ซีเซียม137 หลังหายจากโรงไฟฟ้า


หมอเตือนใครพบ ห้ามสัมผัสเด็ดขาด สารกัมมันตรังสี ซีเซียม137 หลังหายจากโรงไฟฟ้า

แพทย์เผยยังพบผู้มีอาการได้รับ สารซีเซียม137 หลังวัสดุกัมมันตรังสีสูญหายจากโรงไฟฟ้าปราจีนบุรี แนะหากเกิดแผลคล้ายไฟไหม้ไม่รู้สาเหตุให้รีบพบแพทย์

วันที่ 14 มี.ค. 66 นพ.กิติพงษ์ พนมยงค์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ ด้านเวชกรรม สาขาเวชกรรมทั่วไป หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม รพ.นพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีท่อบรรจุสารซีเซียม-137 จากโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำที่ จ.ปราจีนบุรี หายปริศนา ว่า สารซีเซียม-137 จะปล่อยรังสีเบตาและแกมมา ส่งผลกระทบอันตรายต่อสุขภาพ ขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีและระยะเวลาที่ได้รับ

เบื้องต้นหากท่อบรรจุสารยังอยู่ในสภาพเดิม ไม่ถูกชำแหละ ปริมาณการปล่อยรังสีจะน้อยมาก แต่หากได้รับเป็นระยะเวลานานก็มีอันตรายเช่นกัน

ถ้าหากท่อบรรจุสารถูกชำแหละ ยิ่งน่ากังวลว่าจะทำให้สารนั้นถูกปล่อยออกมามากขึ้น เนื่องจากมีลักษณะเป็นผงอาจจะทำให้มีการสูดดม หรือสัมผัสโดยตรง และเป็นอันตรายมากขึ้น เช่น หากเอามือไปจับ อาจจะทำให้ผิวหนังไหม้หรือสูญเสียอวัยวะบริเวณนั้น นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อระบบเลือด โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาว แต่จากการเฝ้าระวังด้านสาธารณสุขในพื้นที่รอบ 4 วัน ยังไม่พบว่ามีผู้ที่เข้ามารับการรักษาในอาการที่เข้าได้กับการได้รับสารซีเซียม -137

“ขอแนะนำประชาชนว่า หากเกิดอาการที่ไม่รู้สาเหตุ เช่น แผลคล้ายไฟไหม้ ดำคล้ำที่ไม่ได้เกิดจากปัญหาน้ำร้อนลวก ไฟไหม้ หรือไฟฟ้าชอร์ต ไม่แน่ใจในสาเหตุที่เกิดขึ้นก็สามารถโทรมาปรึกษาหรือเข้ามารับการรักษาที่ รพ.ได้” นพ.กิติพงษ์ กล่าว

นพ.กิติพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทีมค้นหายังหาไม่เจอสารซีเซียม-137 แม้จะมีการจัดตั้งทีมค้นหาตรวจวัดปริมาณรังสีตามร้านรับซื้อของเก่าในหลาย ๆ จุดไปแล้ว ไม่แน่ใจว่าผู้ที่นำออกไปมีการนำไปทิ้งที่ไหนหรือไม่ หากประชาชนเจอวัตถุต้องสงสัย โดยเฉพาะชนิดที่เป็นโลหะ มีสัญลักษณ์รูปใบพัด มีคำเตือนภาษาอังกฤษ Dangerous หรือคำว่า Radioactive และอื่นๆ ขอให้อยู่ให้ห่างและแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ หากบังเอิญสัมผัสโดยไม่รู้ตัว ขอให้ถอดเสื้อผ้าชำระร่างกาย นำเสื้อผ้าชุดนั้นใส่ถุงมัดปากไว้ในที่ปลอดภัยห่างไกล แจ้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบปริมาณรังสี เพื่อนำไปทำลายต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ