'หมอธีระ' ห่วงอาหาร-เครื่องดื่ม ผสมกัญชา คุมไม่ได้ ยกเคสโจ๋19ในสหรัฐ กินคุกกี้กัญชาดับ

Home » 'หมอธีระ' ห่วงอาหาร-เครื่องดื่ม ผสมกัญชา คุมไม่ได้ ยกเคสโจ๋19ในสหรัฐ กินคุกกี้กัญชาดับ



‘หมอธีระ’ ห่วงอาหาร-เครื่องดื่ม ผสมกัญชา เป็นเรื่องท้าทาย หากควบคุมไม่ได้ จะกระทบสุขภาพ อุบัติเหตุ ความรุนแรง ยกเคสโจ๋19ในสหรัฐกินคุกกี้กัญชาดับ

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.65 นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” ระบุว่า รายงานการเสียชีวิตจากการกินคุกกี้กัญชา วารสารทางการแพทย์และสาธารณสุข MMWR ฉบับวันที่ 24 กรกฎาคม 2015 รายงานกรณีศึกษาผู้เสียชีวิตในสหรัฐอเมริกาหลังจากกินคุกกี้กัญชา

เหตุเกิดเมื่อมีนาคม 2014 ฝ่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมของรัฐโคโลราโด้ ได้รับรายงานว่ามีผู้ชายอายุ 19 ปี ที่เสียชีวิตหลังจากกินผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม จึงไปทำการสอบสวนภาวะดังกล่าว ทบทวนผลการชันสูตรศพ และรายงานของตำรวจ เรื่องราวที่เกิดขึ้นคือ ผู้เสียชีวิตคนนี้ได้รับคุกกี้กัญชาจากเพื่อน หลังจากกินไปเพียง 1 ชิ้น เวลาผ่านไป 30-60 นาที ต่อมาก็ไม่ได้รู้สึกอะไร จึงได้กินเพิ่ม

หลังจากนั้น 2 ชั่วโมง พบว่ามีอาการพูดจาตะกุกตะกักผิดๆ ถูกๆ และมีอาการและพฤติกรรมดุร้ายขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป 3 ชั่วโมงครึ่งหลังที่กินคุกกี้ชิ้นแรก และหลังกินเพิ่มไป 2 ชั่วโมงครึ่ง ผู้เสียชีวิตก็ได้กระโดดจากระเบียงชั้น 4 ของอาคาร และเสียชีวิต ผลชันสูตรศพหลังเสียชีวิตไป 29 ชั่วโมง พบว่ามีปริมาณกัญชาเกินขนาด และน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่ภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นและนำไปสู่การเสียชีวิต

ผลการวิเคราะห์สารเสพติดจากเลือดที่คั่งในช่องอก ตรวจพบสารประเภท cannabinoids ได้แก่ สาร delta-9 tetrahydrocannabinol [THC] 7.2 ng/mL และสาร delta-9 carboxy-THC 49 ng/mL ทั้งนี้ ปริมาณข้างต้นถือว่าสูง เพราะโดยที่ตามกฎหมายของรัฐโคโลราโด้นั้น ปริมาณของ delta-9 THC ในเลือดต้องไม่เกิน 5.0 ng/mL สำหรับการขับขี่ยานพาหนะ

นี่เป็นกรณีศึกษาเคสแรกที่มีหลักฐานชัดเจนครบถ้วนว่า การกินผลิตภัณฑ์ที่มีสารประกอบจากัญชาจนนำไปสู่การเสียชีวิต โดยไม่ได้มีการใช้สารเสพติดอื่นมาเกี่ยวข้องในเหตุการณ์

และเป็นเรื่องที่ต้องย้ำเตือนกันให้ดีสำหรับประเทศไทย ที่การควบคุมผลิตภัณฑ์ อาหารการกิน และเครื่องดื่มต่างๆ ที่มีส่วนผสมเป็นกัญชาเป็นเรื่องท้าทาย หากควบคุมไม่ได้ อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพ อุบัติเหตุ ความรุนแรง การทำร้ายตนเอง การฆ่าตัวตาย รวมถึงอาชญากรรมต่างๆ ตามมาในสังคม

อ้างอิง
Hancock-Allen JB et al. Notes from the Field: Death Following Ingestion of an Edible Marijuana Product–Colorado, March 2014. MMWR Morb Mortal Wkly Rep. 24 July 2015.

และว่า “เตือนไว้ตั้งแต่ 13 สิงหาคม 2562 ขณะที่ตะบี้ตะบันผลักดันปลดล็อก

ข้อมูลวิชาการแพทย์นั้นชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม อันตรายของการเสพกัญชาในวัยรุ่น…

กลุ่มวัยรุ่นที่พยายามจะฆ่าตัวตายมีประวัติการเสพกัญชามากกว่าปกติ 3.46 เท่า กลุ่มวัยรุ่นที่เป็นโรคซึมเศร้านั้นมีประวัติการเสพกัญชามากกว่ากลุ่มที่ไม่เป็น ราว 1.37 เท่า
กลุ่มวัยรุ่นที่มีความคิดจะทำร้ายตนเอง/คิดที่จะฆ่าตัวตายมีประวัติการเสพกัญชามากกว่ากลุ่มที่ไม่เป็น ราว 1.5 เท่า

นี่เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับสังคมไทยที่จะต้องเตรียมรับมือกับสังคมอุดมกัญชา คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง คุณครู รวมถึงน้องๆ เด็กวัยรุ่น เยาวชน อาจต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ให้คำแนะนำ ให้ความรู้แก่ลูกหลานและเพื่อนๆ อย่าได้ไปริลองกัญชา

นอกจากนี้ หากพบปัญหาทางจิตเวช ซึมเศร้า ทำร้ายตนเอง พยายามฆ่าตัวตาย ก็ให้นึกถึงสาเหตุเรื่องการใช้ยาเสพติดต่างๆ ไว้ด้วย จะได้วางแผนดูแลและป้องกันได้ในอนาคต เรื่อง Self harm จะพบมากขึ้น หลังปลดล็อคและควบคุมการใช้ไม่ได้

อ้างอิง Gobbi G et al. Association of Cannabis Use in Adolescence and Risk of Depression, Anxiety, and Suicidality in Young Adulthood: A Systematic Review and Meta-analysis. JAMA Psychiatry. 2019;76(4):426-434. doi:10.1001/jamapsychiatry.2018.4500

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ