เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจและเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง หลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกฎกระทรวง กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ รวม 20 ตัว ระบุว่าหากถือครองไม่เกินที่กำหนดให้สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อเสพ สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน พร้อมเกิดเป็นคำถามถึงเรื่องการปฏิบัติและปัญหายาเสพติดเรื้อรังที่อาจจะตามมา จน “นายแพทย์ชลน่าน” ต้องออกโรงชี้แจง
แล้วประเด็นร้อนเรื่องนี้เกิดอะไรขึ้นแล้วบ้าง Sanook สรุปครบมาให้ทุกคนได้อ่านกัน!
สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้เพื่อเสพ
วันที่ 9 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุบเกษา ได้เผยแพร่ ประกาศกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ ที่ให้สินนิษฐานว่ามีไว้ครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.2567 ลงนามโดย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีสาระสำคัญคือ การมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1, 2 หรือ 5 ในครอบครอง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้เพื่อเสพ เช่น ยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด หรือเฮโรอีนไม่เกิน 300 กรัม เป็นต้น
โดยรายละเอียดของกฎกระทรวงข้างต้น มีดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้ “หน่วยการใช้” หมายความว่า เม็ด ซอง ขวด หรือหน่วยอย่างอื่นที่ทำขึ้นซึ่งโดยปกติสำหรับการใช้เสพหนึ่งครั้ง
ข้อ 2 การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท ในปริมาณเล็กน้อยตามที่กำหนดดังต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ
- ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1
- แอมเฟตามีน (amphetamine หรือ amfetamine) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม
- เอ็น – เอทิล เอ็มดีเอ หรือเอ็มดีอี (N – ethyl MDA หรือ MDE) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,255 มิลลิรัม
- เฮโรอีน (heroin หรือ diacetylmorphine) มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 300 มิลลิกรัม
- เดกซ์โทรไลเซอร์ไจด์ (+) – lysergide) หรือแอลเอสดี (LSD) หรือแอลเอสดี – 25 (LSD 25) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม
- เมทแอมเฟตามีน (methamphetamine หรือ metamfetamine) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม หรือในกรณีที่เป็นเกล็ด ผง ผลึก มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม
- เมทิลีนไดออกซีแอมเฟตามีน (methylenedioxyamphetamine หรือ tenamfetamine หรือ MDA) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,250 มิลลิกรัม
- 3,4 – เมทิลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน (3,4 – methylenedioxymethamphetamine หรือ methylenedioxymetamfetamine หรือ ecstasyหรือ MDMA) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,250 มิลลิกรัม
- ยาเสพติดให้โทษในประเภท 2
- โคคาอีน (cocaine) มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 200 มิลลิกรัม
- ฝิ่น มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 5,000 มิลลิกรัม
- ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
- พืชฝิ่นหรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้ฝิ่นหรือแอลคาลอยด์ของฝิ่น มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 15,000 มิลลิกรัม
- เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควายหรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้สาร psilocybin หรือ psilocin มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 135,000 มิลลิกรัม
- สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinolหรือ THC) ที่เป็นสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงที่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน30,000 มิลลิกรัม หรือในกรณีที่เป็นของเหลวมีปริมาตรสุทธิไม่เกิน 30 มิลลิลิตร
- วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1
- ฟลูอัลพราโซแลม (fualprazolam) มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 650 มิลลิกรัม
- ฟีนาซีแพม (phenazepam) มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,640 มิลลิกรัม
- วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2
- อัลพราโซแลม (alprazolam) มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,300 มิลลิกรัม
- คีตามีน (ketamine) ในกรณีที่เป็นของเหลวมีปริมาตรสุทธิไม่เกิน 10 มิลลิลิตร หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 10,000 มิลลิกรัม หรือในกรณีที่เป็นเกล็ด ผง ผลึก มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม
- มิดาโซแลม (midazolam) มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 2,080 มิลลิกรัม
- ไนเมตาซีแพม (nimetazepam) มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,890 มิลลิกรัม
- ไนทราซีแพม (nitrazepam) มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 5,560 มิลลิกรัม
- เฟนเทอร์มีน (phentermine) มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 3,200 มิลลิกรัม
หมอชลน่านออกโรงชี้แจง
หลังประกาศกฎกระทรวงออกมา ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง กระทั่งวันที่ 11 ก.พ. 2567 นายแพทย์ชลน่านได้ออกมากล่าวถึงประเด็นร้อนดังกล่าว โดยระบุว่าเจตนารมณ์ของประกาศกฎกระทรวงดังกล่าว เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ในมาตรา 24 วรรคสอง และมาตรา 107 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่ต้องการแยกผู้เสพกับผู้จำหน่ายยาเสพติด โดยกำหนดให้ผู้เสพถือเป็นผู้ป่วย ที่หากสมัครใจเข้ารับการบำบัด ก็จะหายจากการใช้ยาเสพติดได้
พร้อมกันนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน นายแพทย์ชลน่านได้ชี้แจง ดังต่อไปนี้
- เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ปี 2566 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้ประชุมกัน เพื่อวางหลักเกณฑ์ในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ประเภทยาบ้า หลังจากนำเสนอข้อมูลของแต่ละฝ่ายอย่างรอบคอบและรอบด้าน มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ผู้ที่มียาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด เมื่อถูกตำรวจจับได้ ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ และให้เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่ควรนำไปบำบัดรักษาให้หายเป็นปกติ ซึ่งปกติจะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกับความสมัครใจของผู้นั้นว่าจะยอมไปบำบัดรักษาไหม ถ้าไม่ยอมรับการบำบัดก็จะถูกดำเนินคดีข้อหาครอบครองยาเสพติดเพื่อเสพ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หากพิสูจน์ได้ว่ามีพฤติการณ์ขายต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย
- ส่วนผู้ที่มียาบ้าเกินกว่า 5 เม็ด เช่น มี 6 เม็ดหรือมากกว่านี้ ถูกตำรวจจับ ให้ถือเป็นผู้มียาบ้าไว้ในครอบครองยาเสพติดให้โทษ ซึ่งมีโทษเท่ากับ การจำหน่าย ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายยาเสพติดให้โทษ นั่นคือ จำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี
- ข้อสรุปนี้ เป็นผลจากการประชุมร่วมกันของเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 66 ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, อัยการ และศาลยุติธรรม เป็นต้น
- กระทรวงสาธารณสุข ได้มีนโยบายและแนวทางที่ชัดเจน ซึ่งได้ย้ำกับบุคลากรของกระทรวงมาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ก็คือ เมท แอมเฟตามีน (ยาบ้า) เป็นยาเสพติดให้โทษที่ห้ามเสพ ห้ามมีไว้ในครอบครอง ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า หรือส่งออก หรือห้ามจำหน่ายไม่ว่าจะกี่เม็ดก็ตาม ถือว่าเป็นความผิดต้องได้รับโทษ แต่มีเงื่อนไขเรื่องจำนวนเม็ดที่กำลังพิจารณาดำเนินการอยู่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เช่น มีไว้เสพ ก็ต้องรีบนำไปบำบัดรักษาให้หาย ก่อนที่จะเกิดอันตรายต่อตัวผู้เสพเอง หรือเมื่อเกิดอาการจิตหลอน ก็ใช้อาวุธไปทำร้ายคนรอบข้าง ได้แก่ ลูก เมีย พ่อแม่ ญาติพี่น้อง และคนทั่วไป จนถึงแก่ชีวิต ดังที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชน ถ้าพบพฤติการณ์มียาไว้จำหน่าย ก็จะต้องได้รับโทษหนัก
- ยาบ้า 5 เม็ด ยืนยันว่าไม่ได้นั่งคิดขึ้นมาเองตามใจชอบ แต่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์ และแพทย์ทางด้านสุขภาพจิตของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้นำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการที่พิจารณาเรื่องนี้
- ตามขั้นตอน ตนในฐานะ รมว.สาธารณสุข จะส่งเรื่องนี้ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมตรี เพื่อจัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นต่อการกำหนดจำนวนเม็ดยาบ้าดังกล่าว หลังได้แนวทางซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และได้ผ่านการเห็นชอบคณะรัฐมนตรี นำมาประกาศเป็นกฎกระทรวง
นายแพทย์ชลน่านยังได้ย้ำว่า ทั้งหมดผ่านการลงความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายว่า ผู้ค้า ผู้เสพ และทุกฝ่ายในสังคมต้องร่วมมือกัน ใครมีหน้าที่ปราบปรามจับกุมก็ทำอย่างเข้มแข็ง กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่บำบัดรักษา ส่งคืนสู่สังคม พยายามให้ไม่ย้อนกลับไปเสพใหม่ การดำเนินการผ่านกระบวนการคิดจากหลายๆ ฝ่ายมาร่วมมือกัน ใครถือเป็นผู้ป่วยต้องเข้ารับการบำบัด
อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะเป็นผู้เสพ แต่ถ้ามีพฤติกรรม และพยานแวดล้อมว่าเป็นผู้ค้า ไม่ว่าจะกี่เม็ดก็ต้องติดคุก รัฐบาลจะดำเนินการปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดให้หมดไปจากสังคมไทย โดยยึดหลักการ “เปลี่ยนผู้เสพ เป็นผู้ป่วย” สนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการรักษาบำบัดอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง โดยผู้เสพต้องเข้ารับการบำบัด เมื่อบำบัดครบ ได้รับการรับรอง จึงถือว่าไม่ต้องรับโทษ และเมื่อผ่านการบำบัดทางการแพทย์แล้ว จะเข้าสู่กระบวนการบำบัดทางสังคม โดยหลักการชุมชนบำบัด จนสามารถเชื่อได้ว่าไม่กลับไปเสพซ้ำ มีพฤติกรรมที่ดี สามารถที่จะกลับสู่สังคมได้