หนุ่มเจ้าของร้านกาแฟ ที่ถูกปลอมแปลงบัตรประชาชน 7 ใบ เข้าพบตร.เพื่อให้ข้อมูลยืนยันความบริสุทธิ์ใจ เชื่อถูกนำข้อมูลไป จากการสมัครแอพเงินกู้ออนไลน์
กรณีอธิบดีกรมการปกครอง เปิดเผยข้อมูลว่า ตรวจพบการปลอมแปลงบัตรประจำตัวประชาชนของชายหนุ่มรายหนึ่ง ที่จ.กาญจนบุรี นำไปใช้ในชื่อต่างๆ มากถึง 7 ใบ พร้อมทั้งสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเหตุใด จึงมีบัตรประจำตัวประชาชนปลอมของชายหนุ่มดังกล่าวไปใช้หลอกลวงประชาชนซื้อขายผ่านทางเฟซบุ๊กได้นั้น อ่านข่าว หนุ่มมีบัตรประชาชน7ใบ นายอำเภอแจงไม่พบฐานข้อมูล เชื่อทำปลอมขึ้นมาทั้งหมด
ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 9 มี.ค.66 ผู้สื่อข่าวติดต่อไปยัง นายภาคิน อายุ 33 ปี หนุ่มเจ้าของร้านกาแฟ ที่เป็นผู้ถูกนำบัตรประจำตัวประชาชนไปปลอมแปลง โดยนายภาคิน ยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่า ตนไม่ได้เป็นคนปลอมแปลงบัตรประชาชนทั้ง 7 ใบ แต่เชื่อว่าน่าจะมีมิจฉาชีพนำบัตรประชาชนของตนไปปลอมแปลง แล้วนำไปใช้หลอกลวงประชาชนมากกว่า
โดยเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา นายภาคินเดินทางมายัง สภ.ลาดหญ้า เพื่อเข้าพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงความบริสุทธิ์ใจ พร้อมให้ข้อมูลกับผู้อำนวยการส่วนป้องกันและปราบปรามการทุจริต การทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ที่ลงพื้นที่มาสอบถามข้อมูลจากนายภาคินด้วยตนเอง
โดยหลังจากเข้าให้ข้อมูลเสร็จเรียบร้อย นายภาคิน เปิดใจกับผู้สื่อข่าวว่า ตนทราบว่ามีการนำบัตรประชาชนของตนไปปลอมแปลง เพื่อใช้หลอกลวงประชาชนครั้งแรก เมื่อช่วงเดือนก.ย.65 โดยนำไปใช้หลอกโอนเงินมัดจำซื้อขายรถจักรยานยนต์ ในเพจซื้อขายรถมือสองแห่งหนึ่ง
โดยมิจฉาชีพใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เปลี่ยนแปลงชื่อ นามสกุล บนบัตรของตน แล้วนำไปใช้เป็นหลักฐานส่งให้กับผู้ที่หลงเชื่อโอนเงินมัดจำมาให้แล้วเบี้ยว ไม่ยอมส่งมอบรถ จนผู้เสียหายไปแจ้งความและตรวจสอบเลขประจำตัวบนบัตรประชาชนใบดังกล่าว
จนพบว่าเป็นบัตรของตน ตนจึงไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ตนถูกปลอมแปลงเอกสารบัตรประชาชน ซึ่งหลังจากแจ้งความเรียบร้อย ตนก็คิดว่าทุกอย่างจะจบ มิจฉาชีพที่นำบัตรของตนไปใช้คงจะหยุดก่อเหตุ และเลิกใช้บัตรประชาชนของตน แต่กลายเป็นว่ามิจฉาชีพรายดังกล่าว ยังคงนำเอาบัตรประชาชนของตนไปใช้ โดยใช้การเปลี่ยนแปลงชื่อ นามสกุล สลับเลขประจำตัวบนบัตรไปมา แต่ยังคงใช้รูปและใช้ที่อยู่ของตนในการก่อเหตุเรื่อยมา
ทำให้จนถึงตอนนี้ตนถูกออกหมายเรียกในคดีหลอกลวงลักษณะเดียวกันนี้ถึง 12 คดี และยังมีคดีที่ผู้เสียหายไม่ได้แจ้งความ แต่เข้ามาติดต่อหาตนโดยตรง เพราะคิดว่าตนเองเป็นมิจฉาชีพอีกนับ 10 ราย ซึ่งตนก็แสดงความบริสุทธิ์ใจให้ตรวจสอบเลขบัญชีที่โอนเงินว่าไม่ได้เป็นของตน และตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
ส่วนสาเหตุที่มิจฉาชีพรายนี้ สามารถนำบัตรประจำตัวประชาชนของตนไปปลอมแปลงได้นั้น น่าจะเป็นเพราะเมื่อปีที่แล้ว ตนไปสมัครแอพเงินกู้ออนไลน์แอพหนึ่ง ซึ่งทางแอพต้องให้ส่งรูปถ่ายบัตรประชาชน พร้อมถ่ายรูปของตนร่วมกับบัตรประชาชน เพื่อยืนยันตัวตนสมัครใช้แอพ
ซึ่งตนก็ส่งไปให้ตามที่ขอพร้อมเสียค่าธรรมเนียมอีก 500 บาท เพื่อทำเรื่องขอกู้เงิน 5 หมื่นบาท แต่สุดท้ายเงินกู้ก็ไม่ได้รับอนุมัติ ตนต้องถูกหลอกเสียเงินฟรีไป 500 บาท แถมยังถูกนำบัตรประชาชนไปปลอมแปลงก่อคดีอีกนับ 10 คดี
และยังต้องกลายเป็นคนที่ถูกผู้คนในสังคมเข้าใจว่าเป็นมิจฉาชีพไปด้วย ตนจึงอยากฝากถึงคนที่จะตัดสินใจสมัครแอพเงินกู้ออนไลน์หรือสมัครบริการต่างๆที่ต้องใช้บัตรประชาชนสมัครและยืนยันตัวตนว่า ควรตรวจสอบข้อมูลของแอพให้ชัดเจนว่า เป็นแอพมิจฉาชีพหรือไม่ เพราะอาจจะถูกหลอกเหมือนตน ที่ต้องเสียเงินและยังต้องมากลายเป็นผู้ต้องสงสัยกระทำผิดหลอกลวงประชาชนไปด้วย
ด้านนายเอกอนันต์ ศรีอินทร์ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันและปราบปราม การทุจริตการทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน สำนักทะเบียนกลางกรมการปกครอง ซึ่งมาสอบข้อมูลจากนายภาคินด้วยตนเอง กล่าวว่า การสอบข้อมูลจากนายภาคินวันนี้ ทำให้ทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างมาก เพื่อจะนำไปใช้ติดตามหาตัวของผู้ที่นำเอาบัตรของนายภาคินไปปลอมแปลง และนำมาใช้หลอกลวงประชาชน
ซึ่งจากข้อมูลที่นายภาคินให้มา เชื่อว่ามิจฉาชีพน่าจะได้รูปถ่ายพร้อมข้อมูลบัตรประชาชนของนายภาคินไปแอพสมัครกู้เงินออนไลน์ ก่อนจะนำรูปบัตรประชาชนใบดังกล่าวไปดัดแปลงผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และนำไปก่อเหตุดังกล่าว ซึ่งหลังจากนี้ก็จะสอบสวนหาตัวของผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป