‘บิ๊กตู่’ พอใจแก้ปัญหาหนี้สินครูคืบ ศธ.จัดตั้ง 558 สถานีแก้หนี้ครูทั่วประเทศ เร่งสางหนี้ 1.4 ล้านล้านบาท เสนอ 7 มาตรการหลักแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบ ตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ประกาศให้ปี 2565 เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” ว่า
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการดำเนินตามมาตรการ 7 เรื่อง ได้แก่ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ให้สมกับเป็นสินเชื่อสวัสดิการ, ตัดเงินเดือนของข้าราชการ การทำให้ครูมีเงินเหลือใช้หลังจากชำระหนี้ ไม่น้อยกว่า 30% หรือไม่น้อยกว่าเดือนละ 9,000 บาท,
การคุมยอดหนี้ที่ครูจะสามารถกู้ได้ ไม่ให้เกินศักยภาพที่จะชำระคืนได้ด้วยเงินเดือน, การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้เจ้าหนี้ทุกรายสามารถแบ่งเงินเดือน 70% ได้อย่างเพียงพอ, การประกาศกำหนดกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตัดเงินเดือน, การแก้ปัญหากรณีครูผู้กู้และผู้ค้ำประกันถูกฟ้องร้องดำเนินคดี, การช่วยครูแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ
นายธนกร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูทั่วประเทศแล้ว 558 สถานี คือระดับจังหวัด 77 แห่ง ระดับเขตพื้นที่การศึกษา 245 แห่ง และระดับส่วนกลาง เช่น สป. กศน. ก.ค.ศ. สอศ. 236 แห่ง เพื่อให้สามารถรองรับครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ลงทะเบียน
ขอรับการช่วยเหลือแก้หนี้ 41,128 คน ได้อย่างครอบคลุม ขณะนี้สถานีแก้หนี้ทุกแห่งกำลังวิเคราะห์ข้อมูล และติดต่อขอข้อมูลจากผู้ลงทะเบียน เพื่อรวบรวม วิเคราะห์ จัดทำข้อมูลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้สินครู
โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ขอให้เชื่อมั่นแนวทางดำเนินงานแก้หนี้สินครูทั้งระบบเกิดขึ้นได้จริง เพื่อให้หนี้สินของครูทั่วประเทศที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ 4 แสนคน และที่เกษียณอายุราชการแล้วอีก 5 แสนคน รวม 9 แสนคน รวมยอดหนี้สวัสดิการหักเงินเดือน ข้าราชการ 1.4 ล้านล้านบาท
แบ่งเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 108 แห่ง ยอดหนี้ 9 แสนล้าน และสถาบัน การเงิน 3 แห่ง ธนาคารออมสินอาคารสงเคราะห์ กรุงไทย ยอดหนี้ 5 แสนล้านบาท ได้รับการแก้ไขตามแนวทางดังกล่าว โดยมีหนี้เสียหรือเป็น NPLs ไม่เกิน 1-2% เท่านั้น
นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีตั้งใจขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู และบุคลากรทางการศึกษาให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตครูและครอบครัว ช่วยลดความกังวล ซึ่งจะส่งผลให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สร้างคุณภาพของนักเรียนและเยาวชนของประเทศให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ