สเป๊กผู้ว่าฯกทม.แก้ปัญหาคนกรุง : รายงานการเมือง

Home » สเป๊กผู้ว่าฯกทม.แก้ปัญหาคนกรุง : รายงานการเมือง



สเป๊กผู้ว่าฯกทม.แก้ปัญหาคนกรุง : รายงานการเมือง

แม้รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนเรื่องกำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แต่มีความเคลื่อนไหวของผู้สนใจเสนอตัว และพรรคการเมืองบ้างแล้ว

ทั้ง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ในนามพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึง พล.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบัน

สเป๊กผู้ว่าฯ กทม.ยุคนี้ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร เท่าที่ออกตัว หรือบางรายเปิดตัวเป็นทางการแล้วน่าสนใจหรือไม่ มีความเห็นจากนักวิชาการ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

คุณสมบัติผู้ว่าฯกทม. ต้องเป็นผู้รับรู้ เข้าใจความต้องการของคนเมือง เพราะรอบหลายปีที่ผ่านมาเมืองเปลี่ยนแปลงไปแบบคาดไม่ถึง ใครจะคิดว่ากทม. ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว เมืองธุรกิจ และเป็นศูนย์กลางราชการ วันนี้จะอยู่ในสภาพแบบนี้ การใช้ประโยชน์เมืองวันนี้ไม่เหมือนเดิม

ที่สำคัญคนที่จะมาเป็นผู้ว่าฯกทม. ต้องไม่ลืมว่าเมืองหลวง เป็นเมืองของคนหลายกลุ่มที่ใช้ทรัพยากรของเมืองนี้ ดังนั้น ฐานสำคัญที่สุดคือผู้ว่าฯกทม. ต้องรู้จักบุคคลที่อาศัยอยู่ในกทม. และต้องรู้ความต้องการของเมืองอย่างแท้จริง

เมืองหลวงต้องเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อน ผู้ว่าฯกทม.จึงต้องเป็นคนมองทุกอย่างรอบด้าน ทุกมิติและเป็นระบบ เช่น ประสิทธิภาพการรับคนเข้าเมือง ส่งคนออกเมืองก็เป็นส่วนสำคัญที่ผู้ว่าฯกทม. ต้องให้ความสำคัญ นึกภาพคนเป็นหมื่นๆ คนอยู่บนถนน เห็นระลอกคลื่นของคนทำให้เกิดการเผาผลาญพลังงาน

ดังนั้น จะคิดแบบเดิมไม่ได้ ต้องเป็นคนที่มีความเข้าใจเรื่องระบบขนส่งมวลชน การบริการสาธารณะ และการเติบโตของเมือง

กทม.เป็นเมืองที่ต้องการการเข้าถึงการขนส่งสาธารณะทั้งหลาย ต้องการคนที่มีความเข้าใจเรื่องการจัดการเมืองในทุกองคาพยพ ทำอย่างไรให้ได้ผู้ว่าฯกทม. ที่มีทีมทำงานที่มีความสามารถ มองไปไกลกว่าการใช้กลไกระบบราชการ และเป็นเมืองของคนทุกคน ทุกภาคส่วน ต้องสร้างมูลค่าของเมืองได้ ทำอย่างไรให้เมืองเก่าแบบนี้ดำรงอยู่

ทั้งหมดถือเป็นสิ่งที่ผู้ว่าฯกทม. ต้องมีวิสัยทัศน์ หากทำได้จะช่วยพัฒนาเมืองหลวงแห่งนี้ได้ ส่วนที่เหลือคือความกล้าหาญของรัฐบาลที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในปีหน้า

ส่วนรายชื่อบุคคลที่จะลงแข่งที่ปรากฏออกมานั้น เท่าที่ดูขณะนี้ทุกคนมีความรู้ ความสามารถ จุดเด่น จุดด้อย แตกต่างกัน เราต้องการบุคคลที่มีความเป็นผู้นำสูง แต่ไม่ใช่สุดยอดมนุษย์ ที่สำคัญคือทีมที่แข็งแรง ที่จะช่วยให้งานพัฒนากทม.เป็นไปได้ด้วยดี

ปฏิเสธไม่ได้ว่ารสนิยมการเลือกผู้ว่าฯกทม. ของคน กทม.เป็นเรื่องแปลก ท้ายที่สุดการหย่อนบัตร การสวิงทางอารมณ์ การปลุกอารมณ์ของคนกทม. จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความอ่อนไหวให้คนกทม.อย่างไม่น่าเชื่อ คนกทม.ต้องกล้าเลือก กล้าให้โอกาส คนที่ทำงานจริงๆ

ต้องยอมรับว่าครั้งที่ผ่านๆมา พรรคประชาธิปัตย์ได้เปรียบจากปัจจัยจากการเมืองท้องถิ่นในกทม.นั่นคือส.ก. เข้าถึงชุมชน ผู้นำชุมชน แต่ปัจจุบันมีการใช้โซเชี่ยลมีเดียประชาสัมพันธ์ และการแสดงตน ที่สำคัญคือการเดินเข้าหาชุมชนของผู้สมัครจะเป็นปัจจัยที่น่าสนใจ

ถ้าเราข้ามพ้นความเป็นฐานการจัดตั้งของพรรค การเมือง เชื่อว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้จะสนุกคนกทม.จะมีความหวัง

ยุทธพร อิสรชัย

รัฐศาสตร์ มสธ.

การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เป็นสนามหนึ่งที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจับตาและให้ความสำคัญ ดังนั้นคนที่จะเข้ามาต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ เรื่องความรู้ ความสามารถ ประวัติการทำงานและต้องเป็นผู้ที่มุมมองและมีวิสัยทัศน์ต่อการบริหารเมืองที่ดี

ซึ่งหมายถึงเมืองที่มีความเป็นธรรม ไม่ได้หมายถึงเมืองที่มีสิ่งก่อสร้างทางวัตถุ มีโครงการขนาดใหญ่เท่านั้น ถ้าเมืองที่ไม่มีความเป็นธรรมจะไม่ตอบโจทย์เพื่อแก้ปัญหาอีกหลายประการได้

พื้นที่กทม.มีโครงการต่างๆ ที่ใช้เงินทุนมหาศาลแต่คนเข้าไม่ถึง เช่น เสาไฟกินรี การทำคลองช่องนนทรี สะท้อนให้เห็นว่าทัศนคติของคนที่จะเป็นผู้ว่าฯ กทม.สำคัญ ไม่เช่นนั้นจะไม่ช่วยเรื่องการสร้างเมืองที่น่าอยู่ได้

วันนี้การสังกัดพรรคหรือไม่ ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการตัดสินใจของประชาชน แต่ปัจจัยหลักอยู่ที่ตัวบุคคล คุณสมบัติเฉพาะ อีกส่วนคือกระแสการเมืองระดับชาติ เพราะอดีตมีสถิติว่าคนกรุงเทพฯมักเลือกผู้ว่าฯ กทม. ที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ มีบางสมัยเท่านั้นที่เลือกสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน

ดังนั้น การลงสมัครแบบพรรค หรือแบบอิสระ ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจของประชาชน

และจริงๆ ก็คิดว่าผู้สมัครทุกคนได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเปิดตัวอย่างชัดเจนว่าลงในนามพรรค หรือไม่ได้สังกัดพรรคแต่มีการสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการ เป็นอิสระจริงๆ มีน้อยมาก

นโยบายอาจเป็นส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญคือกระแสการเมืองกับการทำงานในพื้นที่ เพราะโครงสร้างสังคมวิทยาของกทม.ซับซ้อน หลากหลาย มีทั้งชุมชนดั้งเดิมที่ให้ความสำคัญกับคนที่ทำงานในพื้นที่เป็นหลัก และยังมีอยู่ในทั้งกทม.ชั้นใน ชั้นกลางและชั้นนอก

แต่ครั้งนี้อย่าลืมว่าหลายพื้นที่โครงสร้างอำนาจการเมืองเปลี่ยน และการยังไม่มี ส.ข.จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงการเลือกตั้งได้เช่นกัน

ยังมีประชากรแฝงที่ไม่ใช่คนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง มาจากต่างจังหวัด และกลุ่มคนที่เดิมบ้านอยู่กทม.ชั้นในไปซื้อบ้านจัดสรรรอบนอก ซึ่งไม่ได้สัมผัสหรือรู้จักชุมชนเท่าไร หรือแม้แต่ชุมชนคอนโดฯ ชุมชนบ้านเช่า ชุมชนอพาร์ตเม้นต์ ที่ไม่ได้สัมผัสกับชุมชนดั้งเดิม มุมมองก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง

คือให้ความสำคัญกับกระแสเรื่องการเมืองระดับชาติเป็นหลัก บางครั้งคนกลุ่มนี้ไม่ได้ดูนโยบาย ไม่ได้ดูเรื่องการทำงานในพื้นที่ แต่เป็นผลจากกระแสการเมืองระดับชาติ เรื่องการแบ่งขั้ว บ่อยครั้งจึงเห็นการโหวตในลักษณะขั้วตรงข้ามปรากฏอยู่เสมอ

ดังนั้น การเลือกตั้งสองครั้งหลังสุดคะแนนเสียงพลิกผันได้ในชั่วข้ามคืน เพราะกระแสการแบ่งขั้วทางการเมืองนี้เอง

รายชื่อผู้สมัครที่ปรากฏน่าสนใจทุกคน สะท้อนว่า กทม.เป็นการปกครองที่ผู้สมัคร พรรคการเมืองสนใจ แต่ยังไม่เห็นประเด็นจุดใหญ่ใจความที่โดดเด่นพอต่อผลการตัดสินใจ

นายชัชชาติ อาจเปิดตัวมานานแล้ว แต่ประเด็นการเมืองอาจมีการดึงเวลาประกาศเลือกตั้ง ทำให้สิ่งที่นายชัชชาติ จะนำเสนอต่อสังคมอาจยังไม่ชัดนัก นายสุชัชวีร์ แม้จะเปิดชัดเจนและนำเสนอวิสัยทัศน์ ลงพื้นที่ แต่คุณภาพในการทำงานก็ยังไม่โดดเด่นนัก ส่วนนายสกลธี ภัททิยกุล ที่มีข่าวจะลง แม้เป็นรองผู้ว่าฯกทม. ก็ยังไม่มีภาพที่โดดเด่น หรือกระทั่งสมัยเป็นส.ส.

สิ่งที่สำคัญมากกว่าการมาขายฝันของผู้ว่าฯ กทม.ในทุกยุคทุกสมัย ที่เราไม่พบเลยคือการพูดถึงการปรับโครงสร้างกทม. ถ้าไม่ปรับโครงสร้างการบริหารถึงจะมีนโยบายขายฝันอย่างไรไม่สามารถทำได้จริง เช่นในอดีต

ความสำเร็จจะอยู่ที่การปรับโครงสร้างการบริหารที่สอดคล้องและตอบสนองการแก้ปัญหา แต่ไม่ได้ยินจากผู้สมัครคนไหน ส่วนใหญ่จะพูดถึงการสร้างรถไฟฟ้าบนดิน ใต้ดิน ใต้น้ำ

ผู้ว่าฯกทม.ที่อยากได้คือผู้ว่าฯ ที่มีทัศนคติและมีมุมมองที่ดีต่อการทำให้เมืองนั้นน่าอยู่ บ่อยครั้งจะได้ยินว่า กทม.เป็นเมืองน่าเที่ยวติดอันดับโลก เป็นเมืองน่าเที่ยวอันดับหนึ่ง แต่เป็นเมืองน่าอยู่ที่ 133 ของโลก

โครงสร้างการบริหารเป็นโจทย์ใหญ่ หรือจุดตั้งต้นในการพัฒนาส่วนอื่นๆ เช่น ระบบขนส่งมวลชน สิ่งแวดล้อม สาธารณูปโภค สาธารณสุข จุดตั้งต้นต้องมาจากจุดแรกคือผู้ว่าฯ ต้องมีทัศนคติต่อการสร้างเมืองที่มีความเป็นธรรม หรืออีกแง่หนึ่งคือเมืองที่น่าอยู่ ไม่ใช่เมืองที่น่าเที่ยว

สุขุม นวลสกุล

อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

หากถามสเป๊กผู้ว่าฯ กทม. คงระบุชัดคงไม่ได้เพราะกระแสการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ของคนกรุงเทพฯไม่เคยตายตัว บางครั้งไม่ได้เลือกเพราะคนแต่เลือกเพราะกระแส หรือเลือกเพราะจุดขายของคนบางคนก็เป็นไปได้

ส่วนจะลงสมัครในนามพรรค หรืออิสระมันเปลี่ยนแปลงเกือบทุกครั้งของการเลือกตั้ง แต่เชื่อว่ากระแสการเมืองใหญ่พอมีส่วนในการเลือกตั้งครั้งนี้สูง

ตอนนี้ต้องยอมรับว่าตัวบุคคลที่มีแข่งกันอยู่ไม่กี่คน ต้องจับทิศทางกระแส เพราะบางคนอาจไม่สนใจเรื่องกระแสแต่จะหันมาสนใจเรื่องคุณสมบัติส่วนบุคคลแทน ก็เป็นไปได้อีก เช่น กรณีทางพรรคก้าวไกลระบุจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแน่ แต่ยังไม่ได้เปิดเผยตัวผู้สมัครนั้นก็อาจเป็นเพราะหวังในกระแสส่วนหนึ่งก็เป็นไปได้ ดังนั้น แล้วเราคงต้องตามกระแสไปเรื่อยๆ จึงระบุเรื่องคุณสมบัติอย่างชัดเจนคงไม่ได้

ส่วนว่าที่ผู้สมัครที่เปิดตัวมาบ้างแล้ว อย่างนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง จะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจหรือไม่นั้นก็ยังตัดสินไม่ได้ แต่ถ้าดูตามผลโพลตัวขายจะเป็นนายชัชชาติ ที่เป็นตัวยืนมาโดยตลอด

แต่เมื่อมีคนมาประกบด้วยอย่างนายสุชัชวีร์ ก็ถือว่ามี น้ำหนักขึ้นมา เพราะเท่าที่ดูจากคุณสมบัติเฉพาะตัวในการเป็นวิศวกร แต่เชื่อว่านายสุชัชวีร์ จะหวังพึ่งเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ อาจคิดได้ว่าถึงลงมือช้าแต่ก็ต้องการพึ่งพรรค

แต่ยังไม่จบ เพราะตอนนี้ตัวคนยังลงมาไม่หมด ล่าสุดมีนายสกลธี ภัททิยกุล เพิ่มมาอีกคน ก็ถือเป็นคนใหม่ไฟแรงเช่นกัน หรือในส่วน พล.ต.อ.อัศวิน ผู้ว่าฯกทม. ที่เป็นคนเดิมก็จะขายความเก่าที่เคยทำมาแล้ว 5 ปี ว่าถ้าเลือกตนก็สามารถนำมาใช้งานได้ต่อเนื่อง

ส่วนข้อดี ข้อเสียของการลงสมัครแต่ละแบบ ทั้งแบบอิสระ อิสระแต่มีพรรคการเมืองหนุน หรือลงในนามพรรคการเมือง คงยังบอกไม่ได้เพราะการเมืองวันนี้มันแกว่ง เลือกตั้งเดือนหน้าตัดสินเดือนนี้ไม่ได้ คงต้องรอดูสักสัปดาห์ก่อนเลือกตั้ง เพราะทุกอย่างมีเปลี่ยนผัน พลิกกันได้

พูดง่ายๆ ไม่มีใครที่จะเกาะหัวใจคนได้แน่นแฟ้น ทุกอย่างเปลี่ยนไปได้ เชื่อว่าโอกาสยังเป็นของคนที่อยากจะลงสมัครรับเลือกตั้งและต้องมีช่องทางดีด้วย

ตอนนี้แม้กระแสของนายชัชชาติจะดีแค่ไหนแต่เชื่อว่าไม่เกินร้อยละ 30 และยังมีทางพรรคก้าวไกลที่ระบุชัดว่าจะส่งผู้สมัครแน่นอน ซึ่งเข้าใจว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน ก็ถือได้ว่ามีตัวเลือกเพิ่มขึ้นมา

ก็ต้องรอดูพรรค จะขายตัวบุคคล หรืออาจเสนอเป็นเรื่องนโยบายรวมแต่ใช้บุคคลนี้เป็นตัวแสดง พูดง่ายๆ ว่าขายนโยบาย คงต้องรอติดตามกันต่อ

ท้ายที่สุดแล้วผลแพ้ชนะตัวชี้ขาดก็คงผสมกันไปทั้งตัวบุคคล ชื่อเสียงพรรค หรือนโยบาย แต่จะบอกว่าส่วนไหนเป็นหลัก คงต้องรอดูว่าวันเลือกตั้งใครจะเป็นผู้ชนะถึงจะบอกถึงตัวชี้ขาดในการเลือกได้ แต่ตอนนี้ทุกพรรคยังไม่มีนโยบาย หรืออาจเป็นการขายประกอบกันก็ได้ทั้งบุคคล นโยบาย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ