สะท้อนปัญหา 'ชาวเล' ในวันที่นายทุนรุกไล่ 'หลีเป๊ะ' วิกฤต โดนปิดทางเข้าโรงเรียน

Home » สะท้อนปัญหา 'ชาวเล' ในวันที่นายทุนรุกไล่ 'หลีเป๊ะ' วิกฤต โดนปิดทางเข้าโรงเรียน



สะท้อนปัญหา ‘ชาวเล’ ในวันที่นายทุนรุกไล่ หลีเป๊ะ วิกฤต ปิดทางเข้าโรงเรียน แฉหลายพื้นที่ ชาวบ้านโดนฟ้องอ่วม หมอโกมาตร แนะเร่งผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาติพันธุ์

ปัญหา ‘ชาวเล’ ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาไล่คนท้องถิ่นดั้งเดิมออกจากพื้นที่ ขณะเดียวกันอีกมุมหนึ่ง ชาวเล พยายามสะท้อนตัวตน และเล่าปัญหาของพวกเขาผ่านงาน รวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล

โดยที่ ชุมชนทับตะวัน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ไจัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 12 “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กับความยั่งยืนในการพัฒนา” โดในงานมีการแสดงวัฒนธรรมชาวเล เวทีเสวนา และซุ้มนิทรรศการต่างๆ โดยมีชาวเลจากจังหวัดต่างๆในทะเลอันดามัน และเครือข่ายต่างๆ นักวิชาการ ข้าราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน

ทั้งนี้สถานการณ์ความเดือดร้อนของชาวเลในชุมชนต่างๆยังคงหนักหน่วง โดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังมีการฟ้องร้องขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินเดิมของบรรพบุรุษ

นางเรณู ทะเลมอญ ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เปิดเผยว่า คุณตาของตนเป็นลูกของโต๊ะคีรี ซึ่งเป็นผู้บุกเกาะหลีเป๊ะ จึงมีที่ดินอยู่เยอะ สมัยก่อนใครไปใครมาก็มาอาศัยอยู่ด้วย แต่คุณตาไม่รู้หนังสือและไม่รู้ว่าใครมาเอาที่ดินไปออกเอกสารสิทธิ ทำให้ปัจจุบันตนถูกฟ้องขับไล่ให้ออกจากที่ดินซึ่งเป็นบ้านเกิด

“ที่ดินที่เราอยู่หลายครอบครัว เป็นพื้นที่เดียวที่มีทางลงทะเล แต่เขาฟ้องร้องขับไล่ เรารู้สึกกังวลใจมาก เพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร หากถูกไล่ที่ก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ทุกวันนี้เราอยู่อย่างไม่มีความสุข เพราะไม่รู้ว่าจะโดนคดีอะไรอีกบ้าง”นางเรณู กล่าว

ขณะที่ ครูแสงโสม หาญทะเล กล่าวว่า ตอนนี้ชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะถูกฟ้องแล้ว 28 คดีในที่ดินแปลงเดียว และยังมีแปลงอื่นๆอีกที่ถูกฟ้อง รวมแล้วไม่น้อยกว่า 30 คดี อยากให้มีการสำรวจและตรวจสอบแนวเขตที่ดินให้ชัดเจน เพราะที่ดินบางแปลง ตอนเป็นสค.1 มีอยู่ 50 ไร่ พอเป็น นส.3 เพิ่มเป็น 81 ไร่ แต่ครอบครองจริงกลาย 140 ไร่ ทำให้ชาวบ้าน 150 หลังคาเดือดร้อน

ด้าน นางยุพา ชาวน้ำ ชาวเลชุมชนแหลมตง บนเกาะพีพี จ.กระบี่ กล่าวว่า เดิมทีชาวเลอยู่บนเกาะพีพีกระจัดกระจายโดยปลูกข้าวและทำไร่ทำสวน แต่เมื่อการท่องเที่ยวได้รับความนิยม ทำให้เอกชนเข้าแสวงหาที่ดินด้วยวิธีการต่างๆ แม้แต่ที่ดินของโรงเรียนที่พ่อของตนเคยบริจาคไว้ 6 ไร่เมื่อตอนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จมาที่อ่าวต้นไทร และมีพระราชดำริอยากสร้างโรงเรียน แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 4 ไร่ ขณะที่ที่ดินของชาวเลที่อยู่รวมกันในพื้นที่กว่า 2 ไร่ก็เตรียมถูกนำมาขาย ทำให้ชาวเลกว่า 40 ครอบครัวกำลังเดือดร้อน

“เดิมที่พ่อมีที่ดินอยู่ 12 ไร่ แต่เอาไปจำนองในราคา 2 หมื่นบาท เขาพยายามให้พ่อขายให้ และพ่อก็ไม่รู้หนังสือ แต่ไม่ได้ขายให้ สุดท้ายพ่อถูกปั๊มลายนิ้วมือ และเขาบอกว่าที่ดินตกเป็นของเขา ทุกวันนี้ก็ยังฟ้องร้องกันอยู่”นางยุภา กล่าว

ด้าน นายสนิท แซ่ชั่ว ชาวเลชุมชนราไวย์ จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ทางเดินไปสู่บาราย ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิของชาวเล ถูกศาลตัดสินว่าเป็นของนายทุน แต่ชาวบ้านยังคงต้องใช้พื้นที่ริมหาดในการซ่อมแซมและทำอุปกรณ์ประมง ขณะที่พื้นที่หน้าหาดที่เคยเป็นที่ขายอาหารทะเลสดก็ถูกเทศบาลปรับปรุงให้ทำเป็นร้านค้า ทำให้ชาวเลต้องเดือนร้อน นอกจากนี้คลองสาธารณะที่ชุมชนเคยใช้ก็ถูกอ้างกรรมสิทธิทำให้ตอนนี้ต้องฟ้องร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้เข้ามาตรวจสอบ

ขณะที่ นายทนงศักดิ์ ทองกุล ทนายความมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า สถานการณ์การฟ้องขับไล่ชาวเลยังคงรุนแรง โดยเปลี่ยนจากที่ชาวเลเป็นผู้บุกเบิกให้กลายเป็นผู้บุกรุก ปัญหาที่สำคัญคือชาวเลไม่รู้หนังสือทำให้ถูกหลอกโดยกลุ่มทุนที่ฟ้องขับไล่ชาวเลทั้งที่เกาะหลีเป๊ะ เกาะพีพี และที่ราไวย์เป็นกลุ่มทุนที่มีความเชื่อมโยงเป็นกลุ่มเดียวกัน โดยที่เกาะพีพี แม้ที่ดินที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำริให้ออกเอกสารสิทธิให้เป็นของชาวเล แต่ก็ถูกนายทุนเบียดขับโดยใช้เทคนิคทางด้านกฏหมาย

“ในส่วนของเกาะหลีเป๊ะที่ชาวบ้านถูกฟ้องร้องเพิ่มเพราะที่ดินมีราคาแพงขึ้น ที่ดินบางแปลงบวมขึ้นเรื่อยๆ บางแปลงพอน้ำทะเลกัดเซาะ เขาก็สามารถขยับหนีขึ้นและรุกเข้าที่ในที่ดินที่ชาวเลอยู่อาศัย เรื่องนี้เป็นเรื่องระดับนโยบาย เพราะอุทยานฯเคยตรวจสอบ แต่กรมที่ดินไม่ยอมรับการตรวจสอบนั้น หากกรมที่ดินเข้ามาสำรวจระบุแนวเขตให้ชัดจะทำให้ข้อเท็จจริงปรากฏ”นายทนงศักดิ์ กล่าว

ด้าน ดร.นฤมล อรุโณทัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ กล่าวว่า การท่องเที่ยวยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวเล เนื่องจากในอดีตมักเน้นเรื่องจำนวนของนักท่องเที่ยวและรายได้ที่เป็นเม็ดเงิน แต่ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ชาวเลพิสูจน์ให้เห็นถึงภูมิปัญญาพึ่งพาตัวเองที่มีสายใยอยู่กับทะเล รวมทั้งมีการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนผ่านโครงการข้าวแลกปลา

ตอนแรกเชื่อว่าจะทำให้เกิดการฉุกคิดและทบทวนนโยบายด้านการท่องเที่ยว ซึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับที่ 13 ได้ระบุในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ แต่ปัจจุบันที่การท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว ก็ให้ความสำคัญกับจำนวนนักท่องเที่ยวและการฟื้นตัวของธุรกิจ ปล่อยให้การท่องเที่ยวที่เน้นเงินกลับคืนมา ทำให้เกิดการเบียดขับชาวเล

“การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพคือเน้นส่งเสริมเอกลักษณ์และศักยภาพของชุมชนในพื้นที่ แต่ขณะนี้การท่องเที่ยวกำลังลดทอนศักยภาพของคนเหล่านี้”ดร.นฤมล กล่าว

สำหรับการจัดงานวันที่ 2 มีการเสวนาหัวข้อ “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กับความยั่งยืนในการพัฒนา” ซึ่งวิทยากรประกอบด้วย นายกิตติ อินทรกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ นายประถม รัสมี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6(พังงา) นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร(องค์การมหาชน) น.ส.อรวรรณ หาญทะเล ชาวมอแกลนชุมชนทับตะวัน นางแสงโสม หาญทะเล ชาวอูรักลาโว๊ยชุมชนหลีเป๊ะ จ.สตูล

น.ส.อรวรรณ หาญทะเล กล่าวว่า ทุกวันนี้พื้นที่หน้าหาด พื้นที่สุสาน พื้นที่ทำกินของชุมชนยังคงมีปัญหา สาเหตุที่เราขึ้นมาทำงานต่อสู้เพราะเห็นคุณค่าและพยายามรักษาเพื่อเอาไว้หล่อเลี้ยงผู้คน หลายคนอาจมองว่าเราเป็นผู้ร้องขอ แต่จริงๆแล้วชาวเลเป็นผู้บุกเบิก เราทำเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนจนมีมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์มาเรียนรู้ เขารู้สึกทึ่งที่ชาวเลรอดชีวิตจากสึนามิได้

ครูแสงโสม สะท้อนปัญหาว่า ชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะตอนนี้กำลังเผชิญประเด็นร้อน เพราะมีการปิดทางเดินเข้าโรงเรียน อนามัยและสุสาน ซึ่งเป็นเส้นทางดั้งเดิมที่ชาวบ้านใช้สัญจรมานับร้อยปี เขาใช้เหล็กกั้นไม่ให้เด็กนักเรียนเข้าไปยังโรงเรียน ชาวบ้านทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้ว โดยก่อนหน้านี้เหตุการณ์ในลักษณะเดียนวกันได้เกิดขึ้นที่เกาะพีพี ซึ่งเป็นเรื่องความเห็นแก่ตัวของนายทุน อยากเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบแก้ปัญหาให้ด้วย

“ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย. เวลา 13.00 น. มีความพยายามเชื่อมเหล็กเปิดเส้นทางเข้าโรงเรียน หลายครั้งที่มีการเสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา แต่การแก้ไขปัญหาช้ายิ่งกว่าเต่า เขาอ้างเอกสารสิทธิและเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่หน่วยงานรัฐไม่ได้มองว่าเส้นทางนี้ชาวบ้านใช้มากว่าร้อยปีแล้ว มีการนำเจ้าหน้าที่ที่ดินมารังวัดที่ดินในพื้นที่ที่มีชาวเล 150 ครอบครัวอยู่อาศัยโดยไม่แจ้งผู้ใหญ่บ้านโดยเจ้าของเอกสารสิทธิพามา

เมื่อเราขอไปลงบันทึกประจำวัน ตำรวจว่าเขามีเอกสารถูกต้อง ในที่สุดตอนนี้มีการปิดเส้นทางโรงเรียน อนามัย ทำให้เห็นถึงความโลภของมนุษย์ เขาเห็นแค่เอกสารก็บอกว่าถูกต้องแล้วทั้งๆที่ชาวเลใช้มาเป็นร้อยปี การท่องเที่ยวทำให้เกิดปัญหาเพราะเน้นสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเติบโต ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเสพทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์

ซึ่งชาวเลเป็นคนดูแลตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ชาวเลยืนยันว่าที่นี่เป็นเขตแดนสยาม แต่ทำไมวันนี้พวกเราที่เป็นลูกหลานกลับถูกทอดทิ้ง เราพูดจนไม่มีน้ำตาแล้ว เพราะน้ำตาแห้งไปหมด ที่นี่กลายเป็นนรกของชาวเลที่ต้องเผชิญกับปัญหา”ครูแสงโสมกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

ครูแสงโสม กล่าวว่า เมื่อปี 2563 เราจัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลขึ้นที่หลีเป๊ะ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอีกหลายหน่วยงานร่วมกันลงนามเพื่อแก้ไขปัญหา แต่จนถึงวันนี้การแก้ไขปัญหาก็ยังไม่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาชาวเลพยายามผลักดันให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชาวเลระดับรัฐบาล เราได้ให้ข้อมูลเพื่อให้รัฐบาลมอบให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่แก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรม และคณะกรรมการก็มีมติว่าจะลงพื้นที่แต่ไม่ได้บอกว่าจะลงเมื่อไร แต่ตอนนี้เราอยากให้ลงพื้นที่ด่วนเพราะสถานการณ์วิกฤตแล้ว

“ปี 2497 ชาวเลบุกเบิกเกาะหลีเป๊ะ เราอยู่ที่นั่น แต่ละตระกูลทำสวน ปลูกมะพร้าว แบ่งกันอยู่เป็นชุมชน มีชื่อชุมชนเป็นประวัติศาสตร์ แต่ภายหลังเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นคนที่อื่นมาสำรวจให้ออก สค.1 กลายเป็นวิบากกรรมชาวเลหลีเป๊ะ เพราะไม่รู้ภาษาไทย ที่ดินบางแปลงจากสค.1 จำนวน 50 ไร่กลายเป็น นส.3 เพิ่มเป็น 81 ไร่ เมื่อเป็นที่ดินครอบครองของเขาเพิ่มเป็น 150 ไร่ มีการโกงที่ดินชาวเลจากคนที่รู้กฏหมายและเจ้าหน้าที่รัฐและขายให้เอกชนโดยที่ชาวเลไม่รู้เรื่องเลย การออกเอกสารตรงนั้นกลายเป็นตราบาปจนถึงทุกวันนี้”ครูแสงโสม กล่าว

ขณะที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสตูล(พมจ.) กล่าวว่า จะนำเรื่องที่หลีเป๊ะแจ้งไปยังผู้ว่าฯสตูลเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไขและหาทางออกร่วมกันเชื่อว่าหากผู้ว่าฯรับรู้สภาพปัญหาจะไม่นิ่งนอนใจแน่นอน

ด้าน นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ กล่าวว่า ถ้าชาวบ้านเลือกได้เขาก็ต้องการชีวิตที่สงบสุขตามแบบของชาวบ้าน แต่นั่นเป็นความฝัน ความจริงคือชีวิตของเขาแขวนอยู่บนเส้นด้าย กลุ่มชาติพันธุ์มีอำนาจต่อรองน้อยมาก แม้แต่เรื่องภาษายังเป็นอุปสรรค เพราะมีข้ออ้างมากมาย ทั้งเรื่องกฎหมายตลอดจนเศรษฐกิจพอเพียง ที่วกกลับมาทำร้ายชาวบ้านแต่ไม่เคยเรียกร้องเอากับคนรวยให้รู้จักความพอเพียง ดังนั้นจึงต้องมาร่วมกันผลักดันเพื่อให้มีความหวัง

“การปิดทางไปโรงเรียนที่หลีเป๊ะ ทั้งที่เป็นเส้นทางดั้งเดิมของชาวบ้าน เดี๋ยวนี้หลีเป๊ะแทบไม่เหลือที่จอดเรือชายฝั่ง เหลือแค่บริเวณหน้าโรงเรียนเท่านั้น เป็นความจริงที่ดำรงอยู่และเห็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาติพันธุ์ ทุกวันนี้ชาวบ้านชาติพันธุ์ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรณีของชาวบ้านบางกลอย สถานการณ์แบบนี้ต้องการการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ดี ไม่เช่นนั้นจะรุนแรงขึ้น”นพ.โกมาตร กล่าว

ขณะที่ นายกิตติ อินทรกุล รองอธิบดีฯกล่าวว่าภารกิจ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) มีหน้าที่ทำอย่างไรให้ชาวเลได้กินอิ่มและนอนอุ่น เราไม่อยากให้เขาเป็นยิปซีอีกต่อไปจึงต้องเปิดพื้นที่ให้พูดคุยกัน อยากได้ทุกภาคีมาเป็นหุ้นส่วน แต่ละส่วนมีบทบาทหน้าที่ต่างกันโดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง จึงต้องฟังความต้องการของประชาชนแล้วสนับสนุน ชุมชนจึงต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าต้องการให้ชุมชนของตัวเองเป็นอย่างไร

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ