ทั่วโลกถกสนั่น ภาพกระป๋องน้ำอัดลม สรุปเป็น "สีแดง" ใช่ไหม ใครกันแน่ที่มองผิด?!

Home » ทั่วโลกถกสนั่น ภาพกระป๋องน้ำอัดลม สรุปเป็น "สีแดง" ใช่ไหม ใครกันแน่ที่มองผิด?!

ไวรัลภาพลวงตา ภาพกระป๋องน้ำอัดลม สรุปเป็น “สีแดง” ใช่ไหม นั่งจ้องกันเป็นชั่วโมงๆ เฉลยมาหงายเงิบ

กลายเป็นไวรัลไปทั่วโลก สำหรับภาพปริศนา “กระป๋องน้ำอัดลม” ที่บางคนมองเป็นสีแดงตั้งแต่แวบแรกที่เห็นไกลๆ แต่บางคนกลับมองว่าเป็นสีขาวดำ ไม่ว่าจะซูมดูเป็นชั่วโมงๆ แค่ไหนก็ยังเห็นเพียงจุดสีดำบนพื้นสีขาวเท่านั้น สุดท้ายจึงเป็นประเด็นถกเถียงในโลกออนไลน์ไม่สิ้นสุด

ต่อมา ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แชร์โพสต์ให้ความรู้เรื่องดังกล่าวลงในเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripan โดยพบว่าภาพปริศนานี้ถูกโพสต์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา ผ่านทางเพจของ Akiyoshi Kitaoka ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากสถาบัน the College of Letters ของมหาวิทยาลัย Ritsumeikan University ในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

ซึ่งเจ้าตัวเฉลยว่าเบื้องหลังการสร้างภาพศิลปะลวงตานี้ แท้จริงกระป๋องน้ำอัดลมที่ “ดูเหมือนสีแดง” ประกอบไปด้วยจุดสีขาวดำอย่างสุ่มๆ เท่านั้น และเขายังได้โพสต์ภาพอีกภาพไว้ในคอมเมนต์ด้วย ซึ่งเป็นภาพกระป๋องน้ำอัดลมที่ดูเหมือนเป็นน้ำเงิน แต่แท้จริงประกอบไปด้วยจุดสีขาวดำอย่างสุ่มๆ เช่นกัน

  • ทาสหัวใจจะวาย แมวหายตัวปริศนา หาจนหัวหมุนก่อนร้องเอ๊า อยู่ตรงหน้าแต่มองไม่เห็น!
  • สาวโพสต์บอก “สามีฉันอยู่ในรูป” ชาวเน็ตซูมหาจนปวดตา ก่อนเฉลยทำเอาฮาลั่น

แล้วทำไมเราถึงมองเห็นกระป๋องนั้นเป็นสีแดง

สำหรับคำอธิบายที่ว่า ทำไมเราถึงมองเห็นกระป๋องน้ำอัดลมนั้นเป็นสีแดง ทั้งที่ในภาพมีแต่สีขาว-ดำ-เขียว (หรืออีกภาพ ที่เห็นกระป๋องเป็นสีน้ำเงิน) คำตอบอยู่ที่ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “simultaneous color contrast” หรือการตัดกันของสีพร้อมๆ กัน เกิดขึ้นเมื่อมีพื้นที่สี 2 สี ที่มาอยู่ข้างกัน และส่งอิทธิพลต่อกันและกัน จนทำให้ไปเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของเราต่อสีนั้น

ที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากว่า โดยปรกติแล้วการรับรู้สีสันของเรานั้นเกิดขึ้นจากการทำงานของเซลล์ประสาทรับแสง รูปโคน (cone cell) ที่ส่งสัญญาณไปที่สมอง และสมองจะประมวลผลโดยอาศัยการประเมินการตัดกัน (contrast) ของสีสันของสิ่งที่ตั้งใจดูนั้น เทียบกับสีอื่นๆ ในรูป ดังนั้น เมื่อเราดูภาพดังกล่าว เซลล์รูปโคน ที่เห็นการตัดกันของสี 3 สี (ขาว-ดำ-เขียว cyan) บนภาพ เมื่อส่งสัญญาณไปที่สมอง สมองกลับตีความเพี้ยนไปจากความเป็นจริง เกิดเห็นสีที่ 4 เพิ่มขึ้นมา (คือบอกว่าเห็นสีเทา เป็นสีแดง)

สมองของคนเรานั้น ทำงานคล้ายกับระบบ white balance ในกล้องดิจิตอล ที่พยายามจะปรับแก้สีที่เรามองเห็น ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น ตัวอย่างเช่น เมื่อเราอยู่ในห้องที่เปิดไฟเป็นสีอมส้ม สมองของเราก็พยายามปรับแก้สีทั้งหมด เพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น โดยการบอกว่าสีส้มนั้น เป็นสีขาว

ด้วยเหตุนี้ พอเราดูภาพกระป๋องน้ำอัดลมในรูปจากระยะไกล สมองก็ตีความเหมือนกับว่าเรากำลังอยู่ในห้องที่มีสีเขียวcyan และพยายามเปลี่ยนสีเขียวcyan ให้กลายเป็นสีขาว เลยทำให้บริเวณที่เป็นสีเทา (คือมีแต่สีขาว กับสีดำ) กลายเป็นสีแดง (เพราะว่า เมื่อสีแดง อยู่ในห้องที่มีแสงสีเขียวcyan สีแดงนั้นจะกลายเป็นสีเทา เหมือนการกลับสีกัน เป็นสีตรงกันข้าม)

สรุปสั้นๆ คือ ภาพลวงตาพวกนี้ เป็นผลจากการตัดกันของสีในภาพ ทำให้สมองของเราพยายามปรับสีให้กลับเป็นกลาง เลยทำให้เกิดความเพี้ยนของสีในภาพขึ้น เห็น “สีที่ตรงกันข้าม” กับสีส่วนใหญ่ในภาพนั้น เกิดขึ้นให้เห็นได้ ไม่ได้เป็นเพราะว่าเราจดจำว่ากระป๋องน้ำอัดลมยี่ห้อนี้ต้องสีแดง อย่างที่บางท่านเข้าใจ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ