สสจ.ชัยภูมิ ลุยตรวจทุกอำเภอ ไม่พบ ปลาร้าบองแซ่บหลาย “พระบิดา” วางขายแล้ว

Home » สสจ.ชัยภูมิ ลุยตรวจทุกอำเภอ ไม่พบ ปลาร้าบองแซ่บหลาย “พระบิดา” วางขายแล้ว



สสจ.ชัยภูมิ ลุยตรวจร้านค้าทุกอำเภอ ไม่พบ ปลาร้าบองแซ่บหลาย พระบิดา วางขายแล้ว ด้านผู้ค้าเผยยอดขายปลาร้ายังไม่ตก ลูกค้าเข้าใจ

เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ นำโดย นพ.วชิระ บถพิบูลย์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ เข้าตรวจสอบแหล่งผลิตปลาร้าของ สำนักฤาษีโจเซฟ หรือนายทวี หนันลา ผู้อ้างตัวเป็น พระบิดา ซึ่งบรรจุใส่ตลับสีแดงออกวางจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไปใช้ยี่ห้อ “แซ่บหลาย” พบว่าไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่ได้ขออนุญาต และไม่ผ่านอย. หวั่นเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค

ต่อมาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกตรวจร้านค้าตามหมู่บ้านของอำเภอคอนสาร จำนวน 45 ร้าน พบว่ายังมีผลิตภัณฑ์ปลาร้าบองยี่ห้อแซ่บหลายของพระบิดา จำนวน 2 ร้าน จึงเข้าแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สภ.คอนสาร เพื่อดำเนินคดีพระบิดากับพวก ในข้อหาผิด พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4 เพิ่มอีก 1 ข้อหา

ล่าสุด นพ.วชิระ บถพิบูลย์ นายแพทย์สาธารณสุข ได้มอบหมายให้นายอำเภอร่วมกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและ อสม.ทั้ง 16 อำเภอของ จ.ชัยภูมิ ออกสำรวจร้านค้าตามหมู่บ้านที่มีปลาร้าหรือปลาร้าบอง วางจำหน่าย เพื่อตรวจสอบว่ามีปลาร้าบองยี่ห้อแซ่บหลายของพระบิดาวางจำหน่ายหรือไม่ จากผลการสำรวจร้านค้ากว่า 100-300 ร้านของแต่ละอำเภอ ขณะนี้ไม่พบว่ามีปลาร้าบองยี่ห้อแซ่บหลายวางจำหน่ายแล้ว

แม่ค้ารายหนึ่งในตลาดสดเทศบาล 2 เมืองชัยภูมิ เปิดเผยว่า ช่วงแรกที่เกิดกระแสข่าวพระบิดาก็กลัวว่าปลาร้าของตนจะขายไม่ได้ ยอดขายตก ประชาชนจะไม่กล้ากินปลาร้า แต่ที่ผ่านมาเกือบ 1 สัปดาห์แล้ว ขณะนี้ยอดขายปลาร้าทุกชนิดยังไม่ลด ลูกค้าประจำหรือประชาชนทั่วไปยังซื้อปลาร้าของตนอยู่ แต่จะมีเพิ่มคือ ลูกค้าจะถามว่า ปลาร้าของตนมาจากที่ไหน ผลิตอย่างไร

แม่ค้า กล่าวต่อว่า สำหรับปลาร้าทุกชนิดที่วางขายในแผงตลาดสดเทศบาลเมืองชัยภูมิ จะเป็นปลาร้าที่ผลิตใน อ.เมืองชัยภูมิ ทั้งสิ้น โดยนำปลามาจากบึงละหาน จากแม่น้ำชี จากเขื่อนลำประทาว ทำให้ลูกค้ามั่นใจปลาร้าที่วางขาย เพราะเป็นร้านเก่าแก่ขายมานาน ขบวนการผลิตก็สะอาด ได้รับการตรวจและรับรองจากสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ และส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจเป็นประจำ

แม่ค้า กล่าวอีกว่า ปลาร้าที่วางขายแต่ละชนิดจะมีราคาแตกต่างกันออกไป โดยปลาร้ารวมกิโลกรัมละ 25 บาท ปลาร้าปลากระดี่ กิโลกรัมละ 60 บาท ปลาร้าตัดหัวกิโลกรัมละ 60 บาท ปลาบด 60 บาท ปลาร้าน้ำต้มปรุงสุก กิโลกรัมละ 30 บาท

ด้านนางกาญจนา หาญจิต อายุ 57 ปี แม่ค้าขายปลาร้าในตลาดเทศบาล 2 เมืองชัยภูมิ กล่าวว่า พวกตนขายปลาร้าที่นี่มากว่า 30 ปี หลังเกิดกระแสข่าวปลาร้าบองพระบิดาขึ้นมา ตอนแรกพวกตนก็เกิดความวิตกกังวลกับยอดขายเหมือนกัน แต่เมื่อลูกค้ามาสอบถามก็อธิบายว่าปลาร้าที่วางขายที่นี่ไม่เกี่ยวข้องกัน และเป็นปลาร้าของเมืองชัยภูมิ ลูกค้าก็เข้าใจ ทำให้ยอดขายไม่ได้รับผลกระทบ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ