สรุป “คดีโฮปเวลล์” มหากาพย์การฟ้องร้อง 33 ปี จนถึงวันนี้ที่คนไทยไม่ต้องจ่าย "ค่าโง่” แล้ว

Home » สรุป “คดีโฮปเวลล์” มหากาพย์การฟ้องร้อง 33 ปี จนถึงวันนี้ที่คนไทยไม่ต้องจ่าย "ค่าโง่” แล้ว

หลังจากพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์ข้อความบนเฟสบุ๊ก แจ้งข่าวว่าประเทศไทยชนะ “คดีโฮปเวลล์” ที่ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ในกรณียกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นค่าใช้จ่ายจากการเข้ามาลงทุน จำนวนเงินกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท สร้างความดีใจและโล่งใจให้กับหลายฝ่าย 

  • ไทยชนะคดี “โฮปเวลล์” ไม่ต้องจ่ายค่าโง่ 2.4 หมื่นล้าน ปิดฉากมหากาพย์ 34 ปี

มหากาพย์ “คดีโฮปเวลล์” ที่กินเวลายาวนานกว่า 33 ปี จนกระทั่งมาถึงวันที่คนไทยไม่ต้องจ่ายค่าโง่หลายหมื่นล้าน มีความเป็นมาอย่างไร Sanook สรุป “คดีโฮปเวลล์” ที่กำลังเป็นที่สนใจของประชาชนอยู่ในตอนนี้มาฝากกัน

“โครงการโฮปเวลล์” คืออะไร

โครงการโฮปเวลล์” หรือ “โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร” ที่มีบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ของ “กอร์ดอน วู” นักธุรกิจชาวฮ่องกงเป็นผู้ได้รับงานไป เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยมีมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น เซ็นสัญญาในช่วงปลายปี พ.ศ.2533 

AFP

โครงการโฮปเวลล์เป็นการเปิดประมูลสัมปทานก่อสร้างทางยกระดับ เพื่อแก้ปัญหาการจราจร ซึ่งตามสัญญาผู้รับสัมปทานจะมีรายได้จากค่าโดยสารรถไฟฟ้า ค่าผ่านทาง และรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ตลอดเส้นทาง โดยเอกชนจะเป็นผู้ออกแบบและลงทุนก่อสร้างทั้งหมด และจะได้รับสัมปทานบริหารโครงการนี้เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2534 – 5 ธันวาคม พ.ศ.2562 

แผนการก่อสร้าง แบ่งเป็น 5 ระยะทาง รวมทั้งสิ้น 60.1 กิโลเมตร ประกอบด้วย

  • ช่วงที่ 1 ยมราช – ดอนเมือง ระยะทาง 18.8 กิโลเมตร 
  • ช่วงที่ 2 ยมราช – หัวลำโพง – หัวหมาก และ มักกะสัน – แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 18.5 กิโลเมตร
  • ช่วงที่ 3 ดอนเมือง – รังสิต ระยะทาง 7 กิโลเมตร
  • ช่วงที่ 4 หัวลำโพง – วงเวียนใหญ่ และ ยมราช – บางกอกน้อย ระยะทาง 6.7 กิโลเมตร
  • ช่วงที่ 5 วงเวียนใหญ่ – โพธินิมิตร และ ตลิ่งชัน – บางกอกน้อย ระยะทาง 9.1 กิโลเมตร

ก่อสร้างล่าช้า เอกชนฟ้องรัฐ

ปรากฎว่าการก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์เป็นไปอย่างล่าช้า ไม่เป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้กับรัฐบาล เนื่องจากประสบปัญหาในการส่งมอบพื้นที่บริเวณริมทางรถไฟ และปัญหาทางการเงินของบริษัทโฮปเวลล์ กระทั่งถึงวันส่งงาน การก่อสร้างโฮปเวลล์กลับคืบหน้าไปได้เพียง 13.7% เท่านั้น จึงนำไปสู่การที่รัฐบาลยกเลิกสัญญาสัมปทานในช่วงต้นปี พ.ศ.2541 

AFP

ทว่า ในสัญญาที่รัฐบาลไทยทำไว้กับเอกชนก่อนหน้านี้ ระบุว่าเอกชนยกเลิกสัญญาได้ แต่รัฐบาลไทยยกเลิกสัญญาไม่ได้ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของมหากาพย์การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย จนถูกเรียกว่าเป็น “ค่าโง่” เมื่อรัฐบาลไทยแพ้คดีทั้งในชั้นอนุญาโตตุลาการ ในปี พ.ศ.2551 และศาลปกครองสูงสุดในปี พ.ศ.2562 ก็มีคำสั่งให้รัฐบาลไทยต้องนำเงินภาษีไปจ่ายค่าโง่ให้กับบริษัท โฮปเวลล์ เป็นเงินกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท จากการที่รัฐเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญา

2566 ไม่ต้องจ่ายค่าโง่แล้ว

กระทรวงคมนาคมก็ได้เดินหน้ายื่นเรื่อง เพื่อขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยได้ยกเรื่องการนับระยะเวลา หรืออายุความในการยื่นข้อเรียกร้องของบริษัท โฮปเวลล์ ขึ้นมาเป็นข้ออ้าง ต่ออนุญาโตตุลาการในคดีนี้ กระทั้งวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2565 ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลชั้นต้น เป็นให้รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ 

กระทั่ง วันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2566 สำนักงานศาลปกครองกลาง ก็ออกมาเปิดเผยว่า ศาลปกครองกลางพิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่ โดยมีคำพิพากษาให้ “เพิกถอน” คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัท โฮปเวลล์ เนื่องจากการใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทดังกล่าว ขาดอายุความตามกฎหมาย ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยก็มีลุ้นไม่ต้องจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์จำนวน 2.4 หมื่นล้าน และปิดฉากมหากาพย์ “ค่าโง่โฮปเวลล์” ที่ยาวนานกว่า 33 ปีในที่สุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ