สธ.เปิดนิยามชัด ผู้ป่วยสงสัย-เข้าข่าย-ยืนยัน 'ฝีดาษลิง' ถ้าป่วยต้องแยกรักษาจนครบ 21 วัน

Home » สธ.เปิดนิยามชัด ผู้ป่วยสงสัย-เข้าข่าย-ยืนยัน 'ฝีดาษลิง' ถ้าป่วยต้องแยกรักษาจนครบ 21 วัน


สธ.เปิดนิยามชัด ผู้ป่วยสงสัย-เข้าข่าย-ยืนยัน 'ฝีดาษลิง' ถ้าป่วยต้องแยกรักษาจนครบ 21 วัน

สธ.เปิดนิยามชัด ผู้ป่วยสงสัย-เข้าข่าย-ยืนยัน ‘ฝีดาษลิง’ ย้ำไม่กักตัวทันที จนกว่าเข้าเกณฑ์ป่วย ต้องแยกรักษากักจนครบ 21 วัน ยันสามารถให้อาหารลิงได้

วันที่ 30 พ.ค.65 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิง (Monkeypox) ว่า นิยามผู้ป่วยสงสัยฝีดาษลิง คือ ผู้ที่มีอาการ 2 ส่วน คือ 1.อาการไข้ 38 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการป่วยอย่างน้อย 1 อย่าง คือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง หรือต่อมน้ำเหลืองโต หรือ 2.ผื่น ตุ่มนูน ซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นบริเวณใบหน้า ลำตัว และแขนขา มีลักษณะเป็นผื่นก่อน ตามด้วยตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง และตุ่มตกสะเก็ด โดยต้องมี 1 ใน 2 อาการนี้ ร่วมกับประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา ภายใน 21 วัน

คือ 1.มีประวัติเดินทางจากประเทศที่มีรายงานการระบาดโรคฝีดาษลิงภายในประเทศ ซึ่งนอกเหนือจากแอฟริกา ยังมีแคนาดา อังกฤษ โปรตุเกส และสเปน 2. มีประวัติร่วมกิจกรรมในงานที่พบผู้ป่วยฝีดาษลิง หรือมีอาชีพที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดผู้เดินทางมาจากต่างประเทศประจำ โดยเฉพาะที่มาจากประเทศระบาด

หรือ 3.มีประวัติใกล้ชิดสัมผัสสัตว์ป่าประเภท สัตว์ฟันแทะ ลิง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่นำเข้าจากแอฟริกาเป็นหลัก ผู้ป่วยสงสัยไม่ว่าจะมีไข้ หรือมีผื่น ต้องมีประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยาภายใน 21 วันอย่างใดอย่างหนึ่ง นี่คือนิยามที่ใช้เฝ้าระวังฝีดาษาวานรตอนนี้

“ดังนั้น ลิงไทยที่ไม่ได้มีประวัติเชื่อมโยงแอฟริกา หรือสัตว์เลี้ยงตามบ้าน จึงไม่เชื่อมโยงทางระบาดวิทยา ยังสามารถให้อาหารลิงได้” นพ.จักรรัฐกล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า สำหรับนิยามผู้ป่วยเข้าข่ายโรคฝีดาษลิง คือ ผู้ป่วยสงสัยที่มีมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด โดย 1.สัมผัสโดยตรงกับผิวหนังผู้ป่วยหรือสัมผัสสิ่งของที่อาจปนเปื้อนของผู้ป่วย รวมทั้งเสื้อผ้าผู้ป่วย 2.ผู้สัมผัสร่วมบ้าน ที่อาศัยอยู่ในห้องเดียวกันกับผู้ป่วยหรือใช้ห้องน้ำหรืออุปกรณ์ในห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วย หรือ 3.ผู้สัมผัสที่อยู่ภายในห้องหรืออยู่ใกล้ ผู้ป่วยฝีดาษลิง ภายในระยะ 2 เมตร ตั้งแต่ 5 นาทีขึ้นไป ถือว่าเข้าข่ายฝีดาษลิงเช่นกัน

“ทั้งผู้ป่วยสงสัยและผู้ป่วยเข้าข่าย ถ้ารับรายงานเข้ามารักษาในสถานพยาบาล จะผ่านการตรวจคัดกรองและตรวจหาเชื้อเพื่อยืนยันว่าเป็นฝีดาษลิงหรือไม่ เมื่อมีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ยืนยัน จากการตรวจ RT-PCR ไม่ว่าจะเก็บตัวอย่างจากแผลหรือลำคอ

โดยจะพิจารณาแยกกักเพื่อรอเวลาการตรวจหาเชื้อ หากไม่เจอเชื้อฝีดาษลิงหรือเป็นโรคอื่น จะจบการแยกกัก ถ้าเจอเชื้อหรือเป็นผู้ป่วยยืนยัน จะรับการรักษาและพิจารณาแยกกักจนครบ 21 วัน นับจากวันที่เริ่มป่วย” นพ.จักรรัฐกล่าว

นพ.จักรรัฐกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษลิงทั่วโลก ข้อมูลถึงวันที่ 29 พ.ค. 2565 มีผู้ป่วยยืนยัน 406 ราย และผู้ป่วยสงสัย 88 ราย รวม 494 รายใน 32 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยยืนยันที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยประเทศที่พบมากนอกแอฟริกา คือ แคนาดา อังกฤษ เยอรมนี สเปน และโปรตุเกส ส่วนประเทศไทยยังไม่มีรายงาน

ทั้งนี้ โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคติดต่ออันตรายแบบโรคซาร์ส เมอร์ส หรือโควิด แต่เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง จะไม่มีการเริ่มกักตัวจนกว่าจะเข้าเกณฑ์เป็นผู้ป่วย สำหรับการเฝ้าระวังในประเทศไทย มีทั้งผู้เดินทางเข้าประเทศในสนามบิน จะแจกคิวอาร์โคดให้ดาวน์โหลด เพื่อสังเกตอาการ ถ้ามีอาการให้รายงาน และเฝ้าระวังที่ รพ. จะรายงานมายังส่วนกลางคือกรมควบคุมโรค เพื่อให้ทีมสอบสวนโรคตรวจสอบ รวมถึงเฝ้าระวังในคลินิกเฉพาะทางโรคผิวหนัง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ