คำปราศรัยที่พัทลุงของพรรคประชาธิปัตย์มีความละเอียดอ่อนยิ่งในทางการเมือง
เป็นคำปราศรัยโดยเท้าความและยกตัวอย่างความโดดเด่นทาง “การศึกษา” ของผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์เมื่อเปรียบเทียบกับพรรคการเมืองอื่น
นั่นก็คือจบจาก “ต่างประเทศ” อย่างโก้หรู
นั่นก็คือ มีการนำไปเปรียบเทียบโดยอ้างอิงไปยังสถาบันการศึกษาอย่าง มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
เพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อมาก็กลายเป็น “ไวรัล”
หากประเมินจากตัวของผู้ปราศรัยซึ่งเป็นส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นเรื่องเหลือเชื่อ
เหลือเชื่อเพราะ 1 อุปมาฉันใด อุปไมยฉันนั้นที่หลุดออกจากสองเรียวปากสร้างความพอใจเป็นอย่างสูงจากแฟนานุแฟนที่รับฟัง
แสดงว่ามีความเฉียบคมสอดรับกับ “อารมณ์”
แต่พลันที่แต่ละถ้อยคำได้รับการเผยแพร่ผ่านช่องทาง “โซเชี่ยล” กลับกลายเป็นความไม่พอใจและแพร่ระบาดรวดเร็วอย่างยิ่ง
ตรงนี้แหละคือความละเอียดอ่อนใน “พื้นที่”
จำกันได้หรือไม่ต่อสถานการณ์ในห้วงแห่งการเลือกตั้งซ่อมที่สงขลา ภาคใต้
เมื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้ขึ้นปราศรัยและยืนยันถึงความเพียบพร้อมในทางเศรษฐกิจและการเมืองของผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ
นั่นก็คือ ยืนยันถึง “คนมีกะตังค์” มิใช่ “กระเป๋าว่าง”
เพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อมาสำนวนอันเฉียบคมของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็ได้รับการขยายและสร้างสีสันเป็นอย่างสูงบนเวทีของพรรคประชาธิปัตย์
กรณี “สงขลา” เป็นเช่นนี้ กรณี “พัทลุง” ก็เป็นเช่นนี้
ในที่สุดแล้วก็เป็นเรื่องของกงเกวียนกำเกวียน หมุนเวียนในแบบกรรมใดใครก่อ
เพียงแต่พรรคประชาธิปัตย์อาจนึกไม่ถึงว่าอะไรจะรวดเร็วยิ่งกว่าติดปีกบิน อะไรจะบานปลายขยายใหญ่โตถึงขั้นต้องขอขมา
นั่นก็เพราะอยู่ในยุคแห่ง “โซเชี่ยลมีเดีย” โดยแท้