ภารกิจของ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง จากพรรคเพื่อไทยแหลมคมและสำคัญ
นั่นก็คือ ภารกิจที่ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง จะต้องไป “แตะมือ” ประสานและทำความเข้าใจกับการเคลื่อนไหวของ ส.ส.พรรคการเมืองขนาดเล็ก
เป็นภารกิจในสถานะแห่ง “เลขาธิการพรรคเพื่อไทย”
เป็นภารกิจอย่างเดียวกันกับที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เคยทำในนามพรรคพลังประชารัฐก่อนการขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
และวันนี้ภารกิจนี้ตกเป็นของ นายสุชาติ ชมกลิ่น
ถามว่ากำเนิดแห่งบรรดา ส.ส.พรรคขนาดเล็กจำนวน 10 กว่าคนนี้มาอย่างไร
คำตอบเด่นชัดยิ่งว่า 1 เป็นผลจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ขณะเดียวกัน 1 เป็นการตีความพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ก่อให้เกิดส.ส.อย่างที่เรียกว่า “ปัดเศษ” ขึ้นมา
และในการประชุมรัฐสภาเมื่อเดือนกันยายน 2562 ส.ส. 10 กว่าคนนี้ได้แสดงบทบาทในการขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
ณ วันนี้พรรคเพื่อไทยก็เริ่มให้ความสนใจ
ความสนใจของพรรคเพื่อไทยก็เหมือนกับความสนใจของพรรคพลังประชารัฐ
ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐในยุคที่มอบหมายให้เป็นภารกิจของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หรือในยุคที่มอบหมายให้เป็นภารกิจของ นายสุชาติ ชมกลิ่น
นั่นก็คือ ใช้ทุก “วิธีการ” เพื่อดึง ส.ส.เหล่านี้มาเป็น “พวก”
เพียงแต่ภายใต้คำว่าทุก “วิธีการ” ที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เคยใช้ก่อให้เกิด“จินตนาการ” ทางการเมืองกว้างไกลไพศาลอย่างยิ่ง
คำถามก็คือ พรรคเพื่อไทยจะใช้ “วิธีการ” อย่างเดียวกันหรือไม่
พลันที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว มอบหมายภารกิจนี้ให้กับ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง
ทุกสายตาก็ทอดมองไปยัง 1 พรรคเพื่อไทย 1 เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรเพื่อบรรลุภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
การเมืองเรื่อง “การดีล” จึงเข้มข้นขึ้นโดยอัตโนมัติ