ความเงียบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สะท้อนความมั่นใจเป็นอย่างสูง
เป็นความมั่นใจใน “อำนาจ” อันสะสมมาตั้งแต่รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 และตั้งแต่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557
เป็น “ความเงียบ” โดยองค์รวมของ “กลุ่ม 3 ป.”
เสียงฮึ่มฮั่มจาก นายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่จะฟ้องร้อง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็สงบไปตามสถานการณ์
สถานการณ์รอคอยคำตอบจาก “ศาลรัฐธรรมนูญ”
ความมั่นใจต่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นความมั่นใจภายใต้ “หลักการ” อะไร
เหมือนกับจะเป็นไปตามคำนินทาว่าร้ายในทางการเมืองที่ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เหมือนคนในองค์กรอิสระอื่นๆ
นั่นก็คือ ล้วนมากับ “รัฐประหาร” ทั้งสิ้น
กระนั้น ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่ว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์กรที่ใช้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือ
ความมั่นใจจึงวางอยู่บนพื้นฐานความมั่นใจต่อ “กฎหมาย”
คำถามก็คือ คำวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นคำตอบสุดท้ายและถึงที่สุดหรือไม่
ในทางกฎหมายอาจเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะหากกล่าวจากด้านของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” คำวินิจฉัยมีผลผูกพันต่อทุกองค์กรตามบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
แต่ในทาง “การเมือง” จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ น่าสงสัย
น่าสงสัยหากมองผ่านความรู้สึกของ 99 ปัญญาชน พลเมือง หากมองผ่านความรู้สึกของ 51 อาจารย์สอนวิชากฎหมายจาก 15 มหาวิทยาลัย
นี่คือปม นี่คือผลสะเทือนซึ่งไม่เหนือความคาดหมาย
สถานการณ์จากวันที่ 24 สิงหาคม จึงเป็นสถานการณ์อันสะท้อนความต่อเนื่อง
สะท้อนสถานะและความน่าเชื่อถือต่อ “องค์กรอิสระ” ความศรัทธาต่อรัฐบาล ความศรัทธาต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างมีนัยสำคัญ
ท้าทายในทาง “ความคิด” ท้าทายในทาง “การเมือง”