วิษณุ สกัดปมร้อน นายกฯ 8 ปี ชี้ความเห็นกรธ. มีน้ำหนักแต่น้อย เชื่อศาลไม่นำมาใช้

Home » วิษณุ สกัดปมร้อน นายกฯ 8 ปี ชี้ความเห็นกรธ. มีน้ำหนักแต่น้อย เชื่อศาลไม่นำมาใช้



วิษณุ ไม่กังวล วาระ 8 ปีนายกฯ ชี้ ความเห็น กรธ.พอมีน้ำหนักบ้าง แต่น้อย เชื่อศาลไม่ใช้ประกอบการพิจารณา เหตุศาลพิจารณาตามหลักกฎหมาย

เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ไม่มีความเห็น ให้ผู้รู้ทั้งหลายพูดไป ถ้าตนพูดไปแล้วเกิดถูกขึ้นมา จะกลายเป็นการชี้นำ

ผู้สื่อข่าวถามว่าพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หลุดปากบอกว่าพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อได้อีก 2 ปี นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้หลุดออกมา สามารถพูดกันได้ทุกวัน ถ้าหลุดออกมา อีกวันคงพูดว่าอยู่ต่อได้ 6 ปี หรือ 4 ปี ที่พูดกันมี 3 สูตร ทั้งกรณีถ้าเริ่มนับตั้งแต่ปี 2557 ก็จะหมดวาระปีนี้ ถ้าเริ่มนับจากปี 2560 จะหมดวาระปี 2568 และถ้านับปี 2562 หมดวาระปี 2570 รู้กันอยู่แค่นี้ แล้วจะตอบอย่างไร

เมื่อถามว่าบันทึกความเห็นการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปี 2560 มีน้ำหนักจะนำมาพิจารณาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มีบ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เนื่องจากบันทึกของ กรธ. ปกติจะเป็นบันทึกขณะกำลังร่าง สดๆ ร้อนๆ แต่กรณีนี้ เราต้องดูการประชุมครั้งที่ 500 เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2561 หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ไปแล้วในปี 2560 แล้วค่อยมานั่งประชุมกัน เพื่อทำตำราขึ้นมา 1 เล่ม คือบันทึกการประชุม

ฉะนั้น น้ำหนักจึงมีบ้างแต่ก็น้อย เพราะผู้ที่พูด เป็นผู้ที่เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่มีจุดอ่อนที่คนอื่นๆ 10-20 คน ไม่ได้พูดอะไร และไม่ได้เป็นมติ และต่อมามีการทำเป็นหนังสือ ซึ่งทำหลังเหตุการณ์ แต่ถ้าทำระหว่างประชุม มันจะมีน้ำหนัก เพราะนี่คือเจตนารมณ์

“นี่ผ่านไปแล้ว 1 ปี ประกาศใช้เรียบร้อยแล้ว ค่อยมาทำ และไอ้ที่พูดๆ กันในประชุมครั้งที่ 500 เขาทำรูปเล่มออกมา 1 เล่ม เรียงมาตรา และแต่มาตราจะบอกเจตนารมณ์ มันไม่มีข้อความที่พูดอยู่ในมาตรา 158 เลย แปลว่ามีการพูดกัน แต่พอเขียนไม่ได้เขียน ส่วนที่ผู้เอาความเห็นไปอ้างอิง ผมไม่รู้ตอบไม่ได้” นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถตีความตามบันทึกการประชุมของกรธ. ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ศาลไม่ตีตามหนังสืออยู่แล้ว เขาใช้ตามหลักการของกฎหมาย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ