‘วราวุธ’ ปลื้ม!พบสัตว์ทะเลเกาะพะงันเพิ่ม หลังวางขาแท่นเป็นปะการังเทียม

Home » ‘วราวุธ’ ปลื้ม!พบสัตว์ทะเลเกาะพะงันเพิ่ม หลังวางขาแท่นเป็นปะการังเทียม



‘รมว.ทส.’ ปลื้ม! พบสัตว์ทะเลเกาะพะงันเพิ่มขึ้น หลังวางขาแท่นเป็นปะการังเทียม หวังดันเป็นแหล่งดำน้ำแห่งใหม่ ย้ำ ‘กรมทะเล’ ร่วมพันธมิตรติดตามผลระยะยาว

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. ได้นำทีมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจสถานภาพพื้นที่จัดวางปะการังเทียม โดยใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมของบริษัทเชฟร่อน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จำนวน 7 ขาแท่น

นายวราวุธ กล่าวว่า ตนให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลมาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมถึงหาแนวทางในการยกระดับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรปะการังของประเทศไทยให้เกิดความยั่งยืน แม้ว่าวันนี้มีคลื่นลมและมรสุมจนไม่สามารถลงดำน้ำสำรวจได้ด้วยตนเอง แต่จากการรายงานและภาพถ่ายใต้น้ำของทีมสำรวจล่วงหน้าที่มาดำน้ำสำรวจเมื่อวานนี้(20พค.) ตนรู้สึกพอใจมากกับสภาพระบบนิเวศใหม่ ที่มีแนวโน้มที่จะเป็นแหล่งระบบนิเวศปะการังที่สมบูรณ์และสวยงาม สามารถเป็นแหล่งอนุรักษ์และแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ตนได้ย้ำกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้ติดตามการเปลี่ยนแปลงรวมถึงผลกระทบในทุกมิติอย่างรอบคอบ พร้อมให้ถอดบทเรียนจากผลการปฏิบัติงานครั้งนี้ และขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่อื่นต่อไป และอยากให้มีการศึกษาเทคนิค เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยในการพัฒนางานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผสานองค์ความรู้ทางวิชาการ และความร่วมมือของพี่น้องประชาชนในการมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนและเร่งรัดการดำเนินงานให้เห็นผลเป็นที่ประจักษ์และต้องไม่เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเด็ดขาด

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวเสริมว่า การดำเนินงานของทช. ในการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการจัดวางเป็นแหล่งปะการังเทียม ได้เริ่มดำเนินมานับ 10 ปี จัดวางปะการังเทียมไปแล้วกว่า 150,000 แท่ง สร้างแหล่งปะการังแห่งใหม่ใต้ท้องทะเลกว่า 36,000 ไร่ สำหรับพื้นที่บริเวณพื้นที่ปะการังเทียมขาแท่นปิโตรเลียม บริเวณพื้นที่เกาะพะงัน ได้ริเริ่มในสมัยปลัดทส. ที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีทช. และได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ซึ่งมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

ทั้งนี้ภายหลังการวางขาแท่นเป็นแหล่งปะการังเทียม กรม ทช. ได้ประกาศมาตรการคุ้มครองทรัพยากรในบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 64 และจะสิ้นสุดการบังคับใช้วันที่ 8 มี.ค. 66 ซึ่งเป็นการห้ามการทำประมงด้วยเครื่องมือประมงทุกชนิด ห้ามดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวดำน้ำ หรือการกระทำที่อาจมีผลกระทบต่อปะการังและสิ่งมีชีวิตในบริเวณดังกล่าว เพื่อช่วยเร่งการเกาะตัวของปะการังอ่อนและสัตว์น้ำเข้ามาอาศัยเสมือนแหล่งอนุบาลสัตว์ใต้ทะเล ซึ่งตนคิดว่าการลดกิจกรรมของมนุษย์ในช่วงแรกทำให้ประสิทธิภาพของการเกิดแหล่งปะการังใหม่เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่และทีมนักวิชาการ ร่วมกับสถาบันวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสภาพการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในทุกมิติ พร้อมทั้งเตรียมแผนประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตามมาตรา 22 ต่อไป

นายอรรจน์ ตุลารักษ์ ผู้จัดการฝ่ายโครงการร่วมทุน บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า บริษัท เชฟรอนฯ และบริษัทผู้ร่วมทุน ประกอบด้วย บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น จำกัด และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ยินดีกับความสำเร็จของโครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมไปจัดวางเป็นปะการังเทียม ที่ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ สามารถใช้ประโยชน์ขาแท่นฯ เป็นบ้านให้กับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ซึ่งจากการสำรวจหลังการจัดวางปะการังเทียม พบการเข้าอยู่อาศัยของประชากรปลาที่หนาแน่นขึ้น และมีความหลากหลายของชนิดปลาเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังพบการฟื้นตัวของสิ่งมีชีวิตเกาะติดที่ดีบริเวณของขาแท่นฯ ตลอดจนผลการสำรวจด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลบริเวณกองปะการังเทียมอยู่ในเกณฑ์ปกติ จึงเชื่อมั่นว่า กองปะการังเทียมแห่งนี้จะช่วยสร้างประโยชน์ด้านฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญให้กับชาวประมงในพื้นที่ ช่วยส่งเสริมธุรกิจด้านการท่องเที่ยวได้ในอนาคต ต่อไป

ดร. ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงเวลา 1 ปีหลังการจัดวางปะการังเทียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ติดตามและสำรวจเพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบอื่นๆ ต่อระบบนิเวศใต้ทะเล สรุปเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก รวมถึงได้สำรวจสภาพเศรษฐกิจและสังคมแล้วทั้งสิ้น 3 ครั้ง ซึ่งจะสรุปภาพรวมของผลการดำเนินงานใน 5 มิติใหญ่ ๆ คือ ด้านสภาพแวดล้อมทางทะเล ด้านการสำรวจปลาในพื้นที่โครงการฯ ด้านการฟื้นตัวของสิ่งมีชีวิตเกาะติด ด้านการเคลื่อนตัวของโครงสร้างปะการังเทียม และด้านการเข้าใช้ประโยชน์ของชุมชน ทั้งนี้ ทางจุฬาฯ จะดำเนินการสำรวจเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ ต่อไป ตามกรอบการดำเนินงาน 2 ปีหลังจากจัดวางปะการังเทียม ในช่วงเดือนก.ย. 65 และคาดว่าจะทราบผลการสำรวจในช่วงต้นปี 2566

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ