“รมต.วราวุธ” ตั้งเป้าเร่งผลักดันป่าเศรษฐกิจ หวังเพิ่มรายได้ให้ประชาชน สร้างพื้นที่สีเขียว ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากขึ้น
8 ธ.ค. 65 – ที่อาคารรัฐสภา นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ร่วมพิธีเปิดการจัดประชุมสมัชชาต้นไม้เพื่อแผ่นดินตามรอยพ่อ ครั้งที่ 2 “การขับเคลื่อนไม้เศรษฐกิจ” และกล่าวปาฐกถาพิเศษ “การขับเคลื่อนไม้เศรษฐกิจ : เจตนารมณ์ทางการเมือง” เพื่อผลักดันการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ขยายเศรษฐกิจเพิ่มพื้นที่ในป่า และในเมืองให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ
นายวราวุธ กล่าวว่า การดำเนินการตามพระราชดำริของ องค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นั้น พระองค์ได้ทรงพระราชทาน ความคิดการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ที่ให้ทุกท่าน ได้กิน ได้ใช้ ได้ขาย และท้ายที่สุด คือสามารถรักษาต้นน้ำ รักษาระบบนิเวศ นอกจากนั้นยังสามารถแปรสภาพออกมาเป็นคาร์บอนเครดิตได้ ในวันนี้โลกของเรากำลังให้ความสำคัญมากขึ้น
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ประโยชน์ของป่าเศรษฐกิจนั้น มันจะเป็นส่วนหนึ่ง ของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เราต้องการมีพื้นที่สีเขียว ให้ได้ถึง 55% แบ่งเป็น ป่าธรรมชาติ 35% ป่าเศรษฐกิจ 15% และพื้นที่สีเขียวในเมืองอีก 5% สำหรับป่าเศรษฐกิจขณะนี้เรามีอยู่ 32-33 ล้านไร่ จากเป้าหมาย 50 ล้านไร่ เท่ากับว่าวันนี้เรายังขาดอีกเกือบ 16 ล้านไร่ โดยตั้งเป้าจะมีให้ครบภายใน 2580 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
“โดยป่าเศรษฐกิจมีศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าป่าสมบูรณ์ หรือว่าป่าธรรมชาติหลายเท่าตัว ยกตัวอย่างเช่น ไม้ยาง หรือว่าไม้ในเขตป่าเศรษฐกิจที่เป็นไม้โตเร็ว ยิ่งโตเร็วเท่าไหร่ ยิ่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากเท่านั้น เหมือนกับเด็กที่กำลังโต เด็กที่กำลังโตก็จะกินข้าวมากกว่าผู้ใหญ่ พอไม้โตเต็มที่แล้ว เขาก็จะกินน้อยลง ผู้ใหญ่ก็จะกินน้อยลง ต้นไม้ก็เช่นกัน พื้นที่ป่าธรรมชาติก็จะมีศักยภาพในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกแต่อัตราการดูดซับนั้นมันจะยังน้อยกว่าป่าเศรษฐกิจ เพราะป่าเศรษฐกิจนั้นเป็นไม้ที่โตเร็วกว่า” นายวราวุธ กล่าวและว่า
อย่างไรก็ตามป่าเศรษฐกิจที่อยู่ในพื้นที่ของเราจะเป็นส่วนหนึ่ง ที่สามารถลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ดินถล่ม และอีกหลาย ๆ สิ่ง หลาย ๆ อย่าง ที่ล้วนแล้วเกิดมาจากมนุษย์ ดังนั้นการที่เราจะส่งเสริม การปลูกป่า ไม่ว่าจะเป็นป่าเศรษฐกิจ หรือพื้นที่สีเขียวใด จะเป็นการบรรเทาความรุนแรงของภัยพิบัติ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ฟื้นฟูระบบนิเวศ ได้ในอนาคต