รู้หรือไม่? ทำไมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต้องเป็นเส้นหยักๆ มีเหตุผลซับซ้อนที่คิดไม่ถึง

Home » รู้หรือไม่? ทำไมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต้องเป็นเส้นหยักๆ มีเหตุผลซับซ้อนที่คิดไม่ถึง
รู้หรือไม่? ทำไมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต้องเป็นเส้นหยักๆ มีเหตุผลซับซ้อนที่คิดไม่ถึง

เฉลยแล้ว ทำไมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต้องเป็นเส้นหยัก เป็นเส้นตรงๆ ไม่ได้เหรอ ความจริงมีเหตุผลซับซ้อนที่คิดไม่ถึง

เมื่อพูดถึง “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” หรือที่คนไทยเรียกกันจนติดปากว่า “มาม่า” นับเป็นอาหารที่ทุกคนต้องรู้จักกันเป็นอย่างดี และอยู่คู่กับคนไทยมาตลอดหลายสิบปี โดยเฉพาะในยามที่ต้องประหยัดอดออมหรือยามหิวด่วนขึ้นมา ก็เป็นทางเลือกที่สะดวกและรวดเร็ว อีกทั้งยังอิ่มท้องในราคาถูก ซึ่งเส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นถูกนำไปเป็นส่วนประกอบในอาหารอีกหลายๆ เมนู จนกลายเป็นจานโปรดของใครหลายคน

เหตุผลที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ต้องเป็นเส้นหยัก? 

เกิดจากกระบวนการผลิต โดยขั้นตอนการผลิต เมื่อได้แป้งที่ผสมน้ำนวดจนเหนียวนุ่มได้ที่ก็จะผ่านเครื่องรีด แล้วก็จะผ่านเข้าหวีตัด ทำให้เป็นเส้นๆ ออกมา ซึ่งจังหวะที่เข้าเครื่องตัดเส้น เส้นที่ถูกลำเลียงมาอย่างเร็วก่อนหน้านี้จะถูกชะลอในสายพานถัดไป ทำให้เส้นที่ไหลตามมาชนและเกิดการบีบอัดเกิดขึ้นจนยับย่น เหมือนที่คนวิ่งๆ ตามกันมา ปรากฏว่าคนแรกวิ่งชนเสา คนอื่นก็เลยชนแล้วก็หยุดตามกันทั้งแถว การผลิตเส้นมาม่าก็เหมือนกัน เมื่อความเร็วถูกเบรกลงก็เลยทำให้เส้นเป็นคลื่นย่นๆ ต่อมาเส้นที่ตัดแล้วจะเข้าสู่สายผ่านตู้นึ่งซึ่งเคลื่อนที่เร็วอีกครั้ง คลื่นย่นๆ ก็จะคลายออกเป็นคลื่นที่ความถี่ห่างขึ้น หลักการเดียวกันกับเวลาเอามาต้มกิน เมื่อโดนความร้อน คลื่นก็จะคลายตัวขึ้นอีก

แต่เหตุผลที่เป็นเส้นหยักยังมีอีกหลายอย่าง อาทิ ประโยชน์ของการเป็นเส้นหยักนั้น ช่วยลดการแตกหักได้ดีกว่าเส้นตรง เพราะลักษณะที่เป็นคลื่น ขึ้นๆ ลงๆ จะรับน้ำหนักได้ดีกว่า นอกจากนี้ยังควบคุมปริมาณให้อยู่ในไซซ์ที่กำหนดได้ เป็นการประหยัดพื้นที่บรรจุใส่ซอง 

ด้วยลักษณะเฉพาะของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นของทอดกรอบ แต่จะเปลี่ยนสภาพเป็นเส้นนุ่มและยาวเหมือนกับเส้นบะหมี่สดเมื่อแช่ในน้ำร้อน 2-3 นาที การพัฒนาผลิตภัณฑ์ลักษณะดังกล่าวในเชิงอุตสาหกรรม ต้องคำนึงถึงขั้นตอนการผลิตเส้น การบรรจุ การขนส่ง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ถึงมือลูกค้าในสภาพที่ดีที่สุด

การผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในลักษณะที่เป็นเส้นตรงยาวๆ ประกอบกับเป็นของกรอบ จึงเป็นไปไม่ได้หากทำเป็นเส้นตรงจริง สายการผลิตจะต้องยาวมาก แต่ละห่อจะยาวกว่า 1 ไม้บรรทัด ทำให้แตกหักง่าย ยากต่อการขนส่ง สิ้นเปลืองบรรจุภัณฑ์ และผู้บริโภคซื้อไม่สะดวก ลวกใส่ชามได้ยาก ต้องหักก่อน จะไม่ได้เส้นบะหมี่ยาวเหมือนบะหมี่สด จึงได้พัฒนาสายการผลิตให้ได้บะหมี่เส้นหยิกเป็นก้อนตามที่เห็น

นอกจากนี้ เส้นหยักของบะหมี่นั้นจะทำให้เส้นสามารถอุ้มน้ำซุปได้ดี อีกทั้งรับประทานง่ายไม่ว่าจะใช้ส้อม หรือตะเกียบ เส้นก็จะไม่ลื่นไหลหรือดีดน้ำซุปกระเด็นเหมือนกินก๋วยเตี๋ยวนั่นเอง

ต้นกำเนิดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

ผู้ที่คิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็คือ “โมโมฟูกุ อันโด” ชายชาวญี่ปุ่นและยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท นิชชิน ที่เป็นหนึ่งในบริษัทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยอดฮิตในปัจจุบันนั่นเอง เริ่มต้นจากปี 2501 ประเทศญี่ปุ่นผ่านการแพ้สงครามโลก ทำให้อาหารและข้าวของต่างๆมีราคาแพง นายอันโดจริงคิดค้นการทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปด้วยตัวเองหลายต่อหลายครั้ง

จนในที่สุดเขาก็ทำสำเร็จ โดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสแรกของโลกก็คือ “ชิกิ้น ราเมน” เป็นการเอาเส้นราเมนที่ผสมกับน้ำซุปกระดูกไก่ นำมาทอดในน้ำมันปาล์มเพื่อขจัดความชื้น ทำให้สามารถเก็บไว้ในระยะยาวได้ และเมื่อต้องการทานก็แค่เติมน้ำร้อนเท่านั้น นับว่าเป็นการประสบความสำเร็จครั้งสำคัญของนายอันโดเลยทีเดียว ปัจจุบันบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรส “ชิกิ้น ราเมน” ก็ยังคงเป็นที่นิยมของผู้คนทั่วไป

โมโมฟูกุ อันโด

หลังจากนั้นก็มีบริษัทผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกิดขึ้นมากมายทั้งใน อเมริกา จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้และ ไทย เป็นต้น โดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้เริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2514-2515 ซึ่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อแรกคือ “ซันวา” ซึ่งนำต้นแบบมาจากประเทศญี่ปุ่นที่ต้องต้มก่อนกิน

หลังจากนั้นก็มียี่ห้อ ยำยำ ไวไว ส่วนมาม่าเป็นแบรนด์ที่ 4 ที่ถือกำเนิดในประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 โดยนำต้นแบบมาจากประเทศไต้หวันที่เพียงแค่เติมน้ำร้อนก็สามารถทานได้ทันที

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ