รู้จัก “สิระ เจนจาคะ” เสี่ยวอลโว่วงการมวย สู่ถนนการเมือง ก่อนติดคุกคดีหมิ่น “เสรีพิศุทธ์” ซึ่งไม่ใช่การหมิ่นครั้งแรก
สิระ เจนจาคะ เกิดวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2507 จบการศึกษาระดับ ปริญญาตรี จากหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (การจัดการ) มหาวิทยาลัยเกริก ก่อนจะเข้าสู่สนามการเมือง เขาเคยเป็นหัวหน้าค่ายมวย “ส.สิระดา” หรือที่แฟนมวยรู้จักเขาในนาม เสี่ยวอลโว่ ที่สำคัญ สิระ ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ “วังจั่นน้อย ส.สิระดา” นักมวยดังค่าตัวเงินแสนที่ได้รับรางวัลยอดมวยไทยของสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทยปี 2536
ด้านชีวิตครอบครัว สมรส 2 ครั้ง ครั้งแรกกับนางสาววิภาวี คุปติมาลาธร มีบุตรด้วยกัน 2 คน และครั้งที่สองกับนางสรัลรัศมิ์ เตชะจิรสิน ไม่มีบุตรด้วยกัน
สิระ เคยเล่าว่า เขาทำมาหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น ขายก๋วยเตี๋ยว เซลล์ขายรถยนต์ รวมถึงช่วงหนึ่งยังเคยเดินแบบ ในช่วงที่เป็นเซลล์ขายรถยนต์ ด้วยความมุ่งมั่นใจตั้งใจ ทำให้สามารถเป็นเจ้าของกิจการรถเบนซ์ วอลโว และ รถยุโรป
เวลาต่อมาชีวิตได้เจอกับช่วงวิกฤติฟองสบู่แตก ชีวิตพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ กินนอนที่ท้องสนามหลวง หรือ บางครั้งก็ตามป้ายรถเมล์ อาบน้ำที่ใต้สะพานปิ่นเกล้า ดำรงชีวิตด้วยการเก็บขวดขาย ใช้ชีวิตแบบนี้ประมาณ 2 เดือน ตัดสินใจเข้าไปขอประนีประนอมกับเจ้าหนี้ ขณะนั้นติดหนี้อยู่ 3 ล้านบาท ไม่นานก็สามารถชดใช้หนี้จนหมดจากการหันมาเปิดสำนักงานกฎหมายที่พัทยา
จากวงการมวย สู่การเมือง
สิระ เคยเป็นผู้จัดการบริษัท บ้านทรงไทยแจ้งวัฒนะ จำกัด เมื่อปี 2557-2562 และเคยเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านสังคมเมื่อปี 2557 อีกด้วย ส่วนเส้นทางการเมือง นายสิระ เจนจาคะ เริ่มเข้าสู่สนามเมื่อปี 2554 ด้วยการลงสมัคร สส.กรุงเทพมหานคร ในนามพรรครักษ์สันติ เขต 11 เขตหลักสี่ ก่อนจะพ่ายให้กับ นายสุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย และในปี 2561 นายสิระ ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ
ต่อมาในปี 2562 ในสนามเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ก็ได้ลงสมัครเป็น สส.กรุงเทพมหานคร อีกครั้ง ในนามพรรคพลังประชารัฐ เขต 9 เขตหลักสี่ กลับมาพลิกชนะ นายสุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย คู่แข่งเก่าได้สำเร็จ
ปี 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ สส.ของ นายสิระ เจนจาคะ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา98 (10) จากกรณีเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดของของศาลแขวงปทุมวัน จากการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตาม มาตรา341 ประมวลกฎหมายอาญา โดยให้ตำแหน่ง สส. ว่างลงนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย คือ 22 ธ.ค.2564
หมิ่นฯ เสรีพิศุทธ์ ไม่ใช่ครั้งแรก
12 ก.ย. 66 ศาลอาญามีคำพิพากษาให้จำคุกนายสิระ เจนจาคะ อดีต สส.พรรคพลังประชารัฐ เป็นเวลา 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ในคดีที่พูดหมิ่นประมาท พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ว่าสร้างท่าเทียบเรือที่บ้านพักรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา
ส่วนการลงโทษนั้น ศาลตัดสินจำคุก 1 ปี แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือ 8 เดือน โดยให้เหตุผลว่านายสิระให้ความร่วมมือเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง
ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นายสิระ ถูกศาลตัดสินจำคุก ในคดีหมิ่นประมาท พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ โดยเมื่อ 26 ก.ค.65 ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง ศาลอ่านคำพิพากษาคดีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ยื่นฟ้องนายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา
กรณีวันที่ 14 พ.ย. 2562 นายสิระ ออกรายการทีวีช่องหนึ่งโดยให้สัมภาษณ์มีประเด็นหนึ่งว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้รับตำแหน่งเป็น ผบ.ตร. เพราะเข้าร่วมปฏิวัติรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เป็นความจริง มีคำพิพากษาว่า นายสิระ มีความผิด ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา พิพากษาให้จำคุก 8 เดือน และปรับ 40,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี
เพิ่งชนะดคี หมอเหรียญทอง โพสต์หมิ่นฯ
นายสิระ เจนจาคะ อดีต สส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหน้า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามมาตรา 328 จากกรณี เมื่อระหว่างวันที่ 22-26 ธ.ค.2564 จำเลยโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กหมิ่นประมาทโจทก์ด้วยถ้อยคำหยาบคาย รวมทั้งหมด 5 ครั้ง ต่างกรรมต่างวาระกัน ทำนองว่า โจทก์ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัคร สส.เพราะเคยต้องคำพิพากษาและถูกตัดสิทธิทางการเมือง 20 ปี และข้อความทำนองว่า บุกรุกโรงพยาบาลสนาม จนต้องเลื่อนการเปิดโรงพยาบาลสนามพลังแผ่นดินออกไป จนทำให้กระทบกับผู้ป่วยโควิด-19 รวมทั้งข้อความอื่นๆ ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เหตุเกิดที่แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม.
ต่อมา 7 ส.ค.66 ศาลอาญาสั่งจำคุก หมอเหรียญทอง 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท โดยให้รอลงอาญา 2 ปี